ทั่วโลกจับตานโยบายสิ่งแวดล้อม “ทรัมป์” ประกาศชัดไม่สน “โลกร้อน” !? (10 พ.ย. 59)

PPTV 10 พฤศจิกายน 2559
ทั่วโลกจับตานโยบายสิ่งแวดล้อม “ทรัมป์” ประกาศชัดไม่สน “โลกร้อน” !?

เครือข่ายสิ่งแวดล้อมทั่วโลก จับตานโยบายสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” คว้าชัยศึกชิงทำเนียบขาว เหตุเจ้าตัวประกาศชัดตอนหาเสียงว่าไม่สนใจเรื่อง “โลกร้อน”

หลังมหาเศรษฐี “โดนัลด์ ทรัมป์” คว้าชัยศึกชิงทำเนียบขาว ขึ้นแท่นประธานาธิบดีป้ายแดง ไม่เฉพาะกระแสคัดค้านจากฝั่งผู้สนับสนุน “ฮิลลารี คลินตัน” เท่านั้นที่ทำใจยอมรับไม่ได้ ถึงขั้นรวมตัวประท้วงหลายแห่งทั่วประเทศ เพราะในขณะเดียวกันเครือข่ายนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลก ต่างจับจ้องนโยบายบริหารประเทศด้านสิ่งแวดล้อม อย่างใจจดใจจ่อ

เหตุเพราะก่อนหน้านี้ในระหว่างหาเสียง เจ้าตัวประกาศว่าหากได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ซึ่งมีมติว่าจะเดินหน้าออกมาตรการ ควบคุมการเพิ่มขึ้นอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส แถมยังบอกว่าจะยุบ EPA หรือหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมประกาศให้สัมปทานขุดเจาะถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ด้วย

ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงกรณีนี้ว่า ทรัมป์ เป็นคนที่ฝังหัวด้านเศรษฐกิจ เขาชื่นชอบความเจริญทางวัตถุ วัดความเจริญด้วย GDP แม้แต่ในปราศรัยแรกตอนประกาศชัยชนะ ยังพูดถึง Double the Growth ไม่แปลกใจที่ ทรัมป์ เน้นเรื่องนี้ เพราะเขาเชื่ออย่างจริงจังว่าเงินคือความเจริญ ความรวยของคนในยุคนี้มีความหมายเหนืออื่นใด และคนอเมริกันจำนวนหนึ่งก็เชื่อเช่นนั้น สิ่งที่ ทรัมป์ บอกไว้ตอนหาเสียง คือ

1) เขาจะสนับสนุนการใช้พลังงานฟอสซิล น้ำมัน ถ่านหิน หรืออะไรก็ตาม วิธีนี้ทำให้เกิดการแข่งขันการผลิต ส่งผลให้น้ำมันและเชื้อเพลิงแบบนี้ถูกลง ช่วยให้เศรษฐกิจเคลื่อนเร็ว แต่ผลกระทบที่ตามมาคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มหาศาลย่อมเกิดขึ้น

2) เขาไม่สนใจสนับสนุนพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน เรื่องนี้ไม่แปลกเพราะพลังงานพวกนั้นดีแต่แพง เปรียบเสมือนยาไทยที่ส่งผลช้าแต่ไม่มีปัญหาในระยะยาว ทรัมป์ ชื่นชอบยาแรง แนวหาเสียงคือรวยฉับพลัน ย่อมไม่ชอบยาสมุนไพรไทย

3) ทรัมป์พูดถึงอนุสัญญาหรือข้อตกลงต่างๆ เกี่ยวกับโลกร้อน แม้จะไม่เต็มปาก แต่ในอนาคตมีท่าทีว่าอเมริกาอาจไม่สนับสนุน หรือหากโหดหน่อยก็ไม่สนใจและยกเลิกอนุสัญญา ทั้งที่ลงนามไปแล้วหรือยังไม่ได้ลงนาม

4) เขาพูดถึงเงินสนับสนุนองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อจัดการกับภาวะโลกร้อน โดยบอกว่าเก็บเงินไว้ดูแลสิ่งแวดล้อมในประเทศตัวเองดีกว่า นั่นก็เป็นอะไรที่ทำให้หลายองค์กรตกอกตกใจ อเมริกาเลิกสนับสนุน แล้วเราจะเอาเงินจากไหนมาล่ะ

ผมนำมาบอก 4 ข้อ เพื่อแสดงให้เห็นว่าอนาคตข้างหน้า อาจเปลี่ยนแปลงรุนแรงไม่น้อย อย่าลืมว่ารีพับลิกันครองสภา กฎหมาย หรืออะไรก็ตามที่ต้องผ่านสภา ผลกระทบอาจต่อเนื่องไปสู่หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ ที่กำลังต้องการเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ต้องชะลอเพราะเรื่องโลกร้อน

ผมทราบว่าเราต้องปรับตัว แต่จะปรับขนาดไหนต้องรอดูไปสักพัก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หวังว่ารัฐบาลและคนไทยจะยึดมั่น คือพระราชดำรัสของพระองค์ในเรื่องโลกร้อน ในวันที่ 4 ธันวาคม 2532

“...ประเทศไทยนี้ก็เติบโตขึ้นมา จะมีหน้ามีตาในโลกว่าเป็นประเทศที่มั่นคง เป็นประเทศที่ดี เราต้องมีความรับผิดชอบในโลกให้มากขึ้น ทั้งนี้เชื่อว่าเป็นความดีของประเทศไทย”

พระองค์เน้นย้ำความรับผิดชอบ และความดีของประเทศไทย เป็นเรื่องสำคัญสุดของการอยู่ร่วมกันในโลก ที่กำลังเกิดปัญหาจากก๊าซเรือนกระจกหนักหน่วงขึ้นทุกวัน ไม่ใช่นโยบายตัวใครตัวมันหรือเอารวยเข้าว่า

ไม่ว่าอเมริกาหรือโลกจะเปลี่ยนแปลงเป็นเช่นไร หากเรายังยึดพระราชดำรัสไว้เหนือหัว กำหนดให้ชัดเจนในยุทธศาสตร์และนโยบายของชาติ เป็นวิสัยทัศน์ไปข้างหน้าอีก 20-50 ปี ความดีของประเทศไทย จะสร้างประโยชน์ให้ชาติในระยะยาวอย่างมหาศาล มากกว่าความรวยในระยะสั้นครับ

เรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนจากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat