บ.อัครา ออกหนังสือโต้ เหมืองทองไม่ได้เป็นสาเหตุการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม (5 พ.ย. 59)
สำนักข่าวอิศรา 5 พฤศจิกายน 2559
บ.อัครา ออกหนังสือโต้ เหมืองทองไม่ได้เป็นสาเหตุการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม
บ.อัครา ออกหนังสือโต้ เหมืองทองคำ ไม่ได้เป็นสาเหตุการปนเปื้อนทางสิ่งแวดล้อม ย้ำชัดตามแผนฟื้นฟู บริษัทฯ ยังต้องดำเนินการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 4 ปี
กรณีภาครัฐมีคำสั่งยุติการอนุญาตการสำรวจ ทำเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ รวมถึงต่อใบอนุญาตโรงงานประกอบโลหกรรมของเหมืองแร่ทองคำชาตรี ภายใต้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ถึงแค่สิ้นปี 2559 นั้น
ล่าสุด นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ออกหนังสือชี้แจงสื่อมวลชน สืบเนื่องจากกรณีมีกลุ่มบุคคลอ้างว่า มีผู้ได้รับความเดือนร้อนจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ของบริษัท อัคราฯด้วยข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ไม่ใช่ข้อมูลจริง และไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ โดยขอชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง และป้องกันความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้
• บริษัทฯ ขอยืนยันว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปี (2544 จนถึงปัจจุบัน) ของการดำเนินกิจการ บริษัทฯ ได้ดำเนินการทุกอย่างตาม พ.ร.บ. แร่ และกฏหมายที่เกี่ยวข้อง แห่งราชอาณาจักรไทยอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่กระบวนการขอสำรวจแร่ การขอประทานบัตร การทำการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) การขอใบอนุญาตโรงประกอบโลหกรรม ตลอดจนการทำเหมืองตามข้อกำหนดของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร) ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ ยังมีประทานบัตรเหลืออยู่จนถึงปี พ.ศ. 2571
• แร่ทองคำ แร่เงิน ตลอดจนแร่พลอยได้ต่างๆ ที่ผลิตได้นั้น อยู่ภายใต้การผลิตที่ได้มาตรฐานสากล มีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
• การดำเนินงานของบริษัทฯ ไม่ได้ก่อให้เกิดมลภาวะตามที่มีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งกล่าวอ้าง และบริษัทฯได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบอย่างละเอียดตามหลักวิชาการ ทั้งทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเสมอมา โดยผลการศึกษาจากหลายหน่วยงานและคณะกรรมการในเบื้องต้นพบว่า มีสารโลหะหนักบางชนิดอยู่ในพื้นที่ดำเนินการมาก่อนหน้าการทำเหมือง และไม่พบความเชื่อมโยงว่า ความเจ็บป่วยของ ประชาชนกลุ่มที่อ้างว่าได้รับผลกระทบด้านสุขภาพนั้น มีสาเหตุมาจากการดำเนินงานของเหมือง
• เหมืองแร่ทองคำชาตรี ได้รับการตรวจสอบและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่สม่ำเสมอ อาทิ กพร. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่ามีความปลอดภัยในเกณฑ์มาตรฐาน
• ในเรื่องของการฟื้นฟูนั้น ตามกฏหมายแล้ว บริษัทฯ มีแผนแม่บทการฟื้นฟูตั้งแต่เริ่มกิจการจนตลอดระยะเวลาสิ้นสุดการดำเนินงาน ตามมาตรการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการของสำนักงาน นโยบาย และ แผน ทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยแผนการฟื้นฟูนั้นจะประกอบไปด้วย แผนการดำเนินการ การป้องกัน การติดตามตรวจสอบ และการฟู และกำหนดไว้ว่าเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานของเหมือง บริษัทฯ ยังต้องดำเนินการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 4 ปี
• แม้เหมืองแร่ทองคำชาตรี จะไม่ได้เป็นสาเหตุในการปนเปื้อนทางสิ่งแวดล้อม หรือก่อให้เกิดผลกระทบตามที่มีผู้กล่าวอ้าง บริษัทฯ ได้ให้การสนับสนุนพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่และโดยรอบพื้นที่ดำเนินการอยู่แล้วด้วยความสมัครใจ ด้วยการสนับสนุนแรงกาย แรงใจ และทุนทรัพย์ ผ่านกองทุนและโครงการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถสืบค้นข้อมูลต่างๆ ย้อนหลังได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายเชิดศักดิ์ กล่าวด้วยว่า บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายการทำเหมืองแร่ของไทยอย่างเคร่งครัด ภายใต้การกำกับดูแลของ กพร. และการประกอบการมิได้ก่อให้เกิดมลภาวะทั้งต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในชุมชนโดยรอบตามที่มีผู้กล่าวอ้างแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังได้รับการสนับสนุนการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีจากกลุ่มประชาชนที่แท้จริงส่วนใหญ่ในพื้นที่ดำเนินการทั้ง 29 หมู่บ้านอีกด้วย