ทางแพร่งบ่อขยะแพรกษา: โมเดลฟื้นฟูแบบมีส่วนร่วม หรือ ม.44 ดันโรงไฟฟ้าขยะทั่วประเทศ (1 ก.ย. 59)

ประชาไท 1 กันยายน 2559
ทางแพร่งบ่อขยะแพรกษา: โมเดลฟื้นฟูแบบมีส่วนร่วม หรือ ม.44 ดันโรงไฟฟ้าขยะทั่วประเทศ

มุทิตา เชื้อชั่ง

ไฟไหม้บ่อขยะแพรกษาขนาด 100 กว่าไร่ ค่าชดเชยกับชาวบ้านลงตัวไปแล้ว เหลือโจทย์ใหญ่ "การฟื้นฟู" ด้านหนึ่ง ทุกฝ่ายเร่งหาทางออกร่วม อีกด้าน คสช.คลอดโรดแมปดันโรงไฟฟ้าขยะ 53 ทั่วประเทศ ฟังดูน่าจะดี ทำไมชาวบ้านปฏิเสธ คุยกับ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากมูลนิธิบูรณะนิเวศ  

กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สื่อมวลชนต่างพาดหัวข่าวถึงกรณีบ่อขยะแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ ที่ถูกไฟไหม้อย่างรุนแรงเมื่อปี 2557 ว่า ชาวบ้านเฮ, การไกล่เกลี่ยประสบความสำเร็จ, ชาวบ้านพันกว่าคนได้รับค่าชดเชยแล้วคนละ 3,000 บาท

แต่นั่นไม่ใช่จุดจบของปัญหา กระทั่งอาจยังมีคำถามว่าใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด เป็นธรรมแล้วหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็สามารถย่นระยะทางการต่อสู้คดียาวนานที่ชาวบ้นจำนวนมากต้องประสบ

หากใครยังจำได้ เหตุการณ์เพลิงไหม้บ่อขยะเกิดขึ้นเมื่อ 16-22 มีนาคม 2557 เป็นเหตุเพลิงไหม้ครั้งรุนแรงมาก บ่อขยะแห่งนี้นี้มีพื้นที่กว่า 100 ไร่ ใช้เวลากว่า 1 สัปดาห์กว่าไฟจะมอด มีควันพิษปกคลุมพื้นที่รอบจนต้องอพยพคนออกและประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัตรฉุกเฉิน

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพอากาศในรัศมี 1 กม.ช่วงเกิดเหตุเพลิงไม้ พบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินมาตรฐาน 20-30 เท่า พบฝุ่นขนาดเล็กมากสูงกว่ามาตรฐาน 30 เท่า จึงต้องอพยพคนออกในรัศมี 1.5 กม.รอบบ่อขยะ ประชาชนนับพันจึงรวมตัวกันฟ้องศาลแพ่งและศาลปกครองกับหน่วยงานรัฐและเอกชน

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากมูลนิธิบูรณะนิเวศซึ่งติดตามเรื่องการจัดการปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมของไทยมายาวนาน ให้ข้อมูลว่า ที่ดินกว่าหนึ่งร้อยไร่เป็นของบริษัท ตั้งเด่นชัย จำกัด และนายกรมพล สมุทรสาคร ได้มาขอเช่าพื้นที่ โดยขออนุญาตกับท้องถิ่นตั้งแต่ปี 2554 ระบุว่าจะทำกิจการรีไซเคิลขยะมูลฝอย ระหว่างทำกิจการถูกร้องเรียนเรื่องกลิ่นและความสะอาด จน อบต.ต้องยกเลิกใบอนุญาต ถัดมาไม่นานก็มีการขอตั้งโรงงานทำปุ๋ยชีวภาพ เดือนมีนาคม 2555 มีรายงานการพบนำกากสี ขยะอันตรายจากนิคมอมตะนครนำมาทิ้งในพื้นที่ทำให้บริษัทถูกปรับเป็นเงิน 5,000 บาท ต้นเดือนมกรา 2556 อบต.มีคำสั่งยกเลิกไม่ให้ทำกิจการอีก แต่ปลายเดือนธันวาคม 2556 อบต.ตรวจสอบพบยังมีการลักลอบทิ้งขยะ จึงสั่งปรับเป็นเงิน 2,000 บาทเนื่องจากผิดพ.ร.บ.สาธารณสุข

เพ็ญโฉมอธิบายเพิ่มเติมว่า ภายหลังเกิดเรื่อง ชาวบ้านได้รวมตัวกันฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับบริษัท โดยแบ่งเป็นสองคำฟ้อง คือ เรียกค่าชดเชยเยียวยาความเสียหายต่อสุขภาพ กับ ให้ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม

“ในเรื่องค่าเสียหาย เราเห็นว่า การเจรจาได้ผลลัพธ์เป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น บางคนต้องหยุดงานไปเลย ต้องปิดร้านอพยพหนีไปเลยหลายอาทิตย์ หลายคนมีการเจ็บป่วย”

“น้ำหนักที่แกนชาวบ้านทำอยู่และศาลเห็นว่าสำคัญมากกว่า คือ การแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทำยังไงให้ดีขึ้น ชุมชนอยู่รอบบ่อมี 10 กว่าหมู่บ้าน ทั้งระดับกลางและค่อนข้างมีฐานะ รวมถึงระดับหาเช้ากินค่ำ รวมถึงคนอาศัยอยู่เดิมที่กระจายอยู่ บ่อขยะมันใหญ่มาก” เพ็ญโฉมกล่าว  

ดังนั้น โจทย์ใหญ่และโจทย์หลักที่กำลังดำเนินอยู่ในศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในขณะนี้ ก็คือ การหาทางออกได้ในเรื่องการฟื้นฟู เนื่องจากมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจำนวน 1,590 ที่รับเงินค่าชดเชยจำนวน 3,000 บาทที่เจ้าของบ่อขยะจ่ายแล้ว แต่ยังมีผู้ไม่รับเงินอีก 3 คน เพื่อให้คดียังไม่จบและต้องดำเนินการต่อในการฟื้นฟู

ภายใต้การฟ้องคดีดังกล่าว ศาลได้มีคำสั่งให้จัดตั้งคณะทำงานตั้งขึ้นเพื่อหาทางฟื้นฟูพื้นที่ คณะกรรมการนี้ทำงานร่วมกันมาราว 1 ปีมาแล้ว โดยมีส่วนประกอบเป็น นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนตัวแทนชาวบ้าน เจ้าของบ่อขยะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เทศบาล อบต. จังหวัด

เพ็ญโฉมกล่าวด้วยว่า ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือ จะจัดการยังไงกับสารพิษที่อาจปนเปื้อนไปกับในแหล่งน้ำใต้ดิน เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล

“ถ้าจะเต็มที่จริงๆ จะใช้งบสูงเกิน 100-200 ล้านบาทแน่ ทางบริษัทก็ตกใจ เขาถอย หลายคนก็คิดว่าเป็นไปได้ยาก นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ต้องดึงจังหวัดเข้ามาเกี่ยวข้อง เราพยายามผลักดันเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่แม้สมุทรปราการจะได้เป็นเขตควบคุมมลพิษจังหวัดแรก แต่ไม่ได้ทำอะไรเลย”

“ปัญหาขยะก็เป็นปัญหาใหญ่ แต่หลุมนี้เป็นหลุมเอกชน เขาขุดหน้าดินไปขาย พื้นที่ใหญ่มาก ขยะถึงเอามาทิ้งได้เยอะ การปนเปื้อนน่าจะไกลพอสมควร คณะกรรมการเสนอว่าก่อนมีการฟื้นฟูต้องมีการประเมินความเสี่ยงก่อน ศึกษาปริมาณขยะทั้งบ่อ แต่เนื่องจากข้างล่างเป็นน้ำจึงคำนวณยาก และยังต้องดูชนิดขยะว่าอันตรายไหม ตะกอนก้อนบ่อสารพิษมีอะไรบ้าง เพื่อประเมินว่ารูปแบบไหน เทคโนโลยีไหนจะฟื้นฟูได้ ใช้งบขนาดไหน ทุกคนเชื่อว่าบริษัทไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ คุยกันหลายรอบยังพบว่าเป็นไปได้ยาก แนวโน้มออกมาว่าจะฟื้นฟูเฉพาะบริเวณบ่อ แต่ก็ยังมีนักวิชาการไม่ค่อยเห็นด้วย การประชุมก็ยังดำเนินอยู่ แม้จะไม่บ่อยนัก เดือนกันยายนน่าจะได้โมเดลการจัดการขยะขั้นต้น และเอามาเข้าที่ประชุมว่ารับได้ไหม หากตกลงกันได้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งอีกทีหนึ่ง” เพ็ญโฉมกล่าว   

อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่ที่มีต่อคณะกรรมการนี้มีอยู่ 4 ข้อหลัก คือ

1.ห้ามเอาขยะใหม่มาทิ้งอีกต่อไป

2.ต้องกำจัดขยะเก่าในบ่อ และทำปิดบ่อนี้

3.ต้องไม่ใช่การสร้างเตาเผาขยะ หรือโรงไฟฟ้า

4.ต้องมีการบำบัดน้ำในบ่อก่อนระบายสู่แหล่งน้ำสาธารณะ


ที่มา: เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง

ถามว่าทำไมชาวบ้านถึงต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ เพ็ญโฉมอธิบายเหตุผลคร่าวๆ ว่า โรงไฟฟ้าจากขยะนั้นต้องลงทุนสูงมาก ชาวบ้านจึงไม่เชื่อว่าบริษัทจะดำเนินการขึ้นเพียงเพื่อจำกัดขยะเก่า แต่มีแนวโน้มว่าต้องใช้จัดการขยะในอนาคตด้วย พื้นที่นี้ก็จะยังคงเป็นพื้นที่ทิ้งขยะเช่นเดิม นอกจากนี้มลพิษทางอากาศสูงมาก ต้นทุนประมาณ 2 ใน 3 ของการดำเนินงานจะต้องลงทุนในระบบคือการติดตั้งเทคโนโลยีและกระบวนการจัดการมลพิษ หากโรงไฟฟ้าไม่ยอมลงทุนกับเทคโนโลยีเหล่านี้โรงไฟฟ้าขยะจะอันตรายและก่อปัญหาเยอะมาก ไม่นับว่าค่าบำรุงรักษาในระยะยาวก็สูงมากด้วย


วาระแห่งชาติ ยุค คสช. การจัดการขยะ กับ โรงไฟฟ้าขยะทั่วประเทศ

หลังเกิดเหตุไฟไหม้ไม่นานก็มีการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 จากนั้นวันที่ 30 พ.ค. 2557 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ประชุมร่วมกันโดยสรุปมีแผนงานให้ ทส. เร่งรัดดำเนินการทั้งหมด 5 เรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “การกำหนดการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยและน้ำเสียเป็นวาระแห่งชาติ (แบบบูรณาการทุกหน่วยงาน)”

“การประกาศโรดแมปนั้นไม่ได้เป็นประเด็นกับแพรกษาโดยตรง ตอนแรกนายทหารระดับสูงลงตรวจพื้นที่ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น แต่อย่างน้อยตอนแรกมันเป็นเกราะป้องกันชาวบ้านไม่ให้ถูกคุกคามและเสี่ยงจากอิทธิพลในพื้นที่ แต่ในเชิงภาพรวมแล้ว แนวทางการแก้ปัญหาขยะตามโรดแเมปเป็นแนวทางที่ผิด เป็นปัญหามากทั้งกับ อปท. และชุมชนหลายพื้นที่เจอปัญหา” เพ็ญโฉมกล่าว


ที่มา: มูลนิธิบูรณะนิเวศ

 

โรดแมปนี้เตรียมจะสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะเบื้องต้น 53 แห่งทั่วประเทศ โดยจะมีการสร้างศูนย์ขนาดใหญ่ในการจัดการขยะเป็นร้อยแห่ง โดยมาตรา 44 ที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช.มีบทบาทในการทำให้โรดแมปเป็นจริงอย่างรวดเร็ว...ไร้แรงต้าน

“รัฐบาลไม่รู้คิดอย่างไร อาจเชื่อข้อมูลจากหน่วยงานราชการ มองเห็นลู่ทางบางอย่าง ก็เลยกลายเป็นว่ามีการประกาศให้รีบดำเนินการ ตามโรดแมปมีแผนระยะสั้นและยาว แต่ให้สร้างโรงไฟฟ้าเป็นแนวทางหลัก ทุกคนรู้ว่าโรงไฟฟ้าใช้ทุนสูง ใช้เทคโนโลยีสูง มีข้อจำกัด โดยเฉพาะ EIA ปริมาณขยะ พื้นที่ ฉะนั้น คสช.จึงใช้ม. 44 ออกมาตรการหลายอัน”

มาตรา 44 ถูกใช้ในการ

1.สั่งยกเลิกการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โรงไฟฟ้าขยะ แม้ขนาด 10 เมกกะวัตต์ขึ้นไปก็ไม่ต้องทำ เรื่องนี้ EnLaw ฟ้องศาลปกครองเมื่อ 3 ธ.ค.2558 และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา

2.มีการระงับใช้กฎหมายผังเมืองในพื้นที่ห้ามก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ

3.แก้กฎหมาย Feed-in Tariff โรงไฟฟ้าขยะจะได้ช่วยเหลือผ่านกลไกนี้เพื่อให้เอกชนคุ้มทุน

“ในความเป็นจริงพบว่าโรงไฟฟ้าขยะที่หาดใหญ่ อยุธยา ภูเก็ต ล้วนมีปัญหา อย่างกรณีของหาดใหญ่ อบต.ควนลัง ถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าขยะที่ คสช.ภาคภูมิใจมาก แต่มันเตาพัง เดินเครื่องไม่ได้ เพราะขยะเมืองไทยไม่มีระบบคัดแยก 50% ของขยะบ้านเราเป็นขยะอินทรีย์ ขยะเปียกไม่เหมะจะเข้าโรงไฟฟ้าและยังมีขยะอื่นๆ ที่ไม่เหมาะกับการเผา พอเอาไปเผาเครื่องพังก็ต้องหยุดดำเนินการ หรืออย่างกรณีเชียงราก เอกชนไปซื้อที่ นึกจะสร้างก็สร้าง ไม่ต้องทำอีไอเอ ก็กลายเป็นประเด็นเพราะเป็นพื้นที่ที่ต้องรักษาแหล่งน้ำดิบเพื่อผลิตประปา” เพ็ญโฉมกล่าว

 

สุวิทย์ เชยอุบล
ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

เมื่อเกิดไฟไหม้ มีการตั้งคณะทำงานติดตามและหลังจากนั้นมีการนัดประชุมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีชาวบ้านได้รับผลกระทบรวมแล้วเกือบ 3,000 คน เราได้แนะนำและให้ความคิดเห็นว่า ผลกระทบต่างๆ นั้นชาวบ้านสามารถเรียกร้องสิทธิได้โดยสภาทนายความจะตั้งคณะทำงานทำคดีเรียกร้องค่าเสียหายให้ชาวบ้านพร้อมทั้งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติหรือสภาพที่ชาวบ้านรับได้ เราฟ้องคดีให้ชาวบ้าน ต้องขอขอบคุณทางเจ้าของบ่อด้วยที่ให้ความร่วมมือ ยอมเยียวยาให้กับชาวบ้านบางส่วน แม้ไม่มากก็นับเป็นน้ำใจที่ชาวบ้านพอจะรับได้ มันยังเหลืออีกส่วนคือ การฟื้นฟู ต้องว่ากันต่อไป ทางศาลและสภาทนายความรวมถึงเจ้าของบ่อได้ตั้งคณะทำงาน ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมมือกันทำตรงนี้ เจ้าของบ่อยินดีจัดการค่าใช้จ่าย

 

สำนวน ประพิณ
ทนายที่รับผิดชอบคดีนี้ จากสภาทนายความ

ที่เห็นชัดเจนคือ นับตั้งแต่เกิดเหตุไม่มีการนำขยะมาทิ้งที่บ่ออีกเลย เพราะชาวบ้านไม่ยินยอมให้เอาขยะมาทิ้งอีกแล้ว ปัญหาที่จะต้องทำต่อไปคือ  ฟื้นฟูอย่างไรกับขยะเดิม มีสารพิษไหม นักวิชาการนำไปตรวจอยู่ ถ้ามีต้องฟื้นฟูอย่างไร

ตอนนี้ชาวบ้านเรียกร้องไม่ให้เกิดโรงงานไฟฟ้าขยะ จะขอให้เอาขยะออกไปด้วย วิธีการฟื้นฟูถ้ามันสามารถทำที่เดิมไม่ส่งผลกระทบ ไม่ส่งกลิ่นเหม็น ก็อาจทำตรงนั้นเลย แต่ถ้าฟื้นฟูแล้วมีผลกระทบก็ต้องนำออกไปข้างนอก ตอนนี้กรมควบคุมมลพิษก็เข้ามาร่วมประชุมในคณะกรรมการด้วย ไม่ว่าจะเอาออกหรือเอาไว้ที่เดิม ชาวบ้านจะมีส่วนตัดสินใจด้วย โรงไฟฟ้าคงเกิดไม่ได้ เพราะต้องฟังเสียงชาวบ้าน เวลานี้พวกเขาไม่เห็นด้วย ค่อนข้างแน่นอนแล้ว

ค่าชดเชยเยียวยาถึงแม้จะน้อย ทั้งหมดเป็นการเหมาจ่ายรายละ 3000 บาท มันอาจไม่ตรงกับเสียหายจริง มันต้องพิสูจน์เสียเวลานานมาก ทุกคนต้องขึ้นเบิกความที่ศาลทั้งหมด รับรองว่านานกว่าคลิตี้ อีกสิบปีก็ไม่จบ ตอนนี้ชาวบ้านพอใจที่ไม่เอาขยะมาเพิ่มเติม

ชาวบ้านฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ 2000 กว่าราย จากนั้นไปฟ้องที่ศาลแพ่งบางส่วน เพราะเห็นว่าน่าจะมีความเชี่ยวชาญมากกว่า เมื่อศาลแพ่งรับฟ้องจึงมีการโอนย้ายจากที่ศาลสมุทรปราการไปที่ศาลแพ่ง แต่ขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านบางส่วนไปขอรับการชดเชยจากผู้ประกอบการและมีการถอนฟ้องไป ก็เหลือประมาณ  1590 รายที่ได้รับเงินเยียวยา 3,000 บาท ส่วนคนที่ชดเชยไปก่อนเขาจ่ายกัน 2000 บาทต่อราย
 

ศิลา ทองคำ
ที่ปรึกษาเครือข่ายกลุ่มต่อต้านบ่อขยะแพรกษา

กรอบของการฟื้นฟูอยากให้กำหนดไว้เป็นแผน 2 ระยะ คือ ระยะสั้นกับระยะยาว เหตุเพราะการมีแผนระยะสั้น 6 เดือนหรือ 1 ปี จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการแก้ไขเบื้องต้นเรื่องกลิ่น เรื่องน้ำเสียที่เอ่อล้นมา เรื่องสัตว์พาหะนำโรค ส่วนการจะบำบัด ณ ที่ตั้งหรือไม่ก็ว่ากันไปอีกระยะคือ 3 ปี 5 ปี ไม่เช่นนั้นถ้ามองระยะยาวชาวบ้านจะจับต้องไม่ได้ มองไม่เห็นอะไร

การบำบัดฟื้นฟู คณะผู้พิพากษาก็ดี ผู้เชี่ยวชาญก็ดี ราชการก็ดี ภาคเอกชนที่มาช่วยต่างๆ ล้วนมีความตั้งใจและเพียรพยายามอย่างต่อเนื่องจนเกิดการทำเอ็มโอยูกับพี่น้องประชาชน อยากให้ภาครัฐควบคุมให้มีการปฏิบัติการตามเอ็มโอยูอย่างเคร่งครัด เพราะพี่น้องประชาชนยังวางใจไม่ได้เลยว่าจะมีการปฏิบัติตามนั้นหรือไม่จึงต้องจับตาดูกันต่อไป

ตอนนี้ก็ความคาดหวังอยากให้เกิดเป็น แพรกษาโมเดล ในการจัดการปัญหา เพราะบ่อขยะแพรกษาเป็นบ่อขยะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 150 กว่าไร่ เมื่อเกิดไฟไหม้ผู้ว่าฯ ได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ 7 วัน 7 คืน เป็นมหากาพย์ที่กระตุ้นให้รัฐหยิบเรื่องนี้มาพิจารณาจนประกาศเป็นวาระแห่งชาติ คณะทำงานเรื่องนี้ก็ดี ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ก็ทำงานร่วมกันเพราะหวังจะทำงานชิ้นสำคัญให้เป็นแพรกษาโมเดลให้จงได้
ไพฑูรย์ หมายสอนกลาง
แกนนำเครือข่ายกลุ่มต่อต้านบ่อขยะแพรกษา

ตอนนั้นที่มีการนำขยะมาทิ้ง ล้วนเป็นรถป้ายทะเบียนจากต่างจังหวัดมาเยอะ เพราะมันเป็นที่ทิ้งแบบผิดกฎหมาย มีจากชลบุรี ระยอง ประจวบ ฯลฯ บ่ออยู่ห่าง อบต.ไม่เกิน 2 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเข้านิคม ฯ ประชาชนวิ่งผ่านทุกวัน เห็นทุกวัน เมื่อก่อนไม่มีรั้ว กองขยะมโหฬาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปรับเขาแค่ 2,500 ปรับต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะเกณฑ์คือ 5000  อบต. จึงเกิดคำถามเยอะว่าทำไมทำแค่นี้ทั้งที่ความเดือดร้อนมหาโหฬาร

คนอื่นๆ เขาไม่เอาโรงไฟฟ้าเพราะกลัวผลกระทบเรื่องชั้นบรรยากาศ การเผา และมันไม่เสถียร การต่อสู้ของทุกพื้นที่เขาไม่เอาเรื่องเตาเผาขยะ มีทางออกคือ เราก็อยากให้คัดแยก ทำโรงอบ
 

ธีรศักดิ์ อัศวเหม
วิศวกรผู้ดูแลบ่อขยะฯ

หลังเกิดเหตุการณ์เราปิดล้อมรั้ว ทำถนน วางระบบดับเพลิง เรื่องต่างๆ อยู่บนพื้นฐานคำสั่งของศาล มีการพูดคุยกันอยู่ ส่วนการฟื้นฟูเราพยายามให้มีการรวมหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงชุมชนมาพูดคุยร่วมกัน ตอนนี้ก็จะมีลำดับการดำเนินการกันไป กันพื้นที่ให้เรียบร้อย การจ่ายค่าชดเชยนี่ก็เป็นสเต็ปหนึ่ง

การฟื้นฟู ต้องมีการปรับภูมิทัศน์ ทำรั้วโดยรอบพื้นที่ อย่างที่ถ้าเคยดูจะเห็นว่าด้านหลังทำแล้ว จำกัดการเข้าออก มีเวรยาม มีระบบปั๊มน้ำดับเพลิง

ข้อสรุปในเรื่องการฟื้นฟูยังไม่ได้ ยังมีข้อจำกัดเยอะ ก็ต้องคุยหาแนวทางร่วมกัน ขยะเก่าจะเอาออกยังไง ส่วนเรื่องโรงไฟฟ้านี่ยังไม่สรุปเลย ต้องเคลียร์งานเรื่องการจะเอาขยะเก่าออกหรือเปล่า อย่างไร ให้จบสิ้นเสียก่อน

สุชาติ นาคนก
แกนนำเครือข่ายกลุ่มต่อต้านบ่อขยะแพรกษา

ในส่วนที่ไม่รับเงิน มีตัวผมซึ่งเป็นประธานเครือข่ายกลุ่มต่อต้านบ่อยขยะแพรกษา และรองประธานสองคน ที่ไม่ติดใจรับเงินส่วนนี้ เพราะการทำงานเริ่มแรกเราตั้งปณิธานว่าเราทำเพื่อชาวบ้าน ไม่ได้ต้องการค่าชดเชย

การไม่รับเงินและไม่เซ็น ทำให้คดียังคงสภาพอยู่ในศาล เพราะการเซ็นรับเงินนั้นในเอกสารระบุว่าจะมีการถอนฟ้องไปในตัวเลย เรายืนยันที่จะต้องต่อสู้เรื่องฟื้นฟูต่อ จึงยังไม่ต้องการจบคดี

เรื่องการฟื้นฟู ชาวบ้านอยากให้เป็นแบบไหน ตอนนี้คณะทำงานที่ศาลแพ่งตั้งไว้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและนำมาวิเคราะห์ เพื่อทำแผนในการฟื้นฟูบ่อขยะ ส่วนกองขยะที่ยังอยู่ กลิ่นมันดีขึ้นกว่าเก่าเยอะ แต่มันก็ยังไม่หายไปในบริเวณใกล้ๆ สภาพสิ่งแวดล้อมมันดูดีกว่า มันราบไปกับพื้น เดิมทีกองขยะมันสูงเป็นภูเขา มองไกลๆ ก็เห็น ปัจจุบันมองไม่เห็นแล้ว เดิมทีลมพัดมาก็มีกลิ่นเปรี้ยว แต่ปัจจุบันไม่รุนแรงขนาดนั้น ส่วนช่วงฝนตกหนักที่ผ่านมา มีคลองใกล้บ่อขยะ ตัวผมเองไม่ได้อยู่ตรงนั้นจึงพูดได้ยาก ปีนี้น้ำไม่เอ่อในบ่อขยะ ปีแรกน้ำเอ่อเยอะ ตรงนี้ทางเจ้าของบ่อเคยรับปากไว้ว่า จะไม่ให้มีเหตุการณ์ซ้ำซ้อนอย่างปีที่แล้วอีก เขาจะเฝ้าระวังให้ดีที่สุด เราก็เชื่อใจเขา เพราะพักหลังเขามีความจริงใจในการฟื้นฟูดีขึ้นมาก

เรื่องเจรจา ไม่กังวลเป็นแนวทางที่เราตั้งใจอยู่แล้ว คือ เน้นการเจรจาหาข้อตกลงร่วมกัน หันมาทำงานร่วมกันมากกว่าจะตอบโต้กันด้วยความรุนแรง ส่วนกรอบเวลา ผมยังไม่กล้าพูดออกไป เพราอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ว่าแนวทางฟื้นฟูจะไปแนวไหน

ผมเคยเห็นภาคเอกชน คือเจ้าของบ่อ และภาครัฐ ภาคประชาชน ร่วมมือกันทำเพื่อฟื้นฟูบ่อขยะไว้ ตั้งเป้าให้เป็นโมเดลให้ได้ ทุกคนมีความตั้งใจให้มันเกิดให้ได้ ผมเน้นการเจรจา หาจุดร่วม ไม่ได้อยากจะไปทะเลาะกับเขา อะไรที่จะหาจุดยุติได้เราก็จะทำ แต่เราก็มีจุดยืนในการทำงานของเรา ต้องปิดบ่อ ต้องไม่มีโรงไฟฟ้า

การที่ชาวบ้านได้รับเงินเยียวยาก็เหมือนหมดภาระไปเปราะหนึ่ง ไม่อย่างนั้นแกนนำต้องขึ้นศาลถึงสองเรื่อง เงินเยียวยาและฟื้นฟู ตอนนี้ก็เน้นประเด็นเดียว โชคดีที่ผมทำงานค้าขาย การไปขึ้นศาลบ่อยๆ ไม่กระทบมากนักเพราะคนอื่นทำแทนได้ แต่บางคนก็ไปขึ้นศาลบ่อยไม่สะดวกเพราะทำงานราชการ