"อุตฯเคมี" จี้รัฐแก้ปมกม.ซ้ำซ้อน-เอื้อรายใหญ่ (13 พ.ย. 59)
ประชาชาติธุรกิจ 13 พฤศจิกายน 2559
อุตฯเคมีจี้รัฐแก้ปมกม.ซ้ำซ้อน-เอื้อรายใหญ่
กลุ่มอุตสาหกรรมเคมีจี้รัฐทำ "คลัสเตอร์" ระหว่างกระทรวง แก้ปมปัญหากฎหมาย ซ้ำซ้อน-ขัดแย้งกันเองเพียบ แถมเปิดช่องเอื้อเฉพาะรายใหญ่
นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีซึ่น เพ้นท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การดำเนินนโยบายหลักในฐานะประธานกลุ่มคนใหม่จะเน้นด้านความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการออกกฎระเบียบในการจัดการเรื่องเคมีอย่างปลอดภัย เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินธุรกิจของกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีส่วนใหญ่ประสบปัญหา 3 ประการหลัก ได้แก่ 1.เรื่องความซ้ำซ้อนของกฎหมาย เช่น รายชื่อเคมีอันตรายที่ต้องควบคุม แต่ละกระทรวงที่มีบทบาทในการควบคุมต่างถือกฎหมายกันคนละฉบับ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงอยากเสนอให้แต่ละหน่วยงานของภาครัฐ ก่อนจะออกกฎหมายควรไปหารือกันเองก่อน คลัสเตอร์เราต้องการให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมทั้งหมด มาทำคลัสเตอร์ด้วย
2.กฎหมายขัดแย้งกัน เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรมบอกหลอดไฟความเข้มของแสงเท่านี้ แต่กระทรวงแรงงานกำหนดอีกความเข้มหนึ่ง ไม่เท่ากัน ซึ่งในทางปฏิบัติความเข้มแสงของกระทรวงแรงงานเข้มมาก จนพนักงานในโรงงานไม่สามารถปฏิบัติงานได้ เป็นต้น และ 3.กฎหมายที่เอื้อให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น เรียกว่า One Size Fits All เช่น การบริหารจัดการของเสีย บริษัทขนาดใหญ่ไม่มีปัญหา เพราะบริษัทที่ให้บริการมีแต่รถขนาดใหญ่ แต่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่มีของเสียต่อเดือนน้อย ต้องมีที่เก็บน้ำเสียไว้ 4-5 เดือน ค่อยเรียกรถมารับครั้งหนึ่ง สมมุติมีน้ำเสีย 200 ลิตร ราคาค่ารถ 30,000 บาท จึงเห็นได้ว่ากฎหมายไม่เอื้อให้กับรายเล็ก เพราะฉะนั้น ต้องเห็นใจ SMEs ด้วย ถ้าทำตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ต้นทุนการค้าขายลำบาก
"เรื่องเคมีเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทุกกระทรวงในประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ แต่รวมถึงกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทยด้วย ดังนั้นอยากให้ทุกกระทรวงทำงานอย่างบูรณาการร่วมกันจะได้ลดความซ้ำซ้อน และกฎหมายที่ขัดแย้งกันเอง รวมถึงการออกกฎหมายไม่ควรจะให้มี 2 มาตรฐานด้วย คือคุมแต่ภาคเอกชน แต่หน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีกลับได้รับการยกเว้น โดยบอกว่าข้าราชการไม่เกี่ยว ต้นทุนผู้ประกอบการกับต้นทุนชีวิตไม่เกี่ยวกัน"
นอกจากนี้มีนโยบายจะผลักดันให้สมาชิกบริหารจัดการของเสียภายในโรงงานกันเอง เพื่อช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น 1.การควบคุมลดวัตถุดิบตั้งแต่ต้นทาง เพื่อไม่ให้เกิดของเสียออกมามาก 2.วางแผนบริหารจัดการของเสีย เช่น การล้างเครื่องมือในโรงงานสี น้ำต้องวางแผนล้างสีอ่อน ๆ ก่อนอย่างสีเหลือง แล้วจึงไปล้างสีน้ำเงิน สีแดง สีดำ ส่วนน้ำต้องรอตกตะกอนนำส่วนใสไปใช้ได้อีก 3.ลดของเสียจากกระบวนการผลิต มีการรั่วไหลตรงไหนอย่างไร มีอะไรเกิดความสูญเสียระหว่างทาง เช่น แต่ก่อนปั่นสีเปิดถัง ตอนนี้ปิดไม่ให้สารเคมีระเหย ลดมลพิษด้วย
อนึ่ง กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี ส.อ.ท.ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 150 ราย แบ่งธุรกิจของสมาชิกออกได้ 5 ประเภท ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน 2.อุตสาหกรรมเคมีกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี 3.อุตสาหกรรมสี และผลิตภัณฑ์ร่วม 4.อุตสาหกรรมเคมีที่ใช้ในการซักล้าง เช่น ผงซักฟอก และสบู่ 5.เคมีอื่น ๆ ส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้แยกไปจัดตั้งกลุ่มใหม่แล้ว