ครม. ปิดเหมืองอัครา "ส่อล่ม" - อุตฯหวั่นพ.ร.บ.แร่ไร้อำนาจ (30 ต.ค. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 30 ตุลาคม 2559
ครม.ปิด "เหมืองอัครา" ส่อล่ม อุตฯหวั่นพ.ร.บ.แร่ไร้อำนาจ

"อรรชกา" ขอทบทวนอำนาจ พ.ร.บ.แร่ สั่งปิดเหมืองทองอัคราฯได้หรือไม่ หลังพลิกตำราแล้วไม่พบ พ.ร.บ.ฉบับไหนสั่งปิดเหมืองได้ เตรียมตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแร่ นายกฯนั่งประธานสางปัญหา

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 มีคำสั่งให้ต่อใบอนุญาตโรงประกอบโลหกรรม บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด หรือเหมืองแร่ทองคำชาตรีครอบคลุม จ.พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2559 จากนั้นบริษัทอัคราฯได้ยื่นขออุทธรณ์ขยายใบอนุญาตไปถึงปี 2571 โดยแจ้งว่า ยังมีแร่ทองคำเหลือ 40 ล้านตัน ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงหารือร่วมกับนายอาทิตย์ วุฒิคะโร อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อดีตอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และนายธวัช ผลความดี อดีตเลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งเป็นทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เพื่อพิจารณาอำนาจของพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ว่าสามารถปิดเหมืองแร่ทองคำอัคราฯได้หรือไม่ หลังจากนั้นจะนำเรื่องดังกล่าวหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายอีกครั้ง คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะยืนยันได้ว่า พ.ร.บ.แร่ที่ใช้อยู่สามารถปิดโรงประกอบโลหกรรมของอัคราฯได้หรือไม่ 

"ตอนนี้ยังไม่มี พ.ร.บ.ฉบับไหนสั่งปิดเหมืองได้ เว้นแต่มีหลักฐานและพบว่ามีความผิดจริง เราต้องย้อนกลับไปดูเรื่องกรอบของกฎหมาย และเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยและออสเตรเลียอีกครั้งตามที่มติครม.มีคำสั่งมารอบที่ 2 ซึ่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาตามกฎหมาย แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่าอัคราฯจะเปิดดำเนินการได้ต่อหลังสิ้นปี ส่วนผลการตรวจทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อมยอมรับว่าช้า จากที่ต้องแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้"

ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ เตรียมจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่ โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ขึ้นมาทำหน้าที่กำหนดนโยบายแผนแม่บท กรอบการบริหารจัดการแร่ในประเทศ รวมไปถึงการกำหนดพื้นที่ หลักการสำรวจแร่ให้มีความครอบคลุมมากขึ้น ทั้งนี้ จะเป็นการบูรณาการกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดมาตลอดหลายปี มีความขัดแย้งขึ้นในชุมชนรอบเหมือง โดยอ้างทั้งปัญหาสุขภาพและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯยังไม่สามารถสรุปผลการตรวจได้ชัดเจน แต่กระทรวงอุตสาหกรรมยังต้องดำเนินตามคำสั่งมติ ครม. เนื่องจากรัฐบาลยึดชุมชนลดปัญหาความขัดแย้งเป็นส่วนหลักสำคัญ ด้วยนโยบายป้องกันเชิงสาธารณะ

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นับจากได้รับมติ ครม.อย่างเป็นทางการตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา อัคราฯได้พยายามรวบรวมผลการสำรวจรอบพื้นที่เหมืองทอง ขณะเดียวกันได้สำรวจความคิดเห็นความพึงพอใจของประชาชนรอบเหมืองทั้ง 29 หมู่บ้าน พบว่าชาวบ้าน 88% พึงพอใจถึงพึงพอใจมากที่ให้เหมืองอยู่ร่วมกับชุมชนต่อไป และกว่า 93.6% ไม่ได้รับผลกระทบ

จากการทำเหมือง แต่มีข้อเสนอแนะให้บริษัทเพิ่มความเข้าใจแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารให้ประชาชน ได้ทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความวิตกกังวล ทั้งนี้ บริษัทยังคงให้การช่วยเหลือชาวบ้าน ทั้งการปรับปรุงน้ำประปาบาดาล สนับสนุนการศึกษา รวมถึงการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่เหลือ 2 เดือนก่อนสิ้นปี อัคราฯเตรียมยื่นขอต่อใบอนุญาตโรงประกอบโลหกรรมภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบที่สามารถยื่นขอต่อได้ภายในกรอบ 60 วัน ก่อนปิดโรงประกอบฯ