โรงงานรีไซเคิลราชบุรีเคยถูกตรวจพบสารปนเปื้อน (คลิป) (3 พ.ย. 59)
PPTV 3 พฤศจิกายน 2559
โรงงานรีไซเคิลราชบุรีเคยถูกตรวจพบสารปนเปื้อน (คลิป)
หลังจากที่ PPTV รายงานข่าวสถานการณ์น้ำท่วมที่ตำบลน้ำพุ อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ในพื้นที่ติดกับบ่อพักกากของเสียของโรงงานรีไซเคิล จนชาวบ้านออกมาแสดงกังวลเมื่อหน่วยงานราชการระบายน้ำลงสู่ห้วยสาธารณะ ล่าสุดทีมข่าว ตรวจสอบพบข้อมูลโรงงานรีไซเคิลดังกล่าวมีปัญหากับชุมชนมายาวนานกว่า 15 ปีแล้ว และหน่วยงานราชการก็รับรู้มาโดยตลอด
“พบการปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหย 19 จุด จาก 22 จุด” ข้อความนี้ถูกระบุในเอกสารจากสำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ ที่แจ้งผลการตรวจสอบการปนเปื้อนมลพิษในดินและน้ำใต้ดิน ในพื้นที่ตำบลน้ำพุ อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับโรงงานแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว
ผลตรวจพบ ในพื้นที่ชุมชนพบสารระเหยซีส ไดคลอโรเอธทิลีน เกินค่ามาตรฐาน ระบุจุดที่พบสูงสุดถึง 130 ไมโครกรัมต่อลิตร โดยสารระเหยดังกล่าวถูกระบุเป็นวัตถุอันตราย ตามข้อมูลที่ระบุบนฉลาก ทั้งต่อทางเดินหายใจ และอาจจะก่อให้เกิดมะเร็งได้
การตรวจสอบบ่อ น้ำบาดาลของชาวบ้านในพื้นที่ ยังพบการปนเปื้อนสารระเหยเบนซีน จนกรมควบคุมมลพิษ ห้ามใช้น้ำบาดาล ซึ่งตามมาตรฐานสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ ระบุว่า สารระเหยเบนซีน ทำให้เกิดมะเร็งในทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ทั้ง นี้บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ แต่เดิมชื่อบริษัท นิ้วเจริญ รีไซเคิล เพ้นท์ ก่อตั้งเมื่อปี 2543 เริ่มแรกทำกิจการผลิตสี อัดเม็ดพลาสติก และเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์หลายครั้ง โดยปี 2545 เพิ่มเติมการฝังกลบสิ่งปฏิกูลและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม ปี 2546 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ ชื่อปัจจุบัน ทำให้โรงงานนี้ เป็นโรงงานประเภท 105 คัดแยกขยะ และ 106 โรงงานรีไซเคิลบ ซึ่งห้ามระบายน้ำทิ้งออก ห้ามเผา และฝังกลบสิ่งปฏิกูล ต้องมีมาตรการป้องกัน และควบคุมไม่ให้มีสารพิษในดิน และมาตรการป้องกันกลิ่นด้วย
โรงงานรีไซเคิลแห่งนี้ มีรายงานพบปัญหากับชุมชนเรื่อยมา มีหลายหน่วยงานรับรู้ ทั้ง อบต.รางบัว สถานีอนามัย ผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมจังหวัด ไปจนถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จนมีคำสั่งให้ปิดโรงงานชั่วคราวมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่กี่เดือนต่อมาก็เปิดทำการเช่นเดิม
เมื่อน้ำที่ท่วม มีส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับบ่อพักกากของเสียของโรงงานและถูกระบายลงห้วยน้ำพุ แหล่งน้ำสาธารณะที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำแม่กลอง จึงสร้างความกังวลใจกับประชาชนในพื้นที่อย่างมาก