ตรวจพบขยะอันตราย ใกล้โรงงานรีไซเคิล ราชบุรี (คลิป) (12 พ.ย. 59)
PPTV 12 พฤศจิกายน 2559
ตรวจพบขยะอันตราย ใกล้โรงงานรีไซเคิล ราชบุรี (คลิป)
รายงานการตรวจคุณภาพทางสิ่งแวดล้อมทั้งนอกและในโรงงาน แวกซ์ กาเบจ รีไซเคิล เซนเตอร์ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า มีสารอินทรีย์ระเหยง่าย ซิส-1และ 2-ไดคลอโรเอทธิลีน ผสมอยู่ในบ่อน้ำของชาวบ้าน อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญ เปิดเผยว่า สารทั้ง 2 ชนิด จัดเป็นของเสียอันตราย ไม่มีในธรรมชาติ และโรงงานแห่งนี้ ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองสารนี้ หรือแม้แต่จะรับมากำจัด ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีใบอนุญาตกำจัดขยะอันตราย
วันนี้ (12 พ.ย. 59) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำบาดาลที่มีกลิ่นของสารระเหย ในสวนลำไยของนายธนู งามยิ่งยวด ชาวบ้านตำบลน้ำพุ อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เป็นบ่อน้ำอีกแห่งหนึ่ง ที่ถูกกรมควบคุมมลพิษสั่งปิด เนื่องจากพบว่า น้ำในบ่อปนเปื้อนโลหะหนัก นิกเกิล เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จนทำให้นายธนูต้องปล่อยสวนลำไย ยืนต้นตายหลายสิบไร่ และยังตรวจพบสารอินทรีย์ระเหยง่าย ซิส-1,2-ไดคลอโรเอทธิลีน ในบ่อน้ำของชาวบ้านอีกอย่างน้อย 2 บ่อ ที่ถูกกรมควบคุมมลพิษสั่งห้ามใช้เช่นกัน
รายงานผลตรวจคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในและนอกโรงงานที่อยู่ใกล้ชุมชน บริษัท แวกซ์ กาเบจ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จากกรมควบคุมมลพิษ ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2559 อ้างถึงทิศทางการไหลของน้ำใต้ดินว่า น้ำจากโรงงาน ไหลไปยังบ่อน้ำใช้ของประชาชน และสารที่ตรวจพบในบ่อน้ำใช้ประชาชน เป็นสารประเภทเดียวกันกับที่ถูกตรวจพบในบ่อสังเกตการณ์ของโรงงาน
ทีมข่าวพีพีทีวี ตรวจสอบข้อมูลพบว่า สารอินทรีย์ระเหยง่าย สามารถอยู่ในน้ำใต้ดินได้นานหลายปี แต่การปนเปื้อนในน้ำใต้ดินไปยังพื้นที่ใกล้เคียงจะต้องใช้เวลานานนับปี เพราะน้ำใต้ดินจะเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ ซึ่งหากสัมผัส หรือสูดดมสารซิส-1หรือ 2-ไดคลอโรเอทธิรีน มากเกินไป จะมีอาการมึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ตาแดง ผิวแห้ง และส่งผลต่อการทำงานของตับ และไตด้วย
ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดกากอุตสาหกรรม เปิดเผยกับทีมข่าวพีพีทีวี ว่า โรงงานแวกซ์ กาเบจ รีไซเคิล เป็นโรงงานรีไซเคิล ประเภท 106 ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้สารซิส-1 และ 2-ไดคลอโรเอทธิลีน และไม่สามารถรับสารชนิดนี้มากำจัดได้ เนื่องจากถูกระบุเป็นขยะอันตราย ที่ต้องถูกส่งไปกำจัดในโรงงานกำจัดของเสียอันตรายประเภท 101 เท่านั้น ที่สำคัญ คือ โรงงานนี้ ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้วิธีการฝังกลบอย่างเด็ดขาด
อย่าง ไรก็ตาม เมื่อดูแผนที่และแผนผังของโรงงานกลับพบว่า โรงงานแห่งนี้ มีบ่อฝังกลบ และเพิ่งขยายบ่อเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นจุดที่ชาวบ้านร้องเรียนด้วยว่า ขวางทางระบายน้ำ