เปิดบันทึกประชุม 3 ฝ่าย นายด่านมาบตาพุด บี้เก็บภาษีเชฟรอน 3 พันล. ก่อนโดนย้าย (2 พ.ย. 59)

สำนักข่าวอิศรา 2 พฤศจิกายน 2559
เปิดบันทึกประชุม 3 ฝ่าย นายด่านมาบตาพุด บี้เก็บภาษีเชฟรอน 3 พันล. ก่อนโดนย้าย

"...การย้ายนางมนทิรา เป็นการย้ายตามปกติ แทนนายด่านศุลกากรเชียงใหม่ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการไป และมีความเหมาะสมในแง่ประสบการณ์ ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีภาษีบ.เชฟรอน ขณะที่อำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ 9 อธิบดีเป็นผู้เสนอรายชื่อ แต่ผู้มีอำนาจเซ็นคือปลัดกระทรวง.."

"พื้นที่ด่านศุลกากรมาบตาพุต เป็นพื้นที่กำลังเกิดปัญหาเรื่องการเรียกคืนภาษีน้ำมันกรณีบริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากเวลาที่มีการขนส่งน้ำมันออกไปต้องผ่านด่านนี้ ขณะที่นางมาทิรา เป็นผู้ออกมาเปิดประเด็นเรื่องรัฐกำลังสูญเสียรายได้จากกรณีนี้" 

คือ คำข้อมูลเบื้องต้นที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับจากแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับเบื้องหน้าเบื้องหลัง คำสั่งโยกย้าย นางมนทิรา เชิดชู นายด่านศุลกากร ด่านศุลกากรมาบตาพุต ไปดำรงตำแหน่ง นายด่านศุลกากร ด่านศุลกากรท่าอากาศยานเชียงใหม่ กรมศุลกากรแทน ซึ่งลงนามโดย นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2559 ที่ผ่านมา 

(อ่านประกอบ : เด้งฟ้าผ่า! นายด่านศุลกากร มาบตาพุต คนเปิดประเด็นรัฐเสียหายปมภาษีเชฟรอน)

ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ บทบาทของ "นางมนทิรา เชิดชู" ต่อกรณีภาษีน้ำมันบริษัท เชฟรอนฯ มากขึ้น  

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อมูลที่ได้รับจากคำยืนยันของแหล่งข่าวในกระทรวงการคลัง และเอกสารหลักฐาน มานำเสนอเพิ่มเติม ณ ที่นี้  

@ ข้อมูลจากแหล่งข่าว

ระบุว่า "นางมนทิรา เชิดชู เป็นข้าราชการระดับ 9 และการถูกโยกย้ายตำแหน่งครั้งนี้ ก็ไม่รู้ตัวมาก่อน เพราะเพิ่งจะย้ายมาเป็นนายด่านศุลกากรมาตาพุดได้ไม่ถึงปี"

"เมื่อได้มาเป็นนายด่านศุลกากรมาบตาพุด นางมนทิรา มีบทบาทสำคัญในการทำให้ปัญหาเรื่องเชฟรอนซึ่งถูกดองไว้ให้ยืดเยื้อมานาน โดยด่านฯเสนอไปกรมศุลกากรตั้งแต่ พฤศจิกายน 2558  สามารถจบลงได้ในการประชุม 3 ฝ่ายเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 และเป็นหนึ่งในผู้ประชุมและเป็นผู้เปิดประเด็นว่ารัฐกำลังสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากร ปรากฎตามรายงานการประชุม 3 ฝ่าย หน้าสองและสามตามลำดับ"  

"หลังจากนั้น นางมนทิรา ยังเป็นคนที่คอยติดตาม เร่งรัดให้นำมตินั้น มาบังคับใช้เพื่อให้ความเสียหายยุติโดยเร็วที่สุด"

แหล่งข่าวยังตั้งข้อสังเกตว่า "บทบาทที่ออกนอกหน้าในการรักษาผลประโยชน์แผ่นดิน บวกกับถูกระแวงสงสัยจากผู้ทรงอำนาจว่า เป็นผู้มีส่วนในข้อมูลบางส่วนที่ถูกสื่อนำไปตีข่าวจนโด่งดัง จนถูก สตง.(สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) เข้ามาตรวจสอบในที่สุด ทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นเหตุที่นำมาสู่การถูกย้ายในครั้งนี้นั่นเอง"

" ที่สำคัญ การย้ายครั้งนี้เห็นชัดว่า เป็นการย้ายจากด่านศุลกากรมาบตาพุดซึ่งถือว่าเป็นด่านใหญ่ไปด่านศุลกากรท่าอากาศเชียงใหม่ซึ่งเป็นด่านที่เล็กกว่า คือการลดชั้นเพื่อสั่งสอน และกันให้ไกลออกจากพื้นที่ที่เกิดประเด็นนั่นเอง" 

@ ข้อมูลจากเอกสาร 

ภายหลังได้รับคำยืนยันจากแหล่งข่าวดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเอกสารการประชุม 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 ประกอบไปด้วย กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีความเห็นร่วมกันว่า การส่งน้ำมันเชื้อเพลิงกรณี บริษัทเชฟรอน ไม่ถือเป็นการส่งออกไปราชอาณาจักร แต่ถือเป็นการค้าชายฝั่งซึ่งจะต้องเสียภาษีอากร 

พบข้อเท็จจริงดังนี้ 

1. นางมนทิรา ปรากฎชื่อเป็นผู้เข้าร่วมประชุมด้วย 

2. ในระหว่างการประชุมดังกล่าว นางมนทิรา ได้แสดงความเห็นต่อที่ประชุมว่า "หากตีความว่า การขนส่งของจากชายฝั่งในประเทศไทยไปยังพื้นที่ สัมปทานปิโตรเลียม นอกบริเวณทะเลอาณาเขตเป็นการส่งออก นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการยกเว้นและคืนภาษีและกองทุนน้ำมันกว่า 3,000 ล้านบาทสำหรับรายบริษัท เชฟรอนฯ ข้างต้นแล้ว ยังส่งผลให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ดำเนินการเช่นเดียวกับบริษัทเชฟรอนฯด้วย"

"โดยผู้ประกอบการจะใช้วิธีการสั่งซื้อน้ำมันจากประเทศสิงคโปร์แล้ว นำเข้าไปยังพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมโดยตรง ทำให้ไม่ต้องปฏิบัติพิธีการศุลกากรและไม่ต้องชำระค่าภาษีอากร เนื่องจากถือว่าพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าวอยู่นอกราชอาณาจักร ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็นภาษีอากร"

"นอกจากนี้ การตีความว่าการขนส่งของระหว่างชายฝั่งในประเทศและพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมเป็นการส่งออกยังขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 28/2525 ที่ระบุว่า ก๊าซธรรมชาติ ที่ขุดเจาะได้ภายในเขตไหล่ทวีปถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับจากการขุดเจาะในราชอาณาจักร ดังนั้น การนำก๊าซธรรมชาติดังกล่าว ขึ้นฝั่งทางท่อจึงไม่ใช่การนำจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักรอันจะต้องเสียอากรขาเข้าตามกฎหมายศุลกากร" (ดูเอกสารประกอบ)

ทั้งนี้ หากนำข้อมูลที่ได้รับจากเอกสาร ไปเทียบเคียงกับข้อมูลคำให้สัมภาษณ์ของแหล่งข่าว จะพบว่า มีความสอดคล้องกัน โดยเฉพาะกรณีที่นางมนทิรา เป็นผู้ออกมาเปิดประเด็นเรื่องรัฐกำลังสูญเสียรายได้จากกรณีภาษีเชฟรอน 

คำถามที่น่าสนใจตามมา คงหนีไม่พ้นประเด็นที่ว่า การที่นางมนทิรา ที่เพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งนายด่านศุลกากรมาบตาพุตได้ไม่ถึงปี แต่กลับทำหน้าที่ในการเป็นข้าราชการของแผ่นดิน ที่มีจุดยื่นในการทำงานเพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติที่ชัดเจนแบบนี้  แทนที่จะได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากผู้มีอำนาจในองค์กรเพื่อให้ทำงานเรื่องนี้จนสำเร็จลุล่วง กลับถูกโยกย้ายจากตำแหน่งไป 

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การถูกสั่งย้ายครั้งนี้ เป็นการลดชั้นเพื่อสั่งสอน และกันให้ไกลออกจากพื้นที่ที่เกิดประเด็นปัญหา 

อย่างไรก็ตาม นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร  ชี้แจงข้อเท็จจริงสำนักข่าวอิศราว่า การย้าย นางมนทิรา เป็นการย้ายตามปกติ แทนนายด่านศุลกากรเชียงใหม่ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการไป และมีความเหมาะสมในแง่ประสบการณ์ ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีภาษีบ.เชฟรอน ขณะที่อำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ 9 อธิบดีเป็นผู้เสนอรายชื่อ แต่ผู้มีอำนาจเซ็นคือปลัดกระทรวง

"สำหรับกรณีที่ปรากฎข้อมูลว่า นางมนทิรา ไปพูดในที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย ในข้อเท็จจริง นางมนทิรา ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมศุลกากรให้เป็นตัวแทนไปประชุม หลังจากเกิดปัญหาข้อกฎหมาย ดังนั้น การเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นดังกล่าว ก็ต้องเป็นไปตามที่อธิบดีได้รับมอบหมายไป" อธิบดีกรมศุลกากร