งานวิจัยระบุสิทธิชนพื้นเมืองมีบทบาทสำคัญในการรักษาป่า-ลดโลกร้อน (7 พ.ย. 59)
ประชาไท 7 พฤศจิกายน 2559
งานวิจัยระบุสิทธิชนพื้นเมืองมีบทบาทสำคัญในการรักษาป่า-ลดโลกร้อน
งานวิจัยจากสถาบันวิชาการและกลุ่มเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่ากลุ่มชนพื้นเมืองเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างเสถียรภาพด้านภูมิอากาศแก้ไขปัญหาโลกร้อน การศึกษาของพวกเขาพบว่าหนึ่งในสี่ของคาร์บอนป่าไม้ถูกเก็บกักไว้ในพื้นที่ชุมชนเหล่านี้โดยเฉพาะในประเทศบราซิล
งานวิจัยจากองค์กรริเริ่มด้านสิทธิและทรัพยากร ศูนย์วิจัยวูดส์โฮล และ สถาบันทรัพยากรโลก ระบุว่าการขยายสิทธิด้านที่ดินของชนพื้นเมืองเป็นวิธีการที่จะสามารถคุ้มครองป่าไม้ได้โดยประหยัด รวมถึงทำให้พื้นที่ป่าเป็นพื้นที่คอยดักจับและแยกเก็บก๊าซคาร์บอนได้ พวกเขาหวังว่าจะมีการยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดถึงในการประชุมโลกร้อนของสหประชาชาติที่กำลังจะมีขึ้นในเมืองมาร์ราคิช และหวังว่าจะส่งเสริมให้รัฐบาลยอมรับสิทธิที่ดินของชนพื้นเมืองมากขึ้นและให้ชนพื้นเมืองมีส่วนร่วมในแผนการระดับชาติ ซึ่งยังมีอีก 167 ประเทศจากทั้งหมด 188 ประเทศที่ร่วมลงนามข้อตกลงปารีสแต่ยังไม่ได้ดำเนินการในจุดนี้
ทีมวิจัยเก็บข้อมูลจากการสำรวจทางดาวเทียมใน 37 ประเทศร้อนชื้น ทำให้ประเมินได้ว่าพื้นที่ที่มีชุมชนเหล่านี้อาศัยอยู่สามารถแยกเก็บคาร์บอนได้ 54,546 ล้านตัน หรือราว 4 เท่าของตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนของโลกต่อปี โดย 1 ใน 10 ของป่าไม้เหล่านี้เป็นพื้นที่ของรัฐ และไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นป่า หรือเป็นพื้นที่พิพาท ทำให้เสี่ยงต่อการถูกนำไปใช้หากำไรในระยะสั้นโดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ทีมวิจัยระบุว่าการปล่อยให้ผืนป่าอยู่ในมือของผู้อาศัยดั้งเดิมและส่งเสริมความเข้มแข็งในสิทธิการถือครองที่ดินให้พวกเขาปกป้องรักษาพื้นดินเหล่านั้นได้จะส่งผลทางบวกต่อเศรษฐกิจดีกว่า อเลน ฟริเชตต์ จากองค์กรริเริ่มด้านสิทธิและทรัพยากรหนึ่งในผู้เขียนรายงานการวิจัยเรียกร้องให้รัฐบาลและนักเจรจาทำให้ชุมชนชนพื้นเมืองเป็นศูนย์กลางของนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนมากขึ้นด้วยเหตุผลข้างต้น
"ในทางตรงกันข้ามการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดผลประโยชน์อย่างรวดเร็วแต่ในระยะยาวมันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม, เศรษฐกิจ และการเมือง พวกนี้จะเป็นการผลักภาระให้กับคนรุ่นต่อไปในอนาคตเท่านั้นเอง" ฟรีเชตต์กล่าว
ฟรีเชตต์บอกอีกว่านอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 20-30 แล้วยังทำให้คนได้รับประโยชน์จากน้ำสะอาด ความหลากหลายทางชีวภาพ การควบคุมอุทกภัย และเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ด้วยซึ่งพื้นที่เหล่านี้จะก่อเกิดมูลค่านับพันล้านถึงล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 20 ปีข้างหน้า
ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าจะเกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศโดยไม่มีการดูดซับมีมากขึ้นร้อยละ 58 ถ้าหากมีการตัดป่าในพื้นที่สำคัญแถบละตินอเมริกามากกว่าอัตราการปล่อยก๊าซในระดับโลกคือร้อยละ 24 ส่วนประเทศที่มีป่าคาร์บอนขนาดใหญ่มากคือบราซิลซึ่งเป็นประเทศที่มีการขยายพื้นที่ให้กลุ่มชนพื้นเมืองมาตั้งแต่ปี 2546 นอกจากนี้ทั้งบราซิล โบลิเวีย และโคลอมเบีย ต่างก็มีอัตราการตัดไม้เป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งสถาบันวิจัยโลกประเมินว่าป่าร้อนชื้นที่ไม่มีการคุ้มครองในเรื่องนี้จะมีโอกาสถูกถากถางพื้นที่มากขึ้น 2-3 เท่า
อย่างไรก็ตามมีความกังวลว่าบราซิลภายใต้การนำของมิเชล เทเมร์ ที่ขึ้นเป็นผู้นำหลังการถอดถอนดิลมา รุสเซฟฟ์ อาจจะทำให้เกิดการถางป่าเพิ่มมากขึ้นในบราซิลเนื่องจากมีการตัดงบประมาณมูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองแห่งชาติบราซิล (FUNAI) ซึ่งวิกตอเรีย เทาลี-โคร์ปุซ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิชนพื้นเมืองของสหประชาชาติบอกว่าสถานการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องน่าเป็นห่วง