ศรีลังกา เลิกนำเข้ายาฆ่าหญ้า กลุ่มไกลโฟเสท พบสาเหตุตายไตเรื้อรังกว่า 2 หมื่น (8 พ.ย. 59)
สำนักข่าวอิศรา 8 พฤศจิกายน 2559
ศรีลังกา เลิกนำเข้ายาฆ่าหญ้า กลุ่มไกลโฟเสท พบสาเหตุตายไตเรื้อรังกว่า 2 หมื่น
ศรีลังกา ประเทศแรกของโลกที่ยกเลิกไกลโฟเสท นักวิชาการเปิดงานวิจัยผลกระทบ หลังพบสารเคมีตกค้างในการเกษตรอื้อ ทำให้เกษตรกรเป็นโรคไตเรื้อรัง เสียชีวิตแล้วกว่า 2.4หมื่นคน ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และยังพบใช้มากที่สุดในการปลูกข้าว
วันที่ 8 พฤศจิกายน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) จัดการประชุมวิชาการเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปี 2559 ณ ศูนย์ประชุม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพฯ โดยดร.ชันนา จายาสุมันนา แพทย์นักพิษวิทยาและนักวิชาการจากประเทศศรีลังกา นำเสนอผลงานวิจัยผลกระทบและการประกาศยกเลิกการใช้ไกลโฟเสท ในประเทศศรีลังกา ณ ศูนย์ประชุม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพฯ
ดร.ชันนา กล่าวถึงประเทศศรีลังกามีการใช้สารเคมีในพืชเกษตรกรว่า เมื่อไม่นานมานี้เกิดปัญหาโรคไตเรื้อรังในพื้นที่ชนบท ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวของประเทศศรีลังกา โรคนี้จะพบในกลุ่มชายที่อายุน้อยและทำงานด้านเกษตรกรรม โดยปกติแล้วจะพบผู้ป่วยโรคไตมีปัจจัยเสี่ยงอันเนื่องมาจากเป็นโรคเบาหวานหรือมีความดันโลหิตสูง แต่ในกรณีของผู้ป่วยกลุ่มนี้กลับไม่พบเกิดจากโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน แต่เกิดจากสารเคมีที่ตกค้างจากการทำการเกษตรอยู่ในบ่อน้ำที่ชาวบ้านแถบนั้นใช้ดื่มกิน
“สารเคมีที่พบในบ่อน้ำคือสารที่ใช้ในการกำจัดศัตรูพืชชื่อว่า ไกลโฟเสท ผลจากการวิเคราะห์พบสารเคมีจำพวก โลหะหนัก สารตกค้างจากยาฆ่าแมลงของกลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจจากปัสสาวะของผู้ป่วย ซึ่งสารนี้ใช้มากที่สุดในการปลูกข้าวศรีลังกา และยังพบว่า มีสารฆ่าแมลง สารหนู ตกค้างในปริมาณสูงในข้าว ยิ่งกว่านั้นศรีลังการับประทานข้าวเป็นจำนวนมาก แต่ละวันก็บริโภคสารพิษนี้เป็นจำนวนมากเข้าไปในร่างกายด้วย”
ดร.ชันนา กล่าวอีกว่า ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรของชาวศรีลังกา ซึ่งปลูกข้าวเป็นหลัก โรคนี้พบการเสียชีวิตรายแรกตั้งแต่ปี 2537 และมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 2.4 หมื่นราย จากผู้ป่วยทั่วประเทศรวมประมาณ 7 หมื่นคน
“โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายได้ การรักษาที่ทำได้อย่างมากที่สุดคือการฟอกไตหรือเปลี่ยนไต จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันรณรงค์ในการไม่ใช่สารเคมีในการทำเกษตรกรรม ผลของการรณรงค์โดยประชาชนศรีลังกา รัฐบาลจึงตัดสินใจว่าห้ามการโฆษณาขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งในสื่ออิเลคทรอนิกส์และสิ่งพิมพ์ โดยยกเลิกการใช้สารไกลโฟเสท คาฟูราน โพรพาริล คลอไพริฟอส และคาบาริล ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไตวายเรื้อรัง และส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลได้รับซื้อผักที่ปลอดสารพิษในราคาที่สูงเป็นพิเศษ”
นักวิชาการจากประเทศศรีลังกา กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพยายามรณรงค์ให้ยกเลิกการแบน โดยมีการปล่อยข่าวสร้างภาพและให้ร้ายนักวิจัยและนักกิจกรรมทางสังคม มีการข่มขู่คุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อม กดดันผ่านนักการเมือง โดยพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง และอ้างว่า สาเหตุของโรคเกิดจากฟลูออไรด์ในธรรมชาติ ทั้งๆที่ สารไกลโฟเสทส่งผลกระทบมากมายต่อร่างกายมนุษย์ควรจะเป็นสารที่ห้ามใช้ทั่วโลก ทำให้เกิดผลกระทบต่อฮอร์โมนและส่งผลถึงลูกที่อยู่ครรภ์ทำให้พิการตั้งแต่กำเนิด มีการเชื่อมโยงให้เกิดภาวะโรคออทิสติกกับตัวเด็กตั้งแต่กำเนิด
“ประเทศศรีลังกาจึงได้ประกาศยกเลิกการนำเข้าสารจำกัดศัตรูพืช กลุ่มไกลโฟเสททั้งหมด เมื่อเดือนตุลาคม ปี2558 ที่ผ่าน และเป็นประเทศแรกของโลกที่ยกเลิกการนำเข้าสารดังกล่าวด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ โดยภาคประชาชนและพระสงฆ์มีความสำคัญในการกดดันให้รัฐบาลยกเลิกสารจำกัดศัตรูพืช”