ประณาม กฟผ.อ้างชื่อ ม.อ.ใช้เป็นเครื่องมือทำประชาชนหลงผิด คิดว่า ม.อ.ร่วมหนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา (12 พ.ย. 59)

MGR Online 12 พฤศจิกายน 2559
ประณาม กฟผ.อ้างชื่อ ม.อ.ใช้เป็นเครื่องมือทำประชาชนหลงผิด คิดว่า ม.อ.ร่วมหนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา


แฟ้มภาพ

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อุปนายกกิจการภายนอกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ออกประณาม กฟผ.อ้างชื่อ ม.อ.ใช้เป็นเครื่องมือทำให้ประชาชนหลงผิด และคิดว่า ม.อ.ร่วมสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา
       
       วันนี้ (12 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากการจัดงานลงนาม MOU ระหว่าง กฟผ. กับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ม.อ. กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่เทพาบีช รีสอร์ต อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา แม้ว่าคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จะปฏิเสธการเข้าร่วมลงนาม และไม่ได้ไปร่วมลงนามในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีเพียงอาจารย์ 2 คน ที่รับใช้ กฟผ.อยู่เป็นผู้ร่วมในกระบวนการสมยอมให้เกิดภาพ และข่าวร่วมกับ กฟผ. ดังที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับพาดหัวในทำนองที่ว่า “กฟผ.จับมือ ม.อ.เดินหน้าทำฐานข้อมูลสังคมเศรษฐกิจ และสุขภาพของชาวเทพา” ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสังคมโดยรวม ว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา


แฟ้มภาพ

      น.ส.รอกีเย๊าะ ยูโซะ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการของโรงพยาบาลเทพา และในฐานะศิษย์เก่าสาธิต ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า ตนเองมีความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อผลกระทบในชุมชน และสุขภาพจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ตามข่าวกรณีการเซ็น MOU หรือชื่ออื่น กรณีจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ตามที่ทีม กฟผ. และสื่อมวลชนนำเสนอนั้น แตกต่างจากข้อเท็จจริงคือ กฟผ.บอกชาวบ้านว่า ม.อ.ร่วมมือกับ กฟผ. ทั้งๆ ที่ความจริงคือ อาจารย์ศราวุธ เจะโส๊ะ เพียงคนเดียว แต่กลับทำให้ภาพที่ออกไปต่อสาธารณะ คือ ม.อ.ทั้งหมด เป็นการสร้างภาพหลอกลวงชาวบ้านอย่างบิดเบือน ทำให้ความเป็น ม.อ.เสียหายมาก
       
       และที่สำคัญได้ทำให้ชาวบ้านใน อ.เทพา ซึ่งไม่ได้ตามข่าวโดยละเอียดเกิดความเข้าใจผิดจริงๆ คิดว่า ม.อ. ถูก กฟผ.ซื้อไปแล้ว และรู้สึกเสียใจที่จากเดิม ม.อ.เคยอยู่เคียงข้างประชาชนชาวเทพา สู้กับทุนจากถ่านหิน แต่บัดนี้แม้แต่ ม.อ.ก็ยังเปลี่ยนไป ในฐานะศิษย์เก่าสาธิต ม.อ.ปัตตานี รู้สึกไม่สบายใจต่อข่าวที่มีความบิดเบือนใช้ ม.อ.เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้โรงไฟฟ้าถ่านหิน


แฟ้มภาพ

       ด้าน นายคอลดูล ปาลาเร่ อุปนายกกิจการภายนอกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ทางองค์การบริหารองค์การนักศึกษา ซึ่งทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านอย่างใกล้ชิดนั้น รับรู้ถึงข้อกังวลใจของประชาชนชาวเทพา และประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัด ที่มีข่าวการลงนาม MOU ร่วมระหว่าง กฟผ. กับ ม.อ. ซึ่งการลงนามดังกล่าวเป็นการลงนามในส่วนบุคคลของ ผศ.ดร.ศราวุธ เจ๊ะโส๊ะ
       
       แต่ทาง กฟผ. กลับใช้พาดหัวข่าวว่า เป็นการลงนามของสถาบัน การกระทำดังกล่าวของ กฟผ. ถือเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ สำหรับนัยที่ต้องการใช้ชื่อสถาบัน ม.อ. มาเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ กฟผ. โดยไม่คำนึงถึงภาพลักษณ์ที่จะส่งผลต่อชื่อเสียงของสถาบัน ม.อ. ให้ไปในทิศทางลบ
       
       นายคอลดูล กล่าวอีกว่า ทางองค์การบริหารองค์การนักศึกษา ขอประณามการกระทำของ กฟผ. ที่อ้างชื่อสถาบัน ม.อ. ใช้เป็นเครื่องมือในการหลอกประชาชนให้หลงเข้าใจผิด คิดว่า ม.อ. ร่วมสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ออกมาชี้แจงกรณีการฉวยโอกาสของ กฟผ. ที่ใช้ชื่อมหาวิทยาลัย ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และทำให้ประชาชนหมดศรัทธาในจุดยืนของมหาวิทยาลัย ที่มีต่อประเด็นปัญหาของสังคม


แฟ้มภาพ

       อย่างไรก็ตาม ทราบว่า ทางองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะทำการเคลื่อนไหว และจัดเวทีเสวนาเพื่อปกป้องเกียรติภูมิของ “สงขลานครินทร์” จากการที่ถูก กฟผ. ใช้ ม.อ. เป็นเครื่องมือบิดเบือน นำชื่อมหาวิทยาลัยไปเป็นผงซักฟอก ฟอกขาว กฟผ. และฟอกขาวถ่านหินเทพา ทางองค์การนักศึกษายืนยันจะเคลื่อนไหวเพื่อยุติการศึกษาวิจัยที่ชุมชนเทพา ไม่ยอมรับในครั้งนี้ให้ได้ และจะคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ร่วมกับชาวบ้านเทพา สงขลา ปัตตานี อย่างเข้มข้น
       
       ขณะที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า ในกรณีดังกล่าวมีความหมิ่นเหม่ต่อเรื่องจริยธรรมของนักวิจัยอย่างยิ่ง โดยหลักสากลของการทำวิจัย นักวิจัยต้องเขียนเอกสารระบุเหตุผลความจำเป็น วิธีการศึกษาวิจัย เพื่อขออนุญาตต่อคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยของมหาวิทยาลัย Ethic committee ก่อนการวิจัย เพื่อที่คณะกรรมการจะได้ตรวจสอบความถูกต้อง แม่นยำของวิธีการศึกษา และดูว่าการวิจัยดังกล่าวมีปัญหาในการละเมิดสิทธิบุคคล หรือชุมชนหรือไม่
       
       จากนั้นเมื่อได้รับการอนุญาตแล้วจึงจะสามารถเริ่มการศึกษาวิจัยได้ ซึ่งเชื่อว่ากรณีนี้ยังไม่ได้ส่งให้คณะกรรมการจริยธรรมด้านการวิจัยตรวจสอบแต่อย่างใด จึงถือว่าเป็นวิจัยเถื่อน และผิดหลักจริยธรรมของความเป็นอาจารย์ ทั้งนี้ หวังว่าทางมหาวิทยาลัย จะเข้าไปตรวจสอบด้านจริยธรรมการวิจัยอย่างเข้มข้นด้วย