"อนันตพร" เดินหน้าประมูลปิโตรเลียม ไม่สนเชฟรอนฯวิ่งล็อบบี้ต่อสัญญาเดิม (11 พ.ย. 59)

ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 11 พฤศจิกายน 2559
‘อนันตพร’เดินหน้าประมูลปิโตรเลียม ไม่สนเชฟรอนฯวิ่งล็อบบี้ต่อสัญญาเดิม


 

การเลื่อนพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ที่มีพล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน โดยขยายกรอบระยะเวลาการพิจารณาออกไปอีก 60 วัน จากเดิมที่ครบกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 21 ตุลาคม ที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นที่สร้างความหนักใจให้กับกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ต้องออกโรงไปเจรจานอกรอบกับพล.อ.สกนธ์ เพื่อขอให้คณะกรรมาธิการฯเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2559 นี้ ก่อนที่จะเสนอเรื่องไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณาต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการฯดังกล่าวได้เลื่อนการพิจารณามา 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 60 วันแล้ว


โดยข้อห่วงใยที่พล.อ.อนันตพร ต้องวิ่งล็อบบี้การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะหากล่าช้าจะมีผลไปถึงการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 ได้แก่ แหล่งเอราวัณ ของบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จะหมดอายุในปี 2565 และ แหล่งบงกช ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) จะหมดอายุในปี 2566 จะต้องล่าช้าออกไปด้วย เพราะไม่สามารถจัดทำกฎหมายลำดับรอง เพื่อมากำหนดการจัดทำร่างระเบียบเงื่อนไขการประมูล(ทีโออาร์) ของทั้ง 2 แหล่งให้เสร็จทันภายในเดือนธันวาคมนี้ และจะกระทบไปถึงการเปิดขายซองประมูลในเดือนมีนาคม 2560 และการพิจารณาหาผู้ชนะประมูลภายในเดือนกันยายน 2560 ตามกรอบระยะเวลาเดิมที่วางไว้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่ได้รับสัมปทานรายใหม่สามารถที่จะลงทุนรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยจากทั้ง 2 แหล่งนี้ที่ระดับการผลิต 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันไว้ได้อย่างต่อเนื่อง

 เชฟรอนวิ่งล็อบบี้ต่อสัญญา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางกระทรวงพลังงาน จะพยายามผลักดันให้เกิดการประมูลโดยเร็วตามกรอบที่วางไว้ก็ตาม แต่มีรายการออกมาล่าสุดว่านายกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส เอกอัครราชทูต สหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ได้เข้าพบ ม.ล.ปนัดดา ดิสกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามสถานการณ์ทางการเมือง และได้มีข่าวแว่วออกมาว่า ได้มีการหารือถึงการเรียกคืนภาษีสรรพสามิตน้ำมัน จากบริษัท เชฟรอน(ไทย) จำกัด ด้วย แต่จุดสำคัญอยู่ที่การล็อบบี้ที่จะพยายามให้มีการต่อสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุ เพื่อไม่ต้องเปิดประมูลด้วย หลังจากมีข่าวแว่วมาว่า ภาครัฐพยายามที่จะร่างเงื่อนไขในการเปิดประมูลให้บริษัทของคนไทยคว้าการประมูลครั้งนี้ไป

ทั้งนี้ การเข้าล็อบบี้ของเชฟรอนฯดังกล่าว เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า หากเชฟรอนไม่ได้รับการต่อสัญญาสัมปทาน อาจจะไม่เข้าร่วมประมูลและถอนการลงทุนจากไทยไป เพราะก่อนหน้านี้ทางเชฟรอนเริ่มเจรจากับปตท. ขอปรับลดอัตราการเรียกก๊าซธรรมชาติตามสัญญาลง 25% ของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่จะส่งมอบตามสัญญาให้กับปตท.ในแต่ละวัน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป พร้อมกับปรับลดแผนการลงทุนในช่วงระยะ 5 ปี(2559-2563) ลงมาอยู่ในระดับประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย รวมถึงแหล่งเอราวัณที่ผลิตอยู่ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันด้วย โดยแบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุน 5,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน 4,095 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เงินลงทุนผลิตปิโตรเลียมลดลง
โดยเงินลงทุนดังกล่าวได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี จากปี 2558 เคยมีงบลงทุนอยู่ที่ 2,7250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2559 ปรับลดลงเหลือ 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2560 ลดลงเหลือ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2561 ลดลงเหลือ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2562 ลดลงเหลือ 950 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปี 2563 เหลือ 790 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในแต่ละปีก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยในปี 2558 เคยอยู่ที่ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2559 ลดลงเหลือ 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2560 ลดลงเหลือ 830 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2561 คงที่ 830 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2562 ลดลงเหลือ 825 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปี 2563 ลดลงเหลือ 760 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเงินลงทุนทั้งหมด เป็นเพียงการรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติ ให้ในระดับที่ 1,750 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไปจนถึงปี 2562 และในปี 2563 จะลดลงมาที่ระดับ 1,550 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ปตท.สผ.พร้อมประมูลทุกแปลง
อย่างไรก็ตาม หากทางเชฟรอนถอนการลงทุนจริง ไม่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ ก็ได้รับการยืนยันจากนายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. พร้อมเข้าประมูลทั้ง 7 แปลง ใน 2 แหล่งสัมปทานที่หมดอายุ เพียงแต่ขอให้การจัดทำร่างเงื่อนไขการประมูล(ทีโออาร์) มีความชัดเจนตามแผนภายในสิ้นปีนี้ และเปิดประมูลได้ในเดือนมีนาคม 2560 และพร้อมที่จะคงกำลังผลิตแหล่งบงกชเหนือมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 541 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งบงกชใต้อยู่ที่ 367 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่หากการประมูลล่าช้าออกไปจากที่กำหนด จะกระทบต่อการวางแผนลงทุนของบริษัท ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องกับปริมาณการผลิตที่ลดลง

ลุ้นตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ
ทั้งนี้ หากปตท.สผ.คว้าแหล่งสัมปทานที่หมดอายุได้ทั้งหมด ซึ่งโอกาสมีความเป็นไปได้สูง เพราะมีความพร้อมทั้งทางด้านบุคคลกร เทคโนโลยี ประสบการณ์ และความรู้ด้านโครงสร้างทางธรณีวิทยาของอ่าวไทย และอาจทำให้ปตท.สผ.กลายเป็นบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ขึ้นมากุมแหล่งผลิตปิโตรเลียมจากทั้ง 2 แหล่ง คิดเป็นกำลังการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทย 60-70 % ก็เป็นได้ ซึ่งแนวคิดนี้สอดรับกับที่คณะกรรมาธิการฯ จะมีการแปรญัติติ ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ โดยจะเสนอให้มีการบรรจุการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติเข้าสู่การพิจารณาด้วย

จี้แก้ปัญหาเรียกความเชื่อมั่น
จะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ วันนี้พล.อ.อนันตพร ออกมายื่นยันถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ จะต้องทันภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดไว้ และจะเดินหน้าการเปิดประมูลตามกฎหมายใหม่ที่จะออกมา ซึ่งได้มีการชี้แจ้งกับพล.อ.สกนธ์ ไปแล้วว่า หากมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวล่าช้าออกไป จะทำให้ให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และจะมีผลต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ซึ่งตรงจุดนี้ทั้ง 2 ฝ่ายก็มีความเห็นที่ตรงกัน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ด้วยเงื่อนไขของเวลา และความชัดเจนในการเปิดประมูล จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ประเมินว่า หากไม่มีการลงทุนในแหล่งสัมปทานที่หมดอายุอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ปริมาณก๊าซของประเทศทยอยลดลงเพราะผู้ผลิตจะไม่มีการลงทุนเจาะหลุมผลิตใหม่ๆ ไม่คุ้มทุนกับระยะเวลาที่เหลือ จึงเป็นเหตุให้พล.อ.อนันตพร ถึงกับต้องวิ่งล็อบบี้คณะกรรมาธิการฯ ให้พิจารณาพ.ร.บ.ทั้ง2 ฉบับออกมาให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่วางไว้ แม้ว่าทางเชฟรอนเองอาจไม่ต้องการให้เกิดขึ้นก็ตาม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,208 วันที่ 10 – 12 พฤศจิกายน 2559