อัคราฯจัดหนักยื่นฟ้อง 3 คดีกลุ่มป้ายสีผ่านสื่อออนไลน์ (13 พ.ย. 59)

มติชนออนไลน์ 13 พฤศจิกายน 2559
อัคราฯจัดหนักยื่นฟ้อง 3 คดีกลุ่มป้ายสีผ่านสื่อออนไลน์

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตแร่ทองคำชาตรี จ.พิจิตร กล่าวว่า ปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลผู้ประสงค์ร้าย ปล่อยข่าวด้วยข้อมูลเท็จในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดีย (เฟซบุ๊ค) โดยมีเจตนาให้ข้อมูลเท็จ โจมตีการดำเนินงานของเหมืองแร่ทองคำชาตรี และบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดความเกียดชัง บริษัทฯ จึงดำเนินการยื่นเรื่องต่อศาลจังหวัดพิจิตร และศาลอาญากรุงเทพใต้ ในความอาญา จำนวน 3 คดี แก่กลุ่มคนป้ายสีผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย (เฟซบุ๊ค) รวมทั้งผู้โพสต์ และผู้แชร์บางราย โดยคดีแรกยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดพิจิตรตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2559 ในข้อหาหรือฐานความผิดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และการโฆษณาเกินจริงเรื่องมลพิษในข้อหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยกล่าวหาว่าบริษัทฯ เร่งสร้างเขื่อนบ่อไซยาไนด์ โดยไม่มีแกนเขื่อนและอยู่ห่างเขตชุมชนเพียง 400-500 เมตร ซึ่งอาจก่อให้เกิดความอันตรายอย่างมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว บริษัทฯ ไม่มีการสร้างบ่อไซยาไนด์ตามที่ถูกกล่าวหา แต่มีบ่อกักเก็บกากแร่ที่ได้มาตรฐานและมีค่าไซยาไนด์ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ทางภาครัฐกำหนดไว้ ซึ่งทางศาลจังหวัดพิจิตรพิจารณาว่ามีมูลและรับฟ้องในวันที่ 12 ตุลาคม 2559 พร้อมนัดประกันตัวจำเลยในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้

ส่วนของคดีที่ 2 ทางบริษัทฯ ได้ยื่นฟ้องผู้โพสต์และผู้แชร์บางรายในสื่อโซเชียลมีเดีย (เฟซบุ๊ค) แก่ศาลอาญาใต้ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 ในข้อหาหรือฐานความผิดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ หมิ่นประมาท โดยผู้โพสต์มีเจตนากล่าวหาว่าอัคราฯ เอาเปรียบประเทศไทย โดยได้รับสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุน ขุดทองคำส่งขายต่างประเทศ โดยไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียวติดต่อกัน 16 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ทำให้อัคราฯ ต้องดำเนินตามกฎหมายต่อไป และคดีสุดท้าย บริษัทฯ ได้ยื่นฟ้องผู้โพสต์และผู้แชร์บางรายในสื่อโซเชียลมีเดีย (เฟซบุ๊ค) แก่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ในข้อหาหรือฐานความผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยผู้โพสต์นำเอกสารที่อ้างว่าเป็นบทสรุปของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีใจความว่า เหมืองแร่ทองคำชาตรีเป็นสาเหตุของการปนเปื้อนของสารโลหะหนัก ซึ่งยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง ทั้งในเรื่องของผลตรวจสุขภาพเนื่องจากเอกสารที่ผู้กล่าวหานำมาอ้างนั้นเป็นเอกสารที่ไม่เคยมีการเสนอ ไม่เคยมีการพิจารณาและผ่านการรับรองในคณะกรรมการ หรือคณะทำงานชุดใด ในทางตรงกันข้ามข้อมูลรายงานของหน่วยราชการต่างๆ ที่นำมาเสนอนั้น กลับมีความชัดเจนว่าไม่มีการเพิ่มขึ้นของธาตุหรือโลหะต่างๆ ในพื้นที่โดยรอบตลอดช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำ