'ลอยกระทง' วันเดียวสร้างขยะเฉียด 1 ล้านชิ้น ทส.หวั่นกระทบสัตว์น้ำ – วอนใช้วัสดุเป็นมิตร สวล. (10 พ.ย. 59)
Green News TV 10 พฤศจิกายน 2559
‘ลอยกระทง’ วันเดียวสร้างขยะเฉียด 1 ล้านชิ้น ทส.หวั่นกระทบสัตว์น้ำ – วอนใช้วัสดุเป็นมิตร สวล.
อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดข้อมูลขยะวันลอยกระทบ ผงะ! วันเดียวเกือบ 1 ล้านชิ้น แนะประชาชนลอยร่วมกันใบเดียว ใช้วัสดุธรรมชาติ-ลดขนาด-เลือกให้เหมาะกับแหล่งน้ำ
…
นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า ในปี 2557 มีกระทงทั้งสิ้น 982,064 ใบ และลดลงเหลือ 825,614 ใบ ในปี 2558
นอกจากนี้ ยังพบว่าตั้งแต่ปี 2551-2558 ประชาชนนิยมใช้กระทงที่ผลิตจากใบตอง ซึ่งสามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ โดยในปี 2557 มีสัดส่วนถึง 90% และเพิ่มขึ้นเป็น 91.4% ในปี 2558
“จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าในเทศกาลลอยกระทงแต่ละปี เราสร้างขยะให้กับแหล่งน้ำพร้อมกันทีเดียวถึงเกือบ 1 ล้านชิ้น ซึ่งถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างปัญหาให้กับแหล่งน้ำทั่วประเทศ และแม้ว่าประชาชนจะหันมาใช้กระทงใบตองหรือวัสดุธรรมชาติ แต่หากไม่เหมาะสมกับแหล่งน้ำก็อาจเป็นการสร้างผลกระทบต่อแหล่งน้ำและสัตว์น้ำได้เช่นกัน” นายสากล กล่าว
นายสากล กล่าวว่า ในวันลอยกระทงปี 2559 ซึ่งตรงกับวันที่ 14 พ.ย.นี้ ขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันดูแลรักษาแม่น้ำลำคลองด้วยการลดการก่อขยะ และเห็นความสำคัญของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่าด้วยการใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติย่อยสลายง่าย ลดขนาดกระทงให้พอเหมาะ และใช้กระทงร่วมกันเป็นกลุ่ม
สำหรับหลักเกณฑ์การเลือกกระทงอย่างง่าย คือวัสดุที่นำมาทำกระทงต้องสร้างมลพิษให้แหล่งน้ำน้อยที่สุด และเลือกใช้กระทงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น หากลอยในแหล่งน้ำที่มีปลาหรือสัตว์น้ำอาศัยอยู่ควรเลือกกระทงขนมปัง แต่ไม่ควรใส่สีหรือตกแต่งด้วยวัสดุอื่นเพราะอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ หรือหากลอยในแหล่งน้ำระบบปิด เช่น สระ บ่อ บึง หนองน้ำ การใช้กระทงขนมปังอาจก่อปัญหา จึงควรเลี่ยงมาใช้กระทงใบตองหรือวัสดุอื่นแทน
นอกจากนี้ ยังควรลดปริมาณ ขนาด จำนวนชั้น และการตกแต่งกระทงให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ ใช้กระทงร่วมกันเมื่อลอยแบบเป็นกลุ่มหรือเป็นคู่ ใช้วัสดุตามธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย และสุดท้ายการใช้วัสดุแบบเดียวกันในแต่ละพื้นที่ เพื่อความสะดวกในการจัดการปลายทาง
“ถ้าเป็นกระทงแบบเดียวกันการจัดการจะง่ายและทำได้ทีเดียวทั้งหมด ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการคัดแยกวัสดุธรรมชาติออกจากกระทง เช่น ใบตอง กาบกล้วย ดอกไม้ เหล่านี้สามารถนำมาหมักเป็นปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งในกรณีของ กทม.ที่มีโรงงานหมักขยะมูลฝอยในบางพื้นที่ ก็อาจรณรงค์ให้ประชาชนบริเวณนั้นใช้กระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติแบบเดียว เพื่อให้จัดเก็บและนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ง่าย” นายสากล กล่าว