กลุ่มค้านเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ยื่นฟ้อง กรมธนารักษ์-พนักงานที่ดิน ปมเตรียมออกเอกสารสิทธิ์ไม่ชอบ (1 พ.ย. 59)
ประชาไท 1 พฤศจิกายน 2559
กลุ่มค้านเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ยื่นฟ้อง กรมธนารักษ์-พนักงานที่ดิน ปมเตรียมออกเอกสารสิทธิ์ไม่ชอบ
ชาวบ้านกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น เข้ายื่นฟ้องกรมธนารักษ์ และพนักงานที่ดินต่อศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลก ปมเตรียมออกโฉนดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทนายความชี้ กฎหมายที่ดินให้แค่เอกชนออกโฉนดได้ ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ
1 พ.ย.2559 เวลา 13.30 น.ตัวแทนผู้เดือดร้อน กลุ่มแม่สอดรักษ์ถิน และตัวแทนชาวบ้านภาคเหนือ 60 คน เข้ายื่นฟ้องศาลปกครอง จ.พิษณุโลก ในกรณีการยื่นขอออกโฉนดของกรมธนารักษ์ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก บ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก เนื่องจากจะครบ 60 วันตามกำหนดการคัดค้านคำสั่งของสำนักงานที่ดินที่ให้สิทธิกับธนารักษ์ในการออกโฉนดในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ทั้งนี้ชาวบ้านถูกกดดัน ข่มขู่ จากทางภาครัฐและกลุ่มทุนในพื้นที่ จนต้องถอนการคัดค้านดังกล่าว จึงเหลือชาวบ้าน 6 รายที่ไม่ถอนการคัดค้าน จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง
พรภินันท์ โชติวิริยะนนท์ ตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อน กลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น กล่าวว่า ยืนยันไม่ได้ขัดขวางการพัฒนาประเทศ แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากชาวบ้านอยู่ในพื้นที่มาก่อนธนารักษ์ แต่รัฐกลับให้สิทธิกรมธนารักษ์เตรียมออกโฉนด โดยชาวบ้านยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน
หลังจากยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองพิษณุโลกได้มีชาวบ้านได้มอบดอกไม้ให้กำลังใจกับตัวแทนผู้เดือดร้อนที่ยื่นฟ้องต่อศาล
ด้าน สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความ จากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิท้องถิ่น ระบุว่ากรณีการยื่นฟ้องครั้งนี้เกิดจากการประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2558 ซึ่งนำไปสู่การที่กรมธนารักษ์ยื่นออกโฉนดที่ดิน เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2,183 ไร่ ซึ่งทับซ้อนกับที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่ ชาวบ้านจึงไปยื่นคำร้องไว้กับสำนักงานที่ดิน จนถึงที่สุดสำนักงานที่ดินได้มีคำสั่งเปรียบเทียบสิทธิ โดยระบุให้กรมธนารักษ์มีสิทธิดีกว่าชาวบ้าน แต่ในกระบวนการทางกฎหมายชาวบ้านสามารถนำเรื่องเข้าสู่ศาลเพื่อให้ศาลพิจารณาได้ เพื่อชะลอการออกโฉนดไว้ก่อน จนกว่าการพิจารณาของศาลจะแล้วเสร็จ
“สำหรับประเด็นที่ชาวบ้านฟ้อง คือมองเห็นว่าการเตรียมออกโฉนดของกรมธนารักษ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประเด็นแรกคือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2558 ไม่ได้บอกให้กรมธนารักษ์ออกโฉนด โดยหลักตามกฎหมายที่ราชพัสดุมีกฎหมายที่พูดเรื่องการจัดการอยู่แล้ว แต่การออกโฉนดจะมีการเซ็นต์เอกสารสิทธิ์ เหทือนกับที่ดินของเอกชน ซึ่งเข้าใจว่ารัฐจะเตรียมพร้อมไว้เพื่อเอื้อให้กับเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนสามารถเช่าที่ดินในระยะยาวได้ ซึ่งเราคิดว่าขัดกับประมวลกฎหมายที่ดิน เพราะการออกโฉนดในกฎหมายที่ดิน เป็นเรื่องของเอกชนในการออกโฉนดที่ดิน ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ” สุมิตรชัย กล่าว
..........
แถลงการณ์
“ทำไม ? เราต้องโดนพรากที่ดินทำกิน ถิ่นอาศัย”
“ทำไม ? เราต้องเป็นเหยื่อของเขตเศรษฐกิจพิเศษ”
จากที่รัฐบาลประกาศคำสั่งที่ 17/2558 เรื่องการจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ปี 2557 ได้กำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว หนองคาย ตราด อีกทั้งยังมีการผลักดัน พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้สิทธิพิเศษต่างๆ เอื้อประโยชน์ต่อทุนเอกชน โดยเฉพาะการจะให้สิทธิการเช่าที่ดินถึง 99 ปี ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ ทุนต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของแผ่นดินไทย ในขณะที่ประชาชนในประเทศส่วนใหญ่ไม่มีแม้กระทั่งที่ดินทำกินหรืออยู่อาศัย ซ้ำร้ายนโยบายดังกล่าวยังได้พรากเอาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยและสิทธิของชุมชนไปอย่าง ไม่เป็นธรรม
“เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก” เป็นหนึ่งในสิบของพื้นที่ดำเนินการ มีจำนวนพื้นที่ 2,183 ไร่ ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ที่เป็นชุมชน ซึ่งมีประวัติศาสตร์การใช้ที่ดินอยู่อาศัยตั้งแต่ยุคก่อรูปชุมชนในปี พ.ศ.2400 แต่วันนี้ชีวิตพวกเขากำลังถูกภัยจากนโยบายรัฐคุกคาม แม้กว่า 1 ปี 5 เดือน ที่ผ่านมา ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบและ “กลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น” จะลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมจากการสูญเสียที่ดินของตนเอง ท่ามกลางการถูกกดดัน ข่มขู่ อ้างการ ใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาดกับผู้ที่คัดค้านและไม่เคยเหลียวแลแก้ไข ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม วัฒนธรรม วิถีชุมชน และการไร้สิทธิในการมีส่วนร่วมในการตัดสินชะตาชีวิตของคนในชุมชน
กรณี “ชาวบ้านวังตะเคียน” ได้ถูกดำเนินการเร่งออกโฉนดโดยอ้างถึงคำสั่งที่ 17 /2558 ตาม มาตรา 44 เพื่อนำพื้นที่พัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมและพยายามยื่นคัดค้านกับสำนักงานที่ดินตาก สาขาแม่สอด แต่ก็ไม่เป็นผล ภาวะความกดดัน ความกลัวต่ออำนาจรัฐทำให้ชาวบ้านจำนวนมากต้องยอมถอนการคัดค้าน วันนี้เหลือเพียงเหลือชาวบ้านเพียง 6 รายที่ไม่ถอนการคัดค้านและตัดสินใจต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ต่อศาลปกครอง
เราจะยังยืนหยัดเรียกร้องความเป็นธรรม ต่อสู้กับผลกระทบจากนโยบายรัฐที่ไม่เห็นความสำคัญกับชีวิตของชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้รัฐบาลและสังคมไทยได้เห็นว่าพวกเราคือหนึ่งในผู้เดือดร้อน เราคือผู้ที่กำลังถูกพราก ที่ดินทำกิน ถิ่นอาศัย เราเป็นเหยื่อของเขตเศรษฐกิจพิเศษและประวัติศาสตร์สังคมไทยจะต้องจารึกเรื่องราวของพวกเราให้แก่สังคมและลูกหลานในอนาคตได้รับรู้
ด้วยจิตคาราวะและเชื่อมั่นในพลังประชาชน
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ,เครื่อข่ายสิ่งแวดล้อมภาคประชาชน
จ.พิษณุโลก,สหพันธ์รักษ์เมืองตาก,สมัชชาประชาชนสุโขทัย, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(P-Move)
1 พฤศจิกายน 2559
ณ ศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลก