ร่าง กม. เขต ศก.พิเศษภาคตะวันออก รวมคำสั่ง คสช.ไว้ใน กม.-ลดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (11 พ.ย. 59)
ประชาไท 11 พฤศจิกายน 2559
ร่าง กม.เขต ศก.พิเศษภาคตะวันออก รวมคำสั่ง คสช.ไว้ใน กม.-ลดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม
สมนึก จงมีวศิน
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
นักวิชาการจากเครือ ข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออกกังวลร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สร้างปัญหาในพื้นที่ เร่งรัดการเติบโต ทั้งที่นิคมอุตสาหกรรมก็ขยายตัวอยู่แล้ว ละเลยมิติอื่นๆ ลดธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ระบุเป็นกฎหมายที่รวมเอา ม.44 ไว้ในฉบับเดียว ให้อำนาจคณะกรรมการไม่ต้องทำอีเอชไอเอ ยกเลิกผังเมืองได้
นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งรัดเดินหน้าอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ เห็นได้จากหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (คบพ.) ไปเมื่อวันที่ 20 เมษายาน เพื่อรับทราบรายงานของคณะทำงานการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่มีกานต์ ตระกูลฮุน อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่เครือซีเมนต์ไทย เป็นประธาน เพียง 6 เดือนต่อมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือที่สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจให้ชื่อว่า ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี (Eastern Economic Corridor: EEC) กินพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นในพื้นที่คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, เคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม, อุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์อุตสาหกรรมการบิน, อุตสาหกรรมโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิตอล, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร, อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอื่นๆ
ทั้งที่ก่อนหน้านั้น รัฐบาลได้ผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษออกมา แต่กลับเงียบหายไป ซึ่งแตกต่างกับความกระตืนรือร้นที่มีให้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกอย่างมาก สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก กล่าวกับประชาไทว่า เป็นเพราะเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 จังหวัดใน 2 เฟสแรกไม่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนต่างชาติเท่าที่ควร เนื่องจากลงทุนเห็นว่าพื้นที่เหล่านั้นมีความเสี่ยงหลายประการ เช่น ทรัพยากรน้ำ เส้นทางคมนาคม ความมั่นคงบริเวณชายแดน เป็นต้น จึงทำให้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องหันมารีบรุดกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเพื่อเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
“รัฐบาลต้องการนักลงทุนเข้ามาเพื่อกระตุ้นจีดีพี อยากได้อุตสาหกรรมใหม่ เขาอ้างคำว่าประเทศไทย 4.0 หรืออุตสาหกรรม 4.0 เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะ หุ่นยนต์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วย อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ที่เขามองว่าเป็นนิวเอสเคิร์ฟที่จะกระตุ้นให้เกิดการเติบโตขึ้นไปอีก แต่ด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษาของไทยสามารถรองรับได้หรือยัง ผมคิดว่ารัฐบาลรู้เรื่องนี้ จึงระบุในร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกว่า อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่จะมาลงทุนอุตสาหกรรมพวกนี้สามารถนำผู้ประกอบการ นักบริหาร ผู้ชำนาญการของเขาเข้ามาได้”
สมนึกอธิบายสภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมในพื้นที่อีสเทิร์น ซีบอร์ดว่า โดยสภาพแล้ว แม้ไม่มีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ขยายออกไปตามธรรมชาติอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม ยกตัวอย่างนิคมอมตะนครปี 2533 มีพื้นที่แค่ 500 ไร่ ถึงปี 2555 พื้นที่ขยายออกไปถึง 22,383 ไร่ และบรรดานิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมนี้ก็สร้างผลกระทบและเกิดการแย่งชิงทรัพยากรกันอยู่พอสมควรแล้ว การอัดฉีดการขยายตัวด้วยกฎหมายพิเศษอาจสร้างปัญหาติดตามมา ซึ่งเป็นสิ่งที่สมนึกกังวล
สมนึก กล่าวว่า ร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเหมือนการนำคำสั่งตามมาตรา 44 มารวมกันไว้ในฉบับเดียว เขายกตัวอย่างมาตรา 24 ในร่างกฎหมาย ที่ระบุให้ตัวสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์หรือเอสอีเอ (Strategic Environment Assessment: SEA) และเมื่อจัดทำเอสอีเอเรียบร้อยแล้ว การก่อสร้างหรือดำเนินกิจการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่จะตามมาก็ไม่ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (Environmental Impact Assessment: EIA) อีก เพียงแค่ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือไออีอี (Initial Environment Examination: IEE) เท่านั้น
“แต่สิ่งที่น่ากลัวในร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกคือ พอทำเอสอีเอเสร็จ เสนอผ่าน สมมติว่าพื้นที่หมื่นไร่ในแหลมฉบังทำเอสอีเอผ่านแล้ว ในพื้นที่หมื่นไร่นี้โรงงานมาตั้งได้เลย ไม่ต้องทำอีเอชไอเอแล้ว แค่ทำไออีอีหรือการศึกษาผลกระทบเบื้องต้น ซึ่งจะไม่มีโมเดลทางคณิตศาสตร์ ไม่มีอะไรเลย...พูดง่ายๆ คือ ร่าง พ.ร.บ.นี้ยกเลิกการทำอีเอชไอเอ ซึ่งเป็นการลดระดับธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมอย่างน่ากลัวมาก”
“ในร่างกฎหมายเขียนว่าจะมีการศึกษาเอสอีเอหรือการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ซึ่งการประเมินนี้ยังไม่มีในกฎหมายของประเทศไทย ดังนั้น จะต้องมีกฎหมายมารองรับ ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมตัวใหม่ที่กำลังเข้า สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เร็วๆ นี้ ซึ่งจะมีพูดเรื่องเอสอีเอ และจะมีฉบับของภาคประชาชนประกบด้วย
“ฉบับของภาคประชาชนเห็นว่าการทำอีไอเอแบบที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นการจ้างเพื่อให้ทำให้ผ่าน ดังนั้น จะต้องมีหน่วยงานกลางขึ้นมาเป็นสำนักงานในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือจะทำเรื่องเอสอีเอด้วยก็ได้ สมมติเจ้าของโครงการอยากจะทำการประเมินผลกระทบต้องเอาเงินมาเข้าที่นี่ แล้วสำนักงานจะจัดหาคนทำให้ หรืออีกวิธีคือสำนักงานจัดหาคนทำ แต่หน่วยงานกลางจะเป็นผู้คัดกรองให้
“แต่สิ่งที่น่ากลัวในร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกคือ พอทำเอสอีเอเสร็จ เสนอผ่าน สมมติว่าพื้นที่หมื่นไร่ในแหลมฉบังทำเอสอีเอผ่านแล้ว ในพื้นที่หมื่นไร่นี้โรงงานมาตั้งได้เลย ไม่ต้องทำอีเอชไอเอ (การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) แล้ว แค่ทำไออีอีหรือการศึกษาผลกระทบเบื้องต้น ซึ่งจะไม่มีโมเดลทางคณิตศาสตร์ ไม่มีอะไรเลย มีแค่ว่าต้องมีมาตรการลดผลกระทบอะไรบ้าง มีไออีอีเพื่อขออนุญาตตั้งโรงงาน พูดง่ายๆ คือ ร่าง พ.ร.บ.นี้ยกเลิกการทำอีเอชไอเอ ซึ่งเป็นการลดระดับธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมอย่างน่ากลัวมาก”
จุดหนึ่งที่สมนึกแสดงความเป็นห่วงคือ การทำเอสอีเอต้องทำทั้งภาคตะวันออก ไม่ใช่แค่ 3 จังหวัดที่ระบุในร่างกฎหมาย นั่นก็เพราะว่าฐานทรัพยากรต่างๆ เชื่อมโยงกัน เขาตั้งคำถามว่า น้ำที่ใช้ในพื้นที่ปัจจุบันนี้มาจากไหน มันไม่ได้มาจากระยองเพียงแห่งดียว แต่ยังมาจากจันทบุรีด้วย
นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังระบุอีกว่า สามารถเพิ่มพื้นที่ได้ตามแต่พระราชกฤษฎีกาที่จะประกาศเพิ่มโดยรัฐบาลในอนาคต หากเกิดสถานการณ์ที่ว่าขึ้นจะมีการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติมหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่รอคำตอบ
ไม่ใช่แค่การทำอีไอเอที่ได้รับการยกเว้น ร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกยังให้อำนาจที่จะยกเลิกผังเมือง โดยในมาตรา 31 วรรค 2 ของร่างกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ‘ในกรณีที่มีการกำหนดผังเมืองตามกฎหมายว่าด้วยผังเมืองอยู่ก่อนวันที่ประกาศจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษใช้บังคับ และผังเมืองนั้นครอบคลุมพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ให้ผังเมืองดังกล่าวสิ้นสุดผลบังคับสำหรับพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ’ สมนึกกล่าวว่า
“พอประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 6.3 แสนไร่แล้ว ผังเมืองทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะถูกยกเลิกและทำการแก้ไขใหม่เพื่อให้เกิดการบูรณาการเป็นคลัสเตอร์ ตอนนี้ผังเมืองรวมจังหวัดชลบุรียังไม่มีการประกาศใช้ ผมไม่รู้ว่า 6.3 แสนไร่อยู่ตรงไหนบ้าง แต่ชลบุรีกับระยองโดนอยู่แล้ว เพราะยังไม่มีผังเมือง จะทำอะไรตรงไหนก็ได้ ไม่ใช่แค่ผังจังหวัดอย่างเดียว ผังเฉพาะ เช่น อำเภอก็ต้องถูกรื้อด้วย ถ้าอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ถ้าผมจะตัดถนนใหม่ก็สามารถตัดได้ แม้จะเป็นพื้นที่ที่ไม่อนุญาตให้ตัด หรืออยากจะตั้งอุตสาหกรรมบางชนิดที่อยู่ในพื้นที่สีม่วง ผมก็สามารถประกาศตรงไหนก็ได้ มีคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจเป็นคนตัดสินใจได้เลย สมัยก่อนมีคณะกรรมการผังเมือง แต่ไม่ต้อง เพราะกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษยกเว้นให้”
เมื่อร่างกฎหมายลดธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมลง สมนึกจึงกังวลว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แล้วในภาคตะวันออกอย่างมลพิษที่เกิดจากกระบวนการผลิตหรือการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอันตรายจะยิ่งรุนแรงขึ้น หากไม่มีกลไกการจัดการที่มีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่ปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคตที่จะทวีความหนักหน่วงยิ่งขึ้น
“พอประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 6.3 แสนไร่แล้ว ผังเมืองทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะถูกยกเลิกและทำการแก้ไขใหม่เพื่อให้เกิดการบูรณาการเป็นคลัสเตอร์...ถ้าผมจะตัดถนนใหม่ก็สามารถตัดได้ แม้จะเป็นพื้นที่ที่ไม่อนุญาตให้ตัด หรืออยากจะตั้งอุตสาหกรรมบางชนิดที่อยู่ในพื้นที่สีม่วง ผมก็สามารถประกาศตรงไหนก็ได้ มีคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจเป็นคนตัดสินใจได้เลย สมัยก่อนมีคณะกรรมการผังเมือง แต่ไม่ต้อง เพราะกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษยกเว้นให้”
“ประเด็นฐานทรัพยากร ถ้าคุณมีเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ต้องมีนิคม โรงงาน มีเมืองใหม่ ก็ต้องการไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ตอนนี้ในชลบุรีมีโรงไฟฟ้าหลายโรงมาก พวกนี้ใช้เชื้อเพลิงตั้งแต่ก๊าซธรรมชาติ ดีเซล ชีวมวล พวกนี้ก็ก่อปัญหามลภาวะได้ บางที่ก็มีการแอบเติมถ่านหิน การแย่งชิงทรัพยากรในอนาคตจะหนักขึ้นจากปัจจุบัน ทุกวันนี้ที่แหลมฉบังไฟฟ้าก็ไม่พออยู่แล้ว ความไม่เสถียรของพลังงานมีอยู่แล้ว ไม่ได้เกิดจากพลังงานมีไม่พอ แต่เกิดจากผู้ใช้พลังงานมีมากเกินไป โดยเฉพาะผู้ใช้พลังงานที่เป็นอุตสาหกรรม
“เมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างคนที่อยู่เมืองเก่าหรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกับเมืองใหม่หรือไม่ คือรัฐไม่ได้มองตรงนี้ มองแต่จะพัฒนาโดยไม่ได้มองปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เรื่องฐานทรัพยากร อัตลักษณ์ชุมชน ปัญหาที่มีอยู่แล้ว เคยถามหรือไม่ว่าคนชลบุรีกำหนดอนาคตของตัวเองไว้อย่างไร เขากำหนดว่าจะปกป้องพื้นที่ผลิตอาหาร จะมีการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างชุมชนกับอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกัน พยายามลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนให้กลับมาแม้จะไม่เท่าเดิม”
เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและอำนาจเบ็ดเสร็จที่กฎหมายจาก คสช. มอบให้จะเปลี่ยนโฉมหน้าภาคตะวันออกไปอย่างไร เป็นคำถามที่คนภาคตะวันออกยังมองภาพอนาคตได้ไม่ชัดเจนนัก