องค์การอนามัยโลกเร่งเครื่องประเทศสมาชิกออก กม. คุมสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีภายในปี 2563 (30 ต.ค. 59)
ประชาไท 30 ตุลาคม 2559
องค์การอนามัยโลกเร่งเครื่องประเทศสมาชิกออก กม. คุมสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีภายในปี 2563
ทุกสัปดาห์ปลายเดือนตุลาคมถือเป็น 'สัปดาห์แห่งการรณรงค์เพื่อป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว' หวังทุกชาติร่วมกันขับเคลื่อนและรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้สารตะกั่วในการผลิตสี ทาอาคารและสีตกแต่งภายในปี พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นการป้องกันเด็กไม่ให้รับอันตรายจากสารตะกั่วในสี รวมทั้งลดความเสี่ยงของคนงานในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการตกแต่งด้วย เพื่อให้สังคมโดยรวมมีความปลอดภัยจากพิษสารตะกั่ว
30 ต.ค. 2559 องค์การอนามัยโลกและโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้ระดมความร่วมมือจากรัฐบาลหลายประเทศ ภาคประชาสังคมและภาคเอกชนเนื่องในวาระ "สัปดาห์แห่งการรณรงค์เพื่อป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว” ในปลายเดือนตุลาคมนี้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกออกกฎหมายควบคุมการใช้สาร ตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีทาอาคารภายในปี 2563 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า เพื่อจำกัดความสูญเสียของสังคมและงบประมาณประเทศจากการแบกรับปัญหาความเจ็บ ป่วยและความพิการทางสมองของเด็กจากพิษตะกั่ว สำหรับประเทศไทย กฎหมายควบคุมสารตะกั่วในสีทาอาคารจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2560
นับ จากที่หลายประเทศทั่วโลกได้มีกฎหมายห้ามเติมสารตะกั่วในน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับรถยนต์ ระดับสารตะกั่วในเลือดเด็กได้มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลก ยังคงพบปัญหาเด็กในประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ระดับต่ำถึงปานกลางมีสาร ตะกั่วในเลือดสูง รวมทั้งพบว่าเด็กจำนวนมากในประเทศเหล่านี้มีพัฒนาการทางสมองและเชาว์ปัญญา บกพร่องหรือผิดปกติ ซึ่งสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้เด็กได้รับสารตะกั่วเข้าไปสะสมในร่างกาย มาจากสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีตกแต่งและสีทาบ้านที่หลุดลอกหรือกลายเป็นฝุ่นสี ฟุ้งกระจายตามพื้นต่างๆ โดยเด็กอาจรับประทานหรือหายใจเอาฝุ่นเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกาย
ดร. มาเรีย ไนร่า ผู้อำนวยการฝ่ายสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพ ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า
“การ ได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจะเกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของคนได้ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ทั้งที่ทุกวันนี้การผลิตสีทาอาคารไม่จำเป็นต้องใช้สารตะกั่วอีกต่อไป เพราะเรามีทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่ามาก ดังนั้นหนทางที่ดีที่สุดที่จะเป็นหลักประกันได้ว่า สีทาอาคารที่ใช้กันอยู่ทั่วไปจะไม่มีสารตะกั่วเจือปน ก็คือการมีกฎหมายควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ว่าเป็นสีไร้สารตะกั่ว กฎหมายนี้จะต้องห้ามทั้งในเรื่องการผลิต การนำเข้า การส่งออก การจำหน่าย หรือการใช้สีทาอาคารที่มีสารตะกั่วด้วย”
องค์การอนามัยโลกเคยมีการ ประเมินว่า สารตะกั่วเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของมนุษย์ถึงปีละ 143,000 ราย อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของความบกพร่องทางสติปัญญาของเด็กรายใหม่ราวปีละ 600,000 คน โดยร้อยละ 99 ของเด็กที่มีสารตะกั่วสะสมในร่างกายสูงจนเป็นอันตรายคือเด็กในประเทศกำลัง พัฒนาที่มีรายได้ระดับต่ำถึงปานกลาง
ในปี พ.ศ. 2556 องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่ผลการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทำการศึกษาเรื่องต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากปัญหาการได้รับสารตะกั่วของ ประชากรวัยเด็กที่มีอายุไม่เกิน 5 ขวบในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับต่ำถึงปานกลาง
นักวิจัยที่ทำการ ศึกษาเรื่องนี้คือ เทเรซ่า เอ็ม แอตทินา จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และลีโอนาร์โด ทราซันเด ซึ่งทำงานประจำอยู่หลายภาควิชา อาทิเช่น ภาควิชาเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม, ภาควิชาสุขภาพประชากร คณะแพทย์ศาสตร์ และภาควิชาอาหารและโภชนาการศึกษา และภาควิชาอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผลการศึกษานี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Environmental Health Perspectives ฉบับที่ 121 เลขที่ 9 กันยายน 2556
การศึกษานี้ยืนยันว่า การได้รับสารตะกั่วในวัยเด็กของเด็กในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ส่งผลต่อความสูญเสียผลิตภาพการผลิตทางเศรษฐศาสตร์ตลอดช่วงชีวิตของคนนั้น (lifetime economic productivity) ความสูญเสียนี้คำนวณออกมามีมูลค่ารวมสูงถึงปีละ 977 พันล้านดอลล่าร์สากล โดยแบ่งเป็นมูลค่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศแอฟริกาเฉลี่ย 134.7 พันล้านดอลล่าร์สากล (หรือเทียบเท่า 4.03% ของจีดีพีโลก) ขณะที่ในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาและแคริบเบียนมีมูลค่าความสูญเสียเฉลี่ย 142.3 พันล้านดอลล่าร์สากล (2.04% ของจีดีพีโลก) สำหรับภูมิภาคเอเชียมูลค่าของความสูญเสียเฉลี่ยอยู่ที่ 699.9 พันล้านดอลล่าร์สากล (1.88% ของจีดีพีโลก)
ทั้งนี้ เฉพาะกลุ่มประเทศเอเชียที่รวมอยู่ในการศึกษาวิจัยดังกล่าวประกอบด้วย กลุ่มเอเชียตะวันออก ได้แก่ ประเทศจีน และมองโกเลีย, กลุ่มเอเชียใต้ ได้แก่ อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย อิหร่าน เนปาล ปากีสถาน และบังคลาเทศ, กลุ่มเอเชียกลาง ได้แก่ คาซัคสถาน คีร์กิสสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสสถาน อุซเบกิสถาน, กลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ติมอร์เลสเต และไทย
สำหรับ ประเทศไทย ได้มีการประเมินความสูญเสียด้านผลิตภาพการผลิตทางเศรษฐศาสตร์ที่มีสาเหตุ เกี่ยวข้องกับการสัมผัสสารตะกั่วในวัยเด็ก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายปีละประมาณ 154,910 ล้านบาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นสี่พันเก้าร้อยสิบล้านบาท) หรือเทียบเท่า 2.07% ของจีดีพี
ผู้ วิจัยทั้งสองคนคือแอตทินาและทราซันเด มีความเห็นว่า ความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ที่มีมูลค่ามหาศาลในลักษณะนี้ เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ หากประเทศเหล่านี้มีการดำเนินนโยบายเชิงป้องกัน และการป้องกันที่ดีเพื่อลดความสูญเสียทั้งทางสุขภาพและเศรษฐกิจนี้จำเป็นจะ ต้องมีการควบคุมพิษภัยจากสารตะกั่วอย่างจริงจัง ซึ่งหน่วยงานทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนควรจะต้องร่วมกันแสวงหามาตรการ เชิงป้องกันให้ดีพอ เพราะการเพิกเฉยต่อปัญหานี้รังแต่จะทำให้แต่ละประเทศต้องแบกรับปัญหาความ เสียหายทั้งเชิงเศรษฐศาสตร์และสุขภาพสูงมาก ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมของการสร้างรายได้ประชาชาติอีกด้วย
ด้วยเหตุผล ดังกล่าว องค์การอนามัยโลกจึงได้ร่วมมือกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติก่อตั้ง "พันธมิตรระดับโลกเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสี" (Global Alliance to Eliminate Lead Paint: GAELP) ขึ้นใน พ.ศ. 2553 นอกจากนี้เครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่ง แวดล้อม (IPEN) ก็ได้ร่วมกันขับเคลื่อนและรณรงค์ให้ทุกประเทศมีนโยบายและกฎหมายยกเลิกการใช้ สารตะกั่วในการผลิตสีทาอาคารและสีตกแต่งภายในปี พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นการป้องกันเด็กไม่ให้รับอันตรายจากสารตะกั่วในสี รวมทั้งลดความเสี่ยงของคนงานในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการตกแต่งด้วย เพื่อให้สังคมโดยรวมมีความปลอดภัยจากพิษสารตะกั่ว โดยเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เลิกผลิตและจำหน่ายสีทาอาคารที่ส่วนผสมของสารตะกั่ว และกำหนดให้สัปดาห์ปลายเดือนตุลาคมของทุกปีเป็น "สัปดาห์แห่งการรณรงค์เพื่อป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว” ซึ่งปีที่แล้ว (2558) ได้มี 39 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย เข้าร่วมโครงการ โดยมีกิจกรรมรณรงค์เกิดขึ้นรวม 87 เมือง/จังหวัด สำหรับปี 2559 นี้สัปดาห์รณรงค์คือ ระหว่างวันที่ 23-29 ตุลาคม 2559
ทั้งนี้ ประเทศพัฒนาแล้วหรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ได้มีกฎหมายหรือข้อบังคับควบคุมปริมาณการใช้สารตะกั่วในการผลิตสีตกแต่งและ สีทาอาคารต่างๆ ทั้งสีที่ใช้ทาภายในและภายนอกอาคาร เช่น บ้าน โรงเรียน อุปกรณ์ เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นต่างๆ โดยเริ่มมีกฎหมายควบคุมตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ซึ่งมาตรฐานเข้มงวดที่สุดที่หลายประเทศได้กำหนดไว้คือ ห้ามไม่มีสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีทาอาคารหรือสีตกแต่งเกิน 90 พีพีเอ็ม (1 ส่วนใน 1 ล้านส่วน) ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาบางแห่ง เช่น สิงคโปร์ และศรีลังกา มีมาตรฐานควบคุมไม่ให้มีสารตะกั่วเกิน 600 พีพีเอ็ม
ใน ส่วนของประเทศไทย ได้มีการรณรงค์เพื่อให้มีการเพิกถอนสารตะกั่วจากสีทาอาคารโดยมูลนิธิบูรณะ นิเวศ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ในปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา และต่อมาสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งกำกับดูแลเรื่องนี้ได้ยอมรับข้อเรียกร้องของภาคประชาชนและนักวิชาการที่ ต้องการให้มีกฎหมายบังคับในเรื่องดังกล่าว และในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4622 (พ.ศ. 2557) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีเคลือบแอลคีด: เฉพาะด้านความปลอดภัย (มอก. 2625-2557) โดยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ สีเคลือบแอลคีด ซึ่งหมายถึงสีตกแต่งและสีอาคาร ที่มีส่วนผสมของผงสี สารยึดแอลคีดเรซิน และสารเร่งแห้งให้ฟิล์มสีที่มีความเงา กึ่งเงา และชนิดด้าน จะต้องมีการควบคุมปริมาณโลหะหนักอันตราย 4 ชนิด ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และโครเมียมเฮกซะวาเลนด์ ให้มีปริมาณสูงไม่เกิน 100 พีพีเอ็ม ซึ่งต่อมา รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีเคลือบแอลคีดต้อง เป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2557 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนที่ 10 ก หน้า 11 วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559 ซึ่งจะมีผลบังคับในปลายเดือนมกราคม 2560
ดังนั้น อีกไม่นานนับจากนี้ ประเทศไทยจะห้ามผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สีทาอาคารและสีตกแต่งต่างๆ ที่มีสารตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และโครเมียมเฮกซะวาเลนด์ที่มีปริมาณสูงเกินค่าที่กำหนด
ในส่วนของ องค์กรที่ร่วมรณรงค์และผลักดัน เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ได้กล่าวให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า การที่ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีต่างๆ นับเป็นความสำเร็จของการรณรงค์ที่เกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่ายด้วยกัน โดยเฉพาะหน่วยงานด้านสาธาณสุข เช่น กรมควบคุมโรค เป็นต้น ที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะเกิดกับเด็กไทย ซึ่งเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคตของประเทศ
“...อย่างไร ก็ดี แม้เมื่อกฎหมายควบคุมสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สีมีผลบังคับใช้แล้ว ประชาชนทุกฝ่ายซึ่งรวมถึงผู้บริโภคเอง ก็ยังคงจะต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบต่อไป โดยเฉพาะในส่วนของการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย จนกระทั่งเราทุกคนสามารถมั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์สีที่จำหน่ายในท้องตลาดทั้งหมดเป็นสีไร้สารตะกั่วและโลหะหนัก อันตรายตามกฎหมาย
เราต่างก็หวังว่า สักวันหนึ่ง ในระยะยาว สีที่มีส่วนผสมของโลหะหนักเหล่านี้ทั้งในรูปผลิตภัณฑ์ สีที่ทาตามอาคารและสิ่งของต่างๆ จะทยอยหมดไปจากประเทศไทยได้จริง ซึ่งหมายความว่าคนที่ต้องทำงานหรือสัมผัสกับสีเหล่านี้ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่พิษตะกั่วส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองอย่างน่าเป็นห่วง จะปลอดภัยจากพิษของตะกั่วมากขึ้น รวมถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องสูญเสียเป็นเงินมหาศาลไปกับการรักษาพยาบาล ทั้งที่สามารถป้องกันได้ ก็จะลดน้อยลง...” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าว