"บิ๊กตู่" บุกคมนาคมเกาะติดงบลงทุน "สมคิด"สั่งคลัง-ก.พ.ร.กำจัดจุดอ่อนขั้นตอนทำธุรกิจ (5 พ.ย. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 5 พฤศจิกายน 2559
"บิ๊กตู่"บุกคมนาคมเกาะติดงบลงทุน "สมคิด"สั่งคลัง-ก.พ.ร.กำจัดจุดอ่อนขั้นตอนทำธุรกิจ

"บิ๊กตู่" บุกคมนาคม เกาะติดแผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ บก ราง น้ำ อากาศ หลังติดบ่วง EIA ต่อเวลา ม.44 อีก 30 วัน เจรจาเดินสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย สั่งสร้างความเข้าใจประชาชนลุยไฮสปีดไทย-จีน "กทม.-โคราช" ฟาก "สมคิด" เร่งกำจัดจุดอ่อน ยกอันดับ "ยาก-ง่าย" ทำธุรกิจ หวังเป็นตัวดึงดูดนักลงทุน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ติดตามงานคมนาคม ส่วนใหญ่ติดปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ขอให้ประชาชนเข้าใจถึงประโยชน์ของโครงการว่าเป็นการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ พัฒนาเมืองใหม่ กระจายความหนาแน่นจากในเมืองสู่ภูมิภาค อีกทั้งยังติดตามโครงการพัฒนาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และพร้อมเดินหน้าโครงการ 

"โครงการคมนาคมส่วนใหญ่ผ่าน ครม.ไปแล้ว แต่ติด EIA ส่วนการแก้ปัญหาการบินยังเป็นไปตามแผน ขณะที่การเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจะขยายเวลาตามมาตรา 44 ให้เจรจากับเอกชนอีก 30 วัน"พลเอกประยุทธ์กล่าว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ติดตามโครงการลงทุนต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านคมนาคมขนส่ง มีโครงการเร่งด่วนปี 2559 จำนวน 20 โครงการ ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 16 โครงการ ส่วนปี 2560 โครงการทางบก น้ำ อากาศ และราง ให้ยึดตามแผนแม่บท เช่น ขยายถนน 4 ช่องจราจร รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง 

นายกรัฐมนตรีให้คำแนะนำแผนยุทธศาสตร์กระทรวง 20 ปี (2559-2579) แบ่งเป็น 4 ช่วง ช่วงละ 5 ปี พัฒนาโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพและเชื่อมต่อกันได้ทั้งบก น้ำ ราง อากาศ ทั้งกำชับให้ทำงานบูรณาการร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง EIA และกระทรวงมหาดไทยเรื่องผังเมือง ให้การทำงานราบรื่น

เมื่อเสนอ ครม.อนุมัติ พร้อมให้ออกแบบสอดรับกับวิถีชีวิตประชาชน สภาพภูมิทัศน์กับสิ่งแวดล้อม เช่น การออกแบบหลีกเลี่ยงการตัดต้นไม้ และให้สร้างการรับรู้การก่อสร้างรถไฟไทย-จีน (กทม.-โคราช) แบ่ง 4 ตอนที่เริ่มสร้าง 3.5 กม.ก่อน เพราะเป็นพื้นที่ไม่ติดปัญหา ซึ่งการประชุมครั้งที่ 16 ปลาย พ.ย.นี้จะได้ข้อสรุป ซึ่งการพัฒนาโครงการยังยึดตามกรอบเวลาทำงานเดิม 

ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปกระทรวงการคลังเพื่อประชุมเรื่อง การประเมินอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของธนาคารโลก กล่าวว่า ในปี 2560เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถผลักดันให้อันดับดีขึ้นได้มาอยู่ในช่วง 30 อันดับแรก จากปีนี้อยู่อันดับที่ 46 โดยได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) 

"ปีนี้ต้องทำให้ดี กว่าเดิม เพราะเรื่องนี้เหมือนเป็นโจทย์ที่ธนาคารโลกแจกให้เราล่วงหน้า เราต้องรู้ว่าจะทำอะไร ตรงไหน ซึ่งรอบนี้มีเวลาถึงเดือน พ.ค. 2560 ที่จะต้องส่งการบ้าน ซึ่งผมให้ ก.พ.ร.สรุปรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบด้วย ว่าเรามีจุดอ่อนตรงไหน ใครจะต้องรับผิดชอบ" 

นายสมคิดกล่าวว่า ประเทศไทยยังมีหลายส่วนที่ปรับปรุงได้ อย่างเช่น การให้บริการไฟฟ้าที่เอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่กลับถูกมองว่าเพิ่มขั้นตอน ด้านการชำระภาษีที่หลายประเทศมีจุดบริการจุดเดียว แต่ประเทศไทยยังติดข้อกฎหมาย เพราะภาษีเกี่ยวข้องกับหลายกรม และคาบเกี่ยวกระทรวงอื่น จึงต้องค่อย ๆ ปรับปรุง แต่ส่วนที่เกี่ยวกับกรมสรรพากร ได้ให้กระทรวงการคลังเร่งลดขั้นตอนให้ได้มากที่สุด เพราะภาษีเป็นเรื่องใหญ่ และถือว่าเป็นตัวถ่วงที่ยังทำให้คะแนนยังไม่ดี ขณะที่รมว.คลังกำลังทำเรื่องอีเพย์เมนต์

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือกันด้วยว่า จะว่าจ้างธนาคารโลกเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยมีจุดไหนที่จะต้องปรับปรุง มีจุดอ่อนตรงไหนบ้าง เพื่อปรับปรุงให้อันดับดีขึ้น และสามารถช่วยเป็นปากเสียงให้ประเทศไทยได้ด้วย

"ประเด็นพวกนี้จะ เกี่ยวกับการวัดขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ถ้าทำตรงนี้ได้ดี เชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นเป้าหมายแห่งการลงทุน" นายสมคิดกล่าว