WWF ชี้เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง (10 พ.ย. 59)

ประชาไท 10 พฤศจิกายน 2559
WWF ชี้เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง

10 พ.ย. 2559 รายงานล่าสุดโดยกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) พบว่า การพัฒนาที่ขาดความสอดคล้องและขาดความยั่งยืนในอนุภาคลุ่มน้ำโขงกำลังทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำโขง พร้อมเสนอว่า เพื่อยับยั้งหายนะที่จะเกิดขึ้น รัฐบาล ผู้ประกอบการ และชุมชนต่างๆ ในภูมิภาคจึงต้องผนึกกำลังกันเพื่อปรับปรุงกระบวนการจัดการแม่น้ำให้ดีขึ้นตามแนวทางที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

รายงาน แม่น้ำโขงในเชิงเศรษฐกิจ โดย WWF (WWF’s Mekong River in the Economy report) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสำรวจบทบาทของแม่น้ำโขงต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะประเด็นด้านโอกาสและความเสี่ยงของแต่ละประเทศ เพราะแม่น้ำโขงถือเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญอย่างมากในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรกรรม ด้านการประมง ด้านอุตสาหกรรม ตลอดจนการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งต่างก็ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจากแม่น้ำโขงเป็นหลัก เฉพาะการทำประมงในแม่น้ำโขงก็มีมูลค่าสูงถึง 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกรูปแบบในอนุภาคลุ่มน้ำโขงล้วนแต่มีความเชื่อมโยงกับแม่น้ำไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ส่งผลด้านลบต่อความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงย่อมส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของภูมิภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Stuart Orr หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ประจำ WWF กล่าวว่า “น้ำเป็นต้นทุนทางการผลิตแบบหนึ่งที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ เพราะทรัพยากรน้ำช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบเกษตรกรรม การผลิตกระแสไฟฟ้า อุตสาหกรรมการผลิต ระบบนิเวศ ความมั่นคงทางอาหาร และความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์”

ในประเทศไทย การชลประทานเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำเป็นอย่างมากที่ต้องพึ่งพาน้ำจากแม่น้ำ แต่จากการก่อสร้างเขื่อนในหลายพื้นที่ส่งผลให้น้ำที่ไหลลงสู่ปลายแม่น้ำมีปริมาณลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มและอาหารก็จำเป็นต้องพึ่งทรัพยากรน้ำจากแม่น้ำโขงในกระบวนการผลิต นอกจากนี้จากปริมาณความต้องการกรวดทรายจากแม่น้ำเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ส่งผลกระทบต่อเส้นทางไหลของตะกอนในแม่น้ำ ประกอบกับการสร้างเขื่อนพลังน้ำในประเทศลาว  เพื่อตอบสนองต่อความต้องการกระแสไฟฟ้าของประเทศไทย ก็มีส่วนทำให้ปริมาณตะกอนที่ไหลลงสู่ปลายน้ำลดลง ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลร้ายแรงต่อระบบนิเวศของประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม ในที่สุด

“ประเทศไทยต้องการแม่น้ำโขงที่อุดมสมบูรณ์ มีระบบจัดการที่ดีและยั่งยืน เพื่อเป็นหลักประกันที่มั่นคงต่อการเติบโตด้านเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ หากจะเปรียบแม่น้ำโขงเป็นเสมือนเครื่องจักร ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ก็เท่ากับเราก็กำลังใช้งานเครื่องจักรนี้มากเกินกำลัง เราจึงจำเป็นต้องผนึกกำลังกันทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค เพื่อแสวงหาทางออกที่ยั่งยืนแก่แม่น้ำโขงร่วมกัน สายน้ำที่สร้างคุณประโยชน์นับอนันต์แก่ประเทศของเรา” เยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการ WWF – ประเทศไทยกล่าว

ทั้งนี้ ทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเฉลี่ยร้อยละ 5 - 8 ทว่าขณะนี้แม่น้ำโขงกำลังเผชิญกับการก่อสร้างและการเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็ว คาดว่าภายในปี 2593 ร้อยละ 50 ของอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงจะเปลี่ยนจากชนบทกลายเป็นเมือง

โครงการพัฒนาในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในประเทศกัมพูชา ประเทศลาว ประเทศไทย และประเทศเวียดนาม อาทิ เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ การทำเหมืองทรายในร่องน้ำ และการชลประทาน ล้วนแต่มุ่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อสร้างผลประโยชน์ด้านธุรกิจ แต่หากปราศจากการพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศโดยรอบแม่น้ำ อาจกลายเป็นการบ่อนทำลายรากฐานทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเนื่องไปในอีกหลายทศวรรษ

“รัฐบาล บริษัท และชุมชนต่างๆ ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจะต้องร่วมมือกันแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อรับมือกับความท้าทายในการบริหารจัดการน้ำ ความท้าทายเหล่านี้ อาจดูว่าเป็นสิ่งที่รับมือได้ยาก หากแต่มิใช่ปัญหาที่หาทางแก้ไขไม่ได้ ผู้มีอำนาจตัดสินใจในระดับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงสามารถเรียนรู้จากตัวอย่างที่เห็นผลได้จริงจากทั่วโลก รวมไปถึงแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันทางการเงินต่างๆ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยังประโยชน์แก่ทุกๆ คน” Stuart Orr กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ตามรายงานฉบับดังกล่าว ชี้ว่าการพัฒนาด้านเศรษฐกิจกำลังใช้ทรัพยากรในแม่น้ำโขงมากเกินกำลัง โดยแบ่งย่อยออกเป็นประเด็น ดังนี้

•         การทำเหมืองทรายเพื่อสนองต่อการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมก่อสร้าง กำลังเปลี่ยนเส้นทางไหลของตะกอนในแม่น้ำ เปลี่ยนแปลงรูปแบบของท้องน้ำ เกิดการกัดเซาะริมฝั่งแม่น้ำในวงกว้าง เป็นภัยคุกคามต่อชุมชนและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตามแนวชายฝั่งแม่น้ำที่พังทลายลง ส่งผลให้พื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำทรุดและแนวชายฝั่งทะเลพังทลาย ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ ทำให้กระบวนการสะสมเกลือในดินและการเข้าถึงน้ำสะอาดเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

•         การสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนเส้นทางการไหลของตะกอนในน้ำและคุกคามต่อการอพยพย้ายถิ่นของปลาชนิดต่างๆ ซึ่งเส้นทางการไหลของตะกอนน้ำและการอพยพย้ายถิ่นของปลาเป็นประเด็นสำคัญ เพราะพื้นที่แม่น้ำโขงถือเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก เป็นแหล่งโปรตีนที่หล่อเลี้ยงประชากรนับล้านๆ คน ช่วยสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ให้แก่ประเทศกัมพูชาราวร้อยละ 12 และประเทศลาวถึงร้อยละ 7

•         จากปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดเพื่อใช้ในการเกษตรและปัญหาน้ำเค็มไหลเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในหลายประเทศลดลง และหากอาหารมีราคาสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่ออัตราค่าครองชีพและค่าจ้างแรงงาน

“เมื่อยี่สิบปีก่อน แม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในระบบแม่น้ำเขตร้อนที่มีความอุดมสมบูรณ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” Marc Goichot หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ลุ่มแม่น้ำโขง ประจำ WWF กล่าวและว่า “ปัจจุบัน คุณภาพของน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อปีที่แล้ว พื้นที่โดยรอบต้องเผชิญกับภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติการณ์ รวมถึงเกิดน้ำท่วมขึ้นบ่อยครั้ง ปริมาณปลาที่จับได้มีจำนวนลดลง ตลิ่งน้ำและท้องน้ำทั้งหมดถูกกัดเซาะ ในขณะเดียวกัน ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกำลังลดขนาดและทรุดตัวลง เหตุทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ล้วนแต่มีส่วนผลักดันให้สัตว์น้ำจืด เช่น โลมาแม่น้ำเข้าใกล้สภาวะสูญพันธุ์เข้าไปทุกที อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคอย่างร้ายแรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ”

ดังนั้น เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินอยู่ต่อไปได้ ภาคเอกชนจึงจำเป็นต้องผนึกกำลังกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่วางแผนนโยบายด้านเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ในการจัดการทรัพยากรแม่น้ำให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนและครอบคลุมพื้นที่พรมแดนระหว่างประเทศด้วย ทั้งนี้ คณะผู้จัดทำรายงานระบุว่า ปัจจุบัน มีรายงานการประเมินทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์และปรับใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจด้านเศรษฐศาสตร์และการลงทุนด้านการเงิน ที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทว่า รายงานเหล่านี้กลับไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยรายงาน แม่น้ำโขงในเชิงเศรษฐกิจ ฉบับนี้ได้เชื่อมโยงจุดต่างๆ ระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐบาล และนำเสนอวิสัยทัศน์ที่ครบถ้วนมากขึ้นเกี่ยวกับแม่น้ำโขง ทั้งความเสี่ยง และโอกาส ที่แม่น้ำสายนี้กำลังเผชิญอยู่

นอกจากนี้ ยังนำเสนอขั้นตอนและนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ในการปรับปรุงการบริหารจัดการแม่น้ำและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ อย่างนโยบายด้านภาษี การอุดหนุนทางการเงิน การออกใบอนุญาตทางการค้าหรือให้การชดเชยเมื่อปฏิบัติตามนโยบาย เป็นต้น ภาคธุรกิจยังสามารถให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำได้ โดยผ่านโครงการความร่วมมือเพื่อพิทักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ (Corporate Water Stewardship) ในขณะเดียวกันหน่วยงานด้านการพัฒนา ผู้บริจาค และนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนโดยตรง ก็สามารถทำหน้าที่สนับสนุนนโยบายต่างๆ ที่ผลักดันให้เกิดการวางแผนด้านเศรษฐกิจแบบบูรณาการอย่างเป็นระบบ และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมอีกด้วย

“บ่อยครั้งที่ผู้วางนโยบายพัฒนาด้านเศรษฐกิจและผู้วางนโยบายด้านการจัดการทรัพยากรน้ำทำงานโดยแยกส่วนกันอย่างสิ้นเชิง โดยขาดความตระหนักถึงความสำคัญของแม่น้ำโขงในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะผลกระทบต่อเนื่องไปสู่ระบบนิเวศของแม่น้ำและภาคเศรษฐกิจอื่นๆ” Marc Goichot ยังกล่าวเสริมว่า “หากพิจารณาโดยแยกเป็นส่วนๆ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะไม่สามารถประเมินความเสี่ยงทั้งหมดอันเกิดจากการจัดการแม่น้ำโขงอย่างไม่ได้มาตรฐานที่จะส่งผลต่อแผนงานของตน และอาจมองไม่เห็นโอกาสในการเอาชนะอุปสรรคได้ เราจำเป็นต้องเข้าใจถึงคุณประโยชน์ทั้งหมดที่ได้รับจากแม่น้ำโขง เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนมีโอกาสและสิทธิในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเท่าเทียมกัน เราจึงจะสามารถร่วมมือกันอนุรักษ์ระบบนิเวศอันเป็นรากฐานสำคัญแก่ระบบเศรษฐกิจ และทำให้มั่นใจอีกได้ว่าทุกคนจะมีอนาคตที่อุดมสมบูรณ์”