นายกฯ เร่งคมนาคมเคลียร์ปัญหาบุกรุก-EIA เหตุทำโครงการล่าช้า (4 พ.ย. 59)

MGR Online 4 พฤศจิกายน 2559
นายกฯ เร่งคมนาคมเคลียร์ปัญหาบุกรุก-EIA เหตุทำโครงการล่าช้า

 “นายกฯ” ตรวจการบ้าน “คมนาคม” เข็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเดินตามแผน พบปัญหาล่าช้าเหตุติดปัญหาผู้บุกรุก และไม่ผ่าน EIA สั่งบูรณาการหน่วยงานภายนอกอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ พร้อมทำความเข้าใจประชาชน ยืนยันไม่ใช้ ม.44 บังคับ ส่วนรถไฟไทย-จีน ไม่คืบ “อาคม” แจงติดปัญหาออกแบบและร่างสัญญา ยังไม่เข้าหลักกฎหมายไทย แต่ไม่ปรับเป้าเริ่มต้น 3.5 กม.ใน ธ.ค. เผยรอหารือกับจีน พ.ย.นี้อาจขยับกรอบเวลาตามเนื้องานจริง
       
       พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมกระทรวงคมนาคม ว่ามาให้กำลังใจในการทำงาน เท่าที่ติดตามโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคมพบว่าภาพรวมไม่ห่วงอะไรเพราะมีการวางแผนไว้แล้ว แต่โครงการที่ยังไม่สามารถผ่านผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) พบว่าไม่ต่ำกว่า 20 โครงการ รวมทั้งบางพื้นที่ติดปัญหาผู้บุกรุก ที่ยังไม่สามารถย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ทำให้การดำเนินโครงการล่าช้า ได้ให้ไปหาแนวทางแก้ปัญหาทั้งเข้าไปสร้างความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่ และจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้ ต้องเจรจาขอร้องกัน เพราะไม่ต้องการใช้มาตรา 44 เข้ามาแก้ไขปัญหาหรือใช้กฎหมายไปบังคับอย่างเดียวคงไม่ได้ การจัดระเบียบไม่มีใครชอบ
       
       ส่วนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน เส้นทางกำหนดชัดเจนแล้วระยะทางประมาณ 250 กม. แต่โครงการนี้ยังไม่ผ่าน EIA โดยมีแรงต่อต้านทั้งจากคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ แต่โครงการต้องดำเนินการต่อไปแน่นอน และจะต้องเห็นผลในปี 60 ซึ่งได้มอบนโยบายการจัดทำยุทธศาสตร์คมนาคม ระยะ 20 ปี (2559-2579) รวมถึงแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2560 ต้องพิจารณากำหนดแนวทางให้มีความชัดเจนต่อเนื่องกันอย่างเป็นระบบ คำนึงถึงความเป็นไปได้ของโครงการ สอดคล้องกับสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน เพื่อให้รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศดำเนินการต่อไป และเร่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนทุกภาคส่วนให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ชัดเจน
       
       อย่างไรก็ตาม ให้หน่วยงานต่างๆ เร่งรัดการดำเนินงานที่อยู่ในความรับผิดชอบให้แล้วเสร็จตามแผนงานและเป้าหมายที่กำหนดไว้ เช่น การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง เพื่อทำหน้าที่กำกับควบคุมดูแลมาตรฐานความปลอดภัย การพัฒนาการให้บริการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งการปรับปรุง บำรุงรักษารถไฟ เร่งรัดการจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่มาให้บริการเพิ่มเติม การจัดหารถโดยสารใหม่และปรับปรุงสภาพรถโดยสารเก่าให้สะอาด ปลอดภัยมากขึ้น เพื่อนำมาใช้งานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นต้น นอกจากนี้ให้เร่งปรับปรุงการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เช่น ติดตั้งลิฟต์เพิ่มเติม บันไดเลื่อน การจัดระบบการให้บริการให้สอดคล้องกับภารกิจการให้บริการ ปรับปรุงตู้โดยสารให้สามารถรองรับการเคลื่อนย้ายกระเป๋าเดินทางเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว
       
       ทั้งนี้ ให้กระทรวงคมนาคมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการพัฒนาระบบการขนส่งมวลชนให้เชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ จัดให้มีที่จอดรถสาธารณะ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชน ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ลดการใช้พลังงานและปัญหาด้านมลพิษทางอากาศและทางเสียง
       
       “นายกฯ” สั่งหาทางแก้ปัญหา ผู้บุกรุกและบูรณาการหน่วยงานนอกเช่น EIA
       
       นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้กำลังใจผู้บริหาร ข้าราชการ และพนักงานทุกคน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ขับเคลื่อนโครงการได้หลายโครงการมากพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีความล่าช้ามากว่า 10 ปี โดยในแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ปี 2559 มีแผนงาน 20 โครงการ สามารถเริ่มดำเนินการไปได้ 16 โครงการ และในปี 2560 จะเดินหน้าส่วนที่เหลือและโครงการใหม่ต่อไป โดยจะมีทั้งทางบก น้ำ อากาศ รางครอบคลุม ซึ่งนายกฯ ให้ยึดแผนแม่บทในแต่ละเรื่องเป็นแนวทางในการขออนุมัติจากรัฐบาล เช่นแผนแม่บททางหลวง 4 ช่องจราจร, แผนแม่บทรถไฟทางคู่ แผนแม่บทรถไฟความเร็วสูง แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชน
       
       ทั้งนี้ ในส่วนของยุทธศาสตร์คมนาคมขนส่ง ระยะ20 ปี (2559-2579) ซึ่งแบ่งเป็น 4 ช่วงๆ ละ 5 ปี นั้น มี 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การพัฒนาโครงข่าย การให้บริการ การพัฒนาบุคลากร การปฏิรูปกฎหมายและการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งนายกฯ แนะนำให้เริ่มต้นโครงการไปพร้อมๆ กัน และให้เกิดประสิทธิภาพการเชื่อมโยงโครงข่าย บก ราง น้ำ อากาศ หรือเชื่อมโยงเป็นระบบลอจิสติกส์
       
       นอกจากนี้ ในการทำงานจะต้องมีการบูรณาการกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เมื่อโครงการได้รับอนุมัติแต่ดำเนินการไม่ได้ เพราะยังไม่ผ่านเรื่อง EIA เป็นต้น หรือเรื่องผังเมืองซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย ต้องร่วมงานกันตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อให้สามารถนำเสนอ ครม.ได้พร้อมกันทุกเรื่องและพิจารณาในคราวเดียว เป็นหลักการทำงานที่ทำให้โครงการราบรื่น โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ปรับวิธีการทำงานโดยร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม และชุมชน หากโครงการไหนที่ยังมีประชาชนคัดค้านต้องไปพูดให้เข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วม
       
       “หลักการเจรจาให้ข้อมูลประชาชนให้ทราบว่าการพัฒนาจะทำให้ชีวิตดีขึ้น นายกฯ เน้นย้ำการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานต้องสอดรับกับโครงสร้างของประชากรในอนาคต สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน เช่น การออกแบบถนนแล้วมีการตัดต้นไม้ เป็นข้อสังการของนายกฯ และกระทรวงคมนาคม ไปแล้ว ในการออกแบบ ทางหลวง ทางหลวงชนบท ต้องเน้น การออกแบบให้กลมกลืนกับวิถีชีวิตและสภาพภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อม ไม่ใช่ออกแบบถนนให้ตรง แต่มีการตัดต้นไม้ เพื่อให้ถนนตรง ต้องหาวิธีการออกแบบเพื่อหลีกเลี่ยงและให้เกิดความสวยงามด้วย”
       
       “รถไฟไทย-จีน” ไม่คืบ แจงปัญหาออกแบบและร่างสัญญา ยังไม่เข้าหลักกฎหมายไทย
       
       นายอาคมกล่าวว่า ได้รายงานความคืบหน้าโครงการรถไฟไทย-จีนให้นายกฯ รับทราบแล้ว ซึ่งนายกฯให้สร้างความรับรู้ในเรื่องของความจำเป็นในการแบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ตอน ว่าไม่ได้หมายความว่าจะสร้างแค่ระยะทาง 3.5 กม. แต่เป็นจุดที่ไม่มีปัญหาที่ดิน เป็นพื้นที่ของรถไฟ จะก่อสร้างได้เร็วและต้องเร่งเดินหน้าด้วยความรอบคอบ โดยขณะนี้ยังติดเรื่องการถอดแบบก่อสร้างและร่างสัญญาที่มีความสำคัญอย่างมาก ถ้าหากถอดแบบระยะทาง 3.5 กม.ซึ่งเป็นตอนแรกของการก่อสร้างไม่ได้จะเริ่มต้นโครงการไม่ได้ ตอนต่อไปทำไม่ได้ เพราะแบบที่จะนำมาประมูลก่อสร้างจะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบการประมูลของประเทศไทย หากรหัสวัสดุก่อสร้างยังเป็นของจีนจะประมูลไม่ได้
       
       สำหรับเป้าหมาย เริ่มต้นการก่อสร้างได้ยืนยันกับนายกฯ ว่าไม่อยากปรับเวลาไปเรื่อยๆ แม้ยังมีความยุ่งยากใน 2 เรื่องดังกล่าว แต่หากสามารถเริ่มต้นตอนแรกได้ ตอนต่อไปจะทำได้เร็ว ซึ่งยังขีดเส้นเป้าหมายที่เดือน ธ.ค. 2559 ไว้เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีเป้าในการทำงาน แต่หากตรงไหนเสร็จไม่ทันจริงๆ สามารถขอเพิ่มเวลาปรับเวลาได้ ซึ่งได้หารือกับจีนแล้ว หากในเดือน พ.ย.นี้ จุดไหนไม่พร้อมจะต้องปรับเวลา เบื้องต้นจีนเข้าใจเพราะเงินลงทุนโครงการเป็นของไทย ดังนั้นกฎกติกาต้องเป็นของไทย