กสม.เล็งชงเสนอ ครม.ปิดฉาก 10 ปี โครงการมหากาพย์ “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” (8 พ.ย. 59)
MGR Online 8 พฤศจิกายน 2559
กสม.เล็งชงเสนอ ครม.ปิดฉาก 10 ปี โครงการมหากาพย์ “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา”
นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ
สตูล - กสม.เล็งชงเสนอ ครม.ปิดฉาก 10 ปี โครงการมหากาพย์ “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกในชุมชน พร้อมแนะชี้ชัดจะไปต่อหรือหยุดแค่นี้ ขณะลงดูพื้นที่ร้องเรียนผลพวงจากโครงการฯ
วันนี้ (8 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่ หมู่ที่ 7 บ้านควนรูตง ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล หลังได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านว่า พื้นที่บริเวณนี้มีความกังวลกันว่าจะเป็นที่ใช้การระเบิดหินของบริษัทผู้ขอประทานบัตร ซึ่งบ้านของชาวบ้านในละแวกนี้มีความห่างระหว่างบ้านกับเขาโต๊ะกรัง 130 เมตร และโดยรอบรัศมี 500 เมตร มีชาวบ้าน โรงเรียน และมัสยิดอยู่
โดยมีความกังวลของชาวบ้านพบว่า ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับข้อเท็จจริง และข้อชี้แจงการดำเนินการแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้อง หลัง อบต.ควนโดน อ.ควนโดน จ.สตูล ได้มีมติเห็นชอบการขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่ ของบริษัท ภูทองอันดา จำกัด ตามคำขอประทานบัตร ที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2559 พร้อมเห็นว่า มีความไม่ชอบมาพากล และเร่งรัดในการพิจารณา โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้ได้รับผลกระทบ
นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังลงพื้นที่ และรับทราบข้อกังวลใจของชาวบ้านทั้ง 2 อำเภอ ซึ่งอยู่ระหว่างรอยต่อของบ้านควนรูตง ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง และบ้านนาปริก ต.ควนโดน อ.ควนโดน โดยเห็นว่า การเข้ามาของโรงงานโม่หิน เป็นผลพวงมาจากนโยบายรัฐในการทำโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ที่จะใช้ในการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา และรถไฟเชื่อมขนส่งสินค้า
โดยทางอนุกรรมการสิทธิฯ จะนำเรื่องราวปัญหาข้อร้องเรียนเหล่านี้รวบรวมเพื่อเสนอ ครม. ในการพิจารณาอีกครั้ง ว่า โครงการมหากาพย์ อย่างโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เห็นควรจะให้มีการเสนอทำต่อไปหรือไม่ ทั้งที่พบข้อมูลทางวิชาการว่า รายได้ส่วนใหญ่ของพื้นที่ จ.สตูล มาจากการท่องเที่ยว โดยมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติเป็นจุดขาย และเตรียมจะมีการผลักดันให้เป็นอุทยานฯ ธรณีโลก ซึ่งจะมีความยั่งยืนกว่าการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก ที่ไม่ทราบว่าจะมีเรือมาใช้บริการหรือไม่
ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ก็คัดค้านกันมาโดยตลอด 10 ปี ซึ่งทางอนุกรรมการสิทธิฯ ลงมาตรวจสอบว่ามีการละเมิดสิทธิชุมชน เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และจะได้เสนอ ครม.ต่อไป โดยในขณะนี้ประชาชนมีความคิดเห็นที่แยกออกเป็นสองฝั่ง เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น