เอกชนกังขาผลรับซื้อไฟฟ้าขยะ "เจนโก้" - "แวกซ์กาเบ็จ" ปิ๋วตกเอกสารจ่ออุทธรณ์ กกพ. (5 พ.ย. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 5 พฤศจิกายน 2559
เอกชนกังขาผลรับซื้อไฟฟ้าขยะ เจนโก้-แวกซ์กาเบ็จ"ปิ๋ว"ตกเอกสารจ่ออุทธรณ์กกพ.

วงการพลังงานทดแทนวิจารณ์ผลประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมของ กกพ.บางรายไม่มีขยะในมือพอจะตั้งโรงไฟฟ้า มีความเสี่ยง ในรายที่สอบตกชวดโครงการอย่างเจนโก้ รอการชี้แจงเหตุผลว่าเพราะอะไรไม่ผ่านพิจารณา จ่อยื่นอุทธรณ์ต่อ กกพ.แสดงความพร้อมเกิน 100% ทั้งปริมาณขยะ-ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีจุดเชื่อมโยงระบบส่ง จี้ กกพ.ให้มองถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือการกำจัดขยะ 500,000 ตัน มากกว่ารายละเอียดปลีกย่อย

รายงานจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ประกาศผลการรับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558-2562 ที่มีเป้าหมายการรับซื้อและกำลังผลิตติดตั้งจำนวนไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ว่า ภายหลังจากที่เริ่มมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้ามาตั้งแต่วันที่ 22-28 กันยายน 2559 มียอดผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวน 26 ราย รวมกำลังผลิตติดตั้งกว่า 200 เมกะวัตต์ โดยหลังจากปิดรับยื่นข้อเสนอแล้ว และได้มีการพิจารณาคุณสมบัติและประเมินคำร้องและข้อเสนอขายไฟฟ้า โดยคณะอนุกรรมการที่มาจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปมี 7 โครงการ (ตาราง) ที่ผ่านการพิจารณา และเป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รวมปริมาณเสนอขาย 30.78 เมกะวัตต์ และปริมาณกำลังผลิตรวม 41.83 เมกะวัตต์ แต่กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงการพลังงานทดแทนว่า การพิจารณาครั้งนี้ไม่ได้ให้น้ำหนักไปที่เอกชนที่มีปริมาณขยะในมือ ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

แหล่งข่าวจากวงการพลังงานเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เอกชนที่ได้โครงการในลอตแรก 30 เมกะวัตต์นั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) บริษัทลูกของกลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทั้งที่มีปริมาณขยะ และ "คาดว่า" จะมีขยะ และ 2) กลุ่มที่มีขยะในมือตามวัตถุประสงค์ของภาครัฐที่ต้องการให้มีการกำจัด ทั้งนี้ในกลุ่มแรกซึ่งน่าจะมีความเสี่ยงในประเด็นวัตถุดิบที่อาจไม่พอรองรับในอนาคต และกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ ในส่วนของผู้ผลิตรายอื่นที่ไม่ผ่านการพิจารณาอย่างเช่น บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือ GENCO รวมถึงบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด นั้นมีปริมาณขยะอุตสาหกรรมในมือเกินร้อยละ 50 ของปริมาณที่อยู่ทั่วประเทศที่ 500,000 ตัน

ด้านนายรณชัย ตันตระกูล กรรมการบริหาร บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือ GENCO กล่าวว่า ขณะนี้รอเอกสารชี้แจงอย่างเป็นทางการจาก กกพ. ถึงเหตุผลที่โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมของบริษัท GENCO ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง จังหวัดชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง "ไม่ผ่าน" การพิจารณา ทั้งที่มีความพร้อมคือ 1) ปริมาณขยะรวม 240 ตัน/วัน 2) การบริหารจัดการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ 3) มีจุดเชื่อมโยงสายส่งเพื่อเข้าระบบของ กฟภ. โดยในเบื้องต้นมีการระบุถึงเหตุผลที่ไม่ผ่านการพิจารณาเพราะเอกสารไม่มีความครบถ้วน โดยเฉพาะเอกสารที่เกี่ยวข้องทางการเงิน ซึ่งภาคเอกชนมองว่าเป็นประเด็นเล็กน้อยเท่านั้น และ กกพ. "ไม่ควร" ไปให้น้ำหนักในรายละเอียดปลีกย่อย มากกว่าประเด็นที่แต่ละโครงการสามารถกำจัดขยะสะสมในภาคอุตสาหกรรม และสามารถนำขยะที่เคยลักลอบทิ้งมาเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น

"GENCO มั่นใจมากที่จะได้โครงการเพราะความพร้อมที่มีอยู่ แต่กลับไม่ผ่านด้วยเหตุผลแปลก ๆ เช่น โครงการในพื้นที่นิคมฯปิ่นทอง ที่พื้นที่สำหรับก่อสร้างโครงการอยู่ในพื้นที่ปิ่นทอง 1 แต่จุดเชื่อมโยงสายส่งอยู่ในพื้นที่นิคมฯปิ่นทอง 3 กกพ.ก็ไม่ให้ผ่านในประเด็นนี้ ในขณะนี้ที่ GENCO ได้รับการยืนยันจาก กฟภ.ว่าสามารถดำเนินการได้ ไม่ได้มีแค่ GENCO ที่ตกด้วยเหตุผลแปลก บางบริษัทตกเพราะเอกสารทางการเงิน เพราะเจ้าของโครงการเซ็นเอกสารไม่ครบก็มี เป็นต้น"

นายรณชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ บริษัทยังคงยื่นขอพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพราะยังเหลือกำลังผลิตอีก 20 เมกะวัตต์ ที่ กกพ.จะต้องเปิดรับซื้อให้ครบตามเป้าหมายที่จำนวน 50 เมกะวัตต์

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากประกาศผลการคัดเลือก ห้ามไม่ให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเปลี่ยนแปลงจุดรับซื้อไฟฟ้า หรือจุดเชื่อมโยงไฟฟ้า (Feeder) ประเภทเชื้อเพลิง (ขยะอุตสาหกรรม) และขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกินกว่าที่ประกาศ รวมถึงห้ามใช้ขยะชุมชนและถ่านหินในโครงการ ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องในการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และโครงการต้องผ่านการทำประชาคม รับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบ กกพ. ฯลฯ โดย กกพ.ขอให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา เพื่อไม่ให้กระทบกับวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในเดือนธันวาคม 2562