อนามัยโลกชี้ “ตะกั่ว” ทำเด็กเอ๋อปีละ6แสน ไทยออกกม.คุม มีผลปลาย ม.ค.60 (1 พ.ย. 59)

มติชนออนไลน์ 1 พฤศจิกายน 2559
อนามัยโลกชี้ “ตะกั่ว” ทำเด็กเอ๋อปีละ6แสน ไทยออกกม.คุม มีผลปลาย ม.ค.60

นางมาเรีย ไนร่า ผู้อำนวยการฝ่ายสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพ ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกและโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้ระดมความร่วมมือจากรัฐบาลหลายประเทศ ภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกออกกฎหมายควบคุมการใช้สารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีทาอาคารภายในปี 2563 เพื่อจำกัดความสูญเสียของสังคมและงบประมาณประเทศจากการแบกรับปัญหาความเจ็บป่วยและความพิการทางสมองของเด็กจากพิษตะกั่ว

“การได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจะเกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของคนได้ โดยเฉพาะเด็กๆ ทั้งที่ทุกวันนี้การผลิตสีทาอาคารไม่จำเป็นต้องใช้สารตะกั่วอีกต่อไป เพราะเรามีทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่ามาก ดังนั้นหนทางที่ดีที่สุดที่จะเป็นหลักประกันได้ว่า สีทาอาคารที่ใช้กันอยู่ทั่วไปจะไม่มีสารตะกั่วเจือปน ก็คือการมีกฎหมายควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ว่าเป็นสีไร้สารตะกั่ว กฎหมายนี้จะต้องห้ามทั้งในเรื่องการผลิต การนำเข้า การส่งออก การจำหน่าย หรือการใช้สีทาอาคารที่มีสารตะกั่วด้วย มีการประเมินว่า สารตะกั่วเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของมนุษย์ถึงปีละ 143,000 ราย อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของความบกพร่องทางสติปัญญาของเด็กรายใหม่ราวปีละ 600,000 คน โดยร้อยละ 99 ของเด็กที่มีสารตะกั่วสะสมในร่างกายสูงจนเป็นอันตรายคือเด็กในประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ระดับต่ำถึงปานกลาง “ผู้อำนวยการฝ่ายสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม องค์การอนามัยโลก กล่าว

นส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว ว่า ในส่วนของประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ สีเคลือบแอลคีด ซึ่งหมายถึงสีตกแต่งและสีอาคาร ที่มีส่วนผสมของผงสี สารยึดแอลคีดเรซิน และสารเร่งแห้งให้ฟิล์มสีที่มีความเงา กึ่งเงา และชนิดด้าน จะต้องมีการควบคุมปริมาณโลหะหนักอันตราย 4 ชนิด ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และโครเมียมเฮกซะวาเลนด์ ให้มีปริมาณสูงไม่เกิน 100 พีพีเอ็ม ซึ่งต่อมา รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีเคลือบแอลคีดต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2557 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับในปลายเดือนมกราคม 2560 การที่ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีต่างๆ นับเป็นความสำเร็จของการรณรงค์ที่เกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่ายด้วยกัน ที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะเกิดกับเด็กไทย แม้เมื่อกฎหมายนี้ มีผลบังคับใช้แล้ว ประชาชนทุกฝ่าย ก็ยังคงจะต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบต่อไป จนกระทั่ง ทุกคนสามารถมั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์สีที่จำหน่ายในท้องตลาดทั้งหมดเป็นสีไร้สารตะกั่วและโลหะหนักอันตรายตามกฎหมาย