COP22 พิสูจน์หัวใจ 200 ประเทศ วาระมนุษยชาติ แสวงหา ‘รูปธรรม’ ลดโลกร้อน (5 พ.ย. 59)
Green News TV 5 พฤศจิกายน 2559
COP22 พิสูจน์หัวใจ 200 ประเทศ วาระมนุษยชาติ แสวงหา ‘รูปธรรม’ ลดโลกร้อน
… สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (Greennews)
กว่า 200 ประเทศ ที่ได้ลั่นวาจาให้คำมั่นสัญญาต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (COP 21) เมื่อช่วงปลายปี 2558 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ขณะนี้ต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดัน
นั่นเพราะ “ข้อตกลงปารีส” หรือ Paris Agreement ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมของผู้นำแต่ละประเทศ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 4 พ.ย.2559
นั่นหมายความว่า ทุกประเทศต้อง “นับหนึ่ง” เดินหน้าตามแผนการลดอุณหภูมิโลกตามที่ตัวเองประกาศไว้
Paris Agreement ผูกมัด 200 ประเทศ
สำหรับข้อตกลงปารีส ชัดเจนว่ามีเป้าประสงค์ที่จะสลัดเชื้อเพลิง “ฟอสซิล” ออกจากระบบเศรษฐกิจโลกอย่างเด็ดขาด โดยขีดเส้นไว้ภายในช่วงครึ่งปีหลังของศตวรรษที่ 21
ตั้งเป้าไว้ว่า จะต้อง “จำกัด” อุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสเป็นอย่างน้อย เมื่อเทียบกับช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรม
เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ทั่วโลกจะต้องร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกถึง 1.2-1.4 หมื่นล้านตัน ภายในปี 2573 หรือในอีก 14 ปีข้างหน้า
แล้วแต่ละประเทศมีแผนการดำเนินการอย่างไร ?
นั่นคือสิ่งที่ตัวแทนกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ต้องมาพูดคุยกันผ่านที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 22 (COP 22) ซึ่งจะ “เปิดฉาก” ในวันที่ 7 พ.ย.2559 ณ เมืองมาราเกช ประเทศโมร็อคโค
“กรอบเวลาของเรากำลังกระชับเข้ามา และปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กำลังสร้างผลกระทบยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง นี่คือข้อเท็จจริงที่การประชุมครั้งนี้จะต้องคำนึงถึงเป็นหลัก และรวบรวมวิธีการแก้ไขปัญหามาให้ได้” Patricia Espinosa Cantellano เลขานุการบริหาร อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ระบุ
เพราะนี่คือวาระของ “มนุษยชาติ” อย่างแท้จริง
ต้องจำกัดอุณหภูมิให้มากกว่า 2 องศา
ประเด็นหลักของการประชุมที่กำลังจะถึงนี้ คือการกำหนด “ยุทธวิธี” ที่จะทำให้โลกบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส ที่สำคัญก็คือมีความพยายามจะทำให้ได้เกินเป้า 2 องศาเซลเซียส คือจำกัดอุณหภูมิให้ไม่เพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
นั่นเพราะสถานการณ์ในขณะนี้ เป้าหมายที่ 2 องศาเซลเซียสนั้น อาจไม่ใช่บรรทัดฐานที่ปลอดภัยอีกต่อไป
นอกจากนี้ ในการประชุม COP22 จะมีการหารือเพื่อเพิ่มศักยภาพระหว่างประเทศซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรการต่างๆ รวมทั้งหาแนวทางสนับสนุนทางการเงินให้สำเร็จ ก่อนปี 2563
ทั้งนี้ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้ทำการศึกษาแล้วพบว่า หากโลกต้องการที่จะบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ทุกประเทศจะต้องเพิ่มความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ช่วงก่อนปี 2563 ให้มากกว่านี้อีก
ในขณะที่ช่วงหลังปี 2563 ก็ต้องเปลี่ยนคำมั่นสัญญาทั้งหลายให้กลายเป็น “รูปธรรม” ที่สามารถจับต้องได้จริง
ประเทศยากจนเหยื่อ ‘โลกร้อน’ กลุ่มแรก
อีกประเด็นสำคัญที่จะเกิดขึ้นในเวทีการประชุม COP22 ก็คือ “การแบ่งความรับผิดชอบ” อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) ซึ่ง 33 ประเทศอยู่ในทวีปแอฟริกา 13 ประเทศอยู่ในทวีปเอเชีย-แปซิฟิก และอีก 1 ประเทศอยู่ในทวีปอเมริกา
“COP 22 จะเป็นเวทีของการลงมือดำเนินงาน ซึ่ง LDC ในฐานะกลุ่มประเทศยากจนที่สุดในโลก อยากเห็นการลงมือปฏิบัติที่ทะเยอะทะยานนี้อย่างเท่าเทียม ซึ่งเราจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อที่จะสามารถสร้างกฎระเบียบที่เข้มแข็งในการดำเนินงานตามข้อตกลง” Tosi Mpanu-Mpanu ประธานกลุ่ม LDC กล่าว
ประธานกลุ่ม LDC รายนี้ ระบุว่า ในการประชุมนี้ ประเทศในกลุ่ม LDC ตั้งใจจะวางเป้าหมายการใช้พลังงานที่ยั่งยืนต่อเนื่องตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ โดยจะเดินหน้าก้าวใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นการใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดและยั่งยืน
สำหรับประเทศ LDC จะเป็นกลุ่มหลักที่มีความเปราะบางต่อภาวะโลกร้อน และจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเล ภัยพิบัติธรรมชาติ ตลอดจนภัยต่อสุขภาพและความมั่นคงทางอาหาร
มีการประมาณการกันว่าจะมีผู้คนจำนวนมากถึง 135 ล้านคน ที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียพื้นที่ดินเนื่องจากแผ่นดินถูกทำลาย ขณะที่อีกหลายสิบล้านคนเสี่ยงต่อความอดอยาก เนื่องจากไม่สามารถทำมาหากินได้ตามเดิม
“กลุ่มประเทศ LDC ต้องการทรัพยากรที่เพียงพอ เพื่อให้สามารถป้องกันประเทศจากมหันตภัยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจึงต้องการคำมั่นสัญญามากกว่านี้จากเหล่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ในการสนับสนุนทั้งด้านการเงินและเทคโนโลยี เพื่อให้กลุ่ม LDC สามารถตอบสนองกับวิกฤติการณ์นี้ได้ ควบคู่ไปกับประเทศอื่นๆ” ประธานกลุ่ม LDC ระบุ
นั่นคือความหวังของกลุ่มประเทศ LDC ซึ่งจะกลายเป็นเหยื่อรายแรกๆ หากข้อตกลงแหลกเหลว