ประชาคมยก 2 ชาวเชียงราย ‘โหวตคว่ำ’ อีก! 4 หมู่บ้าน ไม่ยอมยกผืนป่า 2,300 ไร่ ให้รัฐ (1 พ.ย. 59)
Green News TV 1 พฤศจิกายน 2559
ประชาคมยก 2 ชาวเชียงราย ‘โหวตคว่ำ’ อีก! 4 หมู่บ้าน ไม่ยอมยกผืนป่า 2,300 ไร่ ให้รัฐ
… สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (Greennews)
ผลการลงคะแนนประชาคม 4 หมู่ เพื่อขอฉันทามตินำพื้นที่สาธารณะประโยชน์เลี้ยงสัตว์ขนาด 2,322 ไร่ ใน ต.บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งปัจจุบันมีสภาพเป็น “ป่าสมบูรณ์” ผืนใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำอิง ไปใช้รองรับนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2559 เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือชาวบ้าน “ไม่เห็นด้วย”
การจัดเวทีลงคะแนนเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา มีขึ้นภายหลัง “อำเภอเชียงของ” พยายามจัดเวทีประชาคมมาแล้วในวันที่ 27 ต.ค.2559 แต่วันดังกล่าวชาวบ้านได้แสดงออกถึงการคัดค้าน และส่วนใหญ่ยกมือโหวตไม่สนับสนุนและไม่ยินยอมให้ผืนป่าชุ่มน้ำแห่งนี้ ต้องถูกใช้ไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม
นั่นเป็นสาเหตุให้ “อำเภอเชียงของ” ต้องสรุปว่า ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และนำมาซึ่งการจัดเวทีประชาคม “ยก 2”
แม้ว่ารูปแบบการลงคะแนนในวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ถูกปรับเปลี่ยนให้ใช้วิธีการ “กาบัตรลงคะแนน” แทนการ “ยกมือโหวต” ออกเสียง เพื่อแก้ปัญหาความชุลมุนวุ่นวาย และเชื่อว่าจะเป็นแนวทางสร้างความโปร่งใสให้กับทุกฝ่าย
ทว่าที่สุดแล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงยืนหยัดในเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ … เสียงของประชาชนดังกังวานไปในทิศทางดั่งเดิม
ประชาคมทั้ง 2 วาระของชาวบุญเรือง จึงมีมติตรงกันว่า “ไม่ยอมยกผืนป่า” ให้ใคร
สำหรับผลการจัดประชาคม 4 หมู่บ้าน ชัดเจนว่าชาวบ้านที่ลงคะแนนในฝั่ง “ไม่เห็นด้วย” มีจำนวนมากกว่า “เห็นด้วย” ถึง 3 หมู่บ้าน
ชาวบ้านหมู่ 5 … เห็นด้วย 131 ราย ไม่เห็นด้วย 172 ราย
ชาวบ้านหมู่ 10 … เห็นด้วย 71 ราย ไม่เห็นด้วย 83 ราย
ชาวบ้านหมู่ 8 … เห็นด้วย 114 ราย ไม่เห็นด้วย 135 ราย
ขณะที่ชาวบ้านหมู่ 1 เจ้าหน้าที่ประกาศยุติการออกเสียงกลางคัน เนื่องจากเหตุการณ์สุ่มเสี่ยงต่อความไม่สงบ
ในส่วนของหมู่ 1 นั้น มีกลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยจำนวนมากออกมารวมตัวบริเวณหน้าศาลาประชาคม เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติการลงคะแนน พร้อมร่วมกันลงชื่อในหนังสือขอให้ปลดผู้ใหญ่บ้านออกจากตำแหน่ง
ทั้งนี้ เนื่องจากไม่พอใจที่ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ไปร่วมกับผู้ใหญ่บ้านหมู่อื่นๆ และกำนัน ออกมติเสนอผืนป่า “บุญเรือง” ให้เป็นตัวเลือกในการใช้รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ
นั่นทำให้ เจ้าหน้าที่ต้องประกาศยุติการลงคะแนนเสียงกลางคัน
เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร หนึ่งในผู้ร่วมสังเกตการณ์ กล่าวว่า จากการที่อนุกรรมการฯ ได้ตรวจสอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 พบว่าการประชาคมเมื่อวันที่ 27 ต.ค.นั้น เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็น จึงเห็นควรว่าให้ชะลอการทำประชามติไว้ก่อน และได้ทำหนังสือถึง ผวจ.เชียงราย ไปแล้ว
“ทางอนุกรรมการฯ เห็นว่าการใช้พื้นที่ป่าบุญเรืองจะกระทบถึงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เป็นวงกว้าง ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านยังไม่ได้รับข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจ ดังนั้นจึงควรใช้วิธีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่จะเป็นการมองได้รอบด้านกว่า” เตือนใจ ระบุ