"อาเซียนโปแตช" จับมือเบลารุส พัฒนาเหมืองแร่ใต้ดินที่ชัยภูมิ (6 พ.ย. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 6 พฤศจิกายน 2559
"อาเซียนโปแตช" จับมือเบลารุส พัฒนาเหมืองแร่ใต้ดินที่ชัยภูมิ

โปแตชชัยภูมิ ดึงเบลารุสขุดเหมือง พร้อมเป็นตัวแทนส่งออกปุ๋ยไปเอเชีย

นายสมัย ลี้สกุล กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2559 บริษัทอาเซียนโปแตชฯในฐานะผู้ดำเนินกิจการเหมืองแร่โพแทช อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (Signing Crermony Cooperative Agreement) กับทางบริษัท เบลารุสคาลิ (BELARUSKALI ประเทศเบลารุส) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกแร่โพแทชนานกว่า 100 ปี โดยมีมูลค่าการส่งออกแร่เป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยปริมาณ 12 ล้านตันต่อปี และส่งมาไทยปริมาณ 2-3 แสนตัน/ปี ทั้งนี้ยังได้เซ็นสัญญาร่วมกับบริษัท EROCSPLAN ประเทศเยอรมนี โดย 2 รายนี้จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่เหมืองใต้ดิน ฝึกอบรมและทำการตลาด ด้วยมูลค่าการพัฒนาร่วมกัน 23,000 ล้านบาท

ภายใต้ข้อตกลงมีระยะเวลา 8 ปี โดยใน 3 ปีแรก ทั้ง BELARUSKALI และ EROCSPLAN จะส่งพนักงานมาประจำที่ไทยก่อน 6 เดือน เพื่อพัฒนาระบบการขุดเจาะเหมือง จากนั้นจะเริ่มส่งวิศวกรระดับสูงชุดแรก บินไปดูงานเรียนรู้ด้านเทคนิคที่เบลารุส 3-6 เดือนจากนั้นจะส่งพนักงาน 200 คน ไปฝึกอบรมศึกษางานทั้งหมดเกี่ยวกับระบบการทำเหมืองใต้ดิน อีก 1-2 ปี 

ซึ่งจะพอดีกับระยะเวลาที่กำหนดเปิดขุดเหมืองในปี 2561 ทั้งนี้ ไทยยังไม่เคยมีการทำเหมืองใต้ดินมาก่อน จึงต้องส่งผู้เชี่ยวชาญไปเรียนรู้ทั้ง 2 ประเทศ

ส่วนข้อตกลงช่วง 5 ปีหลังจากนี้จะเป็นความร่วมมือด้านการดำเนินงาน และบริษัทอาเซียนโปแตชฯจะเป็นตัวแทนผู้นำเข้าแร่โพแทช และส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในเอเชีย อาทิ กัมพูชา ลาว เมียนมา ศรีลังกา เป็นต้น โดย BELARUSKALI และ EROCSPLAN เป็นผู้หาตลาดให้ ขณะเดียวกันโอกาสและศักยภาพของไทยที่จะเป็นแหล่งผลิตแร่โพแทชรายใหญ่ และผลิตปุ๋ยได้ปริมาณมากที่สุดในอาเซียน เพราะเป็นที่ทราบกันว่าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย พบปริมาณแร่โพแทชปะปนและแทรกอยู่ในชั้นดินจำนวนมาก 

นอกจากนี้บริษัทกำลังเจรจาพาร์ตเนอร์ไทยรายใหม่ คือ บริษัท สหกลอีควิปเมนท์ (เอ็นจีเนียริ่ง) จำกัด (SQ) เพื่อเตรียมให้มารับช่วงต่อบริษัท BELARUSKALI และ EROCSPLAN หลังจากหมดสัญญา 8 ปีไปแล้ว ทั้งนี้ SQ เป็นบริษัทรับเหมาขุดเจาะเหมืองแร่รายใหญ่ที่สุดของไทย ให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโรงไฟฟ้าหงสา สปป.ลาว 

สำหรับความคืบหน้าโครงการขุดเจาะเหมืองแร่โพแทชที่ จ.ชัยภูมิ นับตั้งแต่ได้ประทานบัตร เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2558 ครอบคลุมพื้นที่ 9,700 ไร่ มีอายุประทานบัตร 25 ปี (2559-2561) มูลค่าลงทุน 40,000 ล้านบาท และเริ่มขุดด้วยวิธีห้องสลับเสาค้ำยัน แต่งแร่ด้วยวิธีการตกผลึกร้อน สามารถผลิตปุ๋ยโพแทชเซียมคลอไรด์ ได้ปี 2562 ประมาณ 1.1 ล้านตันต่อปี มูลค่า 10,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อครบ 25 ปีจะผลิตปุ๋ยได้ 17.33 ล้านตัน

ขณะที่การตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อใช้ในเหมืองนั้น ล่าสุดผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และทำประชาพิจารณ์ผ่านเข้าสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแล้ว คาดว่าจะเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้ แต่บริษัทได้เตรียมแผนสำรองว่าจะมีการซื้อไฟฟ้าจากรัฐบาล และใช้ไฟฟ้าจากบอยเลอร์ (หม้อต้มน้ำร้อน) แทนหากไม่ได้อีกทั้ง ได้ทำข้อมูลพื้นฐานเพื่อเก็บข้อมูลเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาในพื้นที่ชุมชน ประวัติการป่วยไว้ล่วงหน้าก่อนที่รัฐบาลจะกำหนดมาตรฐานออกมาใช้

"เราเดินมาถึงสเต็ปที่ 3 แล้ว คือปรับปรุงพื้นที่พัฒนาอุโมงค์ และเซ็นสัญญากับเบราลุส/เยอรมนี เหมืองเราเป็นรูปร่างเพราะทำตามกฎระเบียบทุกอย่าง ยอมรับว่าเรื่องการทำข้อมูลพื้นฐาน กฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องทำ อาจมีบางที่เหมืองละเลยไปบ้าง แต่ต้องทำให้เป็นบรรทัดฐานไว้ใช้เปรียบเทียบ หากอนาคตเหมืองหรือชุมชนเปลี่ยนแปลงเพราะแน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ก็เป็นโรคอยู่แล้ว ดังนั้นต้องเก็บข้อมูลให้รอบด้านทั้งหมด เรากล้าพูดว่าโพแทชจะเป็นแร่เศรษฐกิจของประเทศ และเชื่อว่าชุมชนมีความรู้ รับฟังประโยชน์มากกว่าคัดค้าน"