เมินมติชาวบ้านยืนกรานปกป้องผืนป่า 2,300 ไร่ รัฐลุยไฟเดินหน้าจัด ‘ประชาคม’ รอบสองจันทร์นี้ (29 ต.ค. 59)

Green News TV 29 ตุลาคม 2559
เมินมติชาวบ้านยืนกรานปกป้องผืนป่า 2,300 ไร่ รัฐลุยไฟเดินหน้าจัด ‘ประชาคม’ รอบสองจันทร์นี้

… สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (Greennews)

ภายหลังการประชุมประชาคม 4 หมู่บ้าน ใน ต.บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2559 เพื่อขอฉันทามตินำพื้นที่สาธารณประโยชน์ป่าชุ่มน้ำบุญเรืองขนาด 2,322 ไร่ มารองรับนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย “ล้มไม่เป็นท่า” เนื่องจากชาวบ้านหมู่ 1, 5, 8 และ 10 ร่วมกันผนึกกำลัง “โหวตคว่ำ” ไม่ยินยอมมอบผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์อายุกว่า 200 ปี ให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม

รัฐลุยไฟจัดประชาคมซ้ำอีกรอบ
ล่าสุด ความพยายามของภาครัฐในการ “เดินหน้า” แปรสภาพป่าชุมชนซึ่งปัจจุบันมีสถานะเป็น “ที่ดินสาธารณประโยชน์” ให้กลายเป็น “ที่ดินราชพัสดุ” ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

คำรณ ศรีโพธิ์ ปลัดอาวุโสอำเภอเชียงของ จ.เชียงราย บอกกับสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (Greennews) ว่า ที่ผ่านมาป่าบุญเรืองเคยถูกเสนอเพื่อรองรับนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและถูกคัดค้านไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2558 ก่อนที่จะมีการโยกย้ายไปยัง ต.สถาน และถูกคัดค้านอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่จังหวัดได้มีคำสั่งให้หาพื้นที่ใหม่ ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงกรรมการหมู่บ้านใน ต.บุญเรือง ได้มีหนังสือไปถึง ผวจ.เชียงราย ขอให้กลับมาทบทวนใช้พื้นที่นี้อีกครั้ง ทาง ผวจ.เชียงราย จึงมอบหมายให้อำเภอเข้ามาดูว่าชาวบ้านเห็นด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ จะมีการจัดเวทีประชาคมพร้อมกันทั้ง 4 หมู่บ้านอีกครั้ง ในช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 31 ต.ค.2559 (08.00-12.00 น.) โดยครั้งนี้จะเปลี่ยนจากการ “ยกมือ” ออกเสียง เป็นการ “กาบัตร” แทน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งเหมือนการออกเสียงเมื่อวันที่ 27 ต.ค.2559

ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินการหลังจากทราบผลประชาคมแล้ว ทางอำเภอเชียงของจะนำส่งรายงานเสนอต่อ ผวจ.เชียงราย เพื่อนำผลสรุปเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

“แม้ชุมชนจะมีมติเห็นด้วย แต่การพิจารณาเลือกพื้นที่ยังคงมีอีกหลายขั้นตอน ซึ่งทางคณะกรรมการจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมและความคุ้มทุนอีกครั้ง”ปลัดอาวุโส อ.เชียงของ ระบุ

คำรณ ระบุอีกว่า หากการประชาคมผ่าน ทางอำเภอก็สามารถพาชาวบ้านไปศึกษาดูงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดำเนินการไปได้ เช่น นครพนม หรือแม่สอด เนื่องจากทางอำเภอได้งบเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนงวดแรกมาแล้ว แต่หากไม่ผ่านทางอำเภอก็จะนำงบดังกล่าวไปสนับสนุนในด้านอื่นๆ แทน

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามีความพยายามหลายครั้งในการแปรสภาพ-เพิกถอนสถานะผืนป่าแห่งนี้ให้กลายเป็น “ที่ราชพัสดุ” นั่นเพราะในปัจจุบันที่ดินใน อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีราคาพุ่งสูงถึงไร่ละ 5-6 ล้านบาท ทำให้เอกชนไม่กล้าเข้ามาซื้อเพื่อลงทุน

สาเหตุที่รัฐยังดำเนินการไม่สำเร็จ เนื่องจากชาวบ้านบุญเรืองหมู่ 2 ซึ่งมีเนื้อที่ป่าส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณไม่ยินยอม และร่วมกันต่อต้านมาโดยตลอด แต่การจัดประชาคมครั้งนี้ กลับไม่มีการเชิญให้ “หมู่2″ เข้ามาร่วมแต่อย่างใด

กสม.ร่อนหนังสือยับยั้งฮุบป่าชุมชน
ความคับข้องใจของชาวบ้าน ต.บุญเรือง ที่ต่างรู้สึกว่ากำลังถูก “ละเมิดสิทธิชุมชน” กลายเป็นความชอบธรรมในการต่อสู้พิทักษ์ผืนป่า ภายหลัง เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ทำหนังสือลงวันที่ 27 ต.ค.2559 ถึง บุญส่ง เตชะมณีสถิต ผวจ.เชียงราย พร้อมทั้งสำเนาถึงนายอำเภอเชียงของ เพื่อขอให้ “ชะลอ” การทำประชาคม 4 หมู่บ้าน เนื่องจากได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชนว่าเป็นการจัดประชาคมอย่าง “เร่งรัด” โดยที่ยังไม่ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจ หรือเปิดเผยข้อมูลให้ชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประกอบการตัดสินใจอย่างเพียงพอ

ตอนหนึ่งของหนังสือ ระบุว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าการรับฟังความคิดของประชาชนเกี่ยวกับโครงการรัฐจะต้องดำเนินการสอสดคล้องกับ มาตรา 57 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พงศ.2548 ซึ่งต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจ เช่น ความจำเป็นและวัตถุประสงค์ของโครงการ สาระสำคัญและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

“จังหวัดเชียงรายควรพิจารณาชะลอการทำประชาคมดังกล่าวอออกไปก่อนตามที่ประชาชนร้องมา และควรดำเนินการชี้แจง เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอต่อการตัดสินใจ ก่อนการลงประชาคมในเรื่องดังกล่าวในเวลาที่เหมาะสมต่อไป” หนังสือ กสม.ระบุ

‘ประชาคมหมู่บ้าน’ ต้องยึดเสียงข้างมากเป็นมติ
ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การเป็นกรรมการหมู่บ้าน การปฏิบัติหน้าที่และการประชุมของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ.2551 ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2551 หมวด 4 การประชุม มีสาระสำคัญที่น่าสนใจหลายประการ

ในข้อที่ 39 นิยามคำว่า “ประชาคมหมู่บ้าน” หมายถึง การประชุมราษฎรในหมู่บ้านผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้าน

อย่างไรก็ตามใน ข้อ 44 ระบุว่า ในการพิจารณาลงมติเรื่องใด หากที่ประชุมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องรับฟังความเห็นของราษฎรในหมู่บ้าน หรือเป็นเรื่องที่จะมีผลกระทบกับวิถีชีวิตของราษฎรในหมู่บ้าน หรือเป็นเรื่องที่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือหนังสือสั่งการให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมประชาคมหมู่บ้าน คณะกรรมการอาจมีมติให้มีการประชุมประชาคมหมู่บ้านเพื่อรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวก็ได้

ทั้งนี้ การลงมติของที่ประชุมประชาคมหมู่บ้านให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ เว้นแต่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือหนังสือสั่งการกำหนดไว้เป้นอย่างอื่น

นอกจากนี้ เมื่อที่ประชุมประชาคมหมู่บ้านลงมติในเรื่องใดแล้ว ให้คณะกรรมการประกาศให้ราษฎรในหมู่บ้านทราบโดยทั่วกัน ทั้งนี้มติประชามต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและระเบียบของทางราชการ

เปิดระเบียบ ‘รับฟังความเห็น’ ต้องแจ้งล่วงหน้า 15 วัน
ขณะที่สาระสำคัญของ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2548 ระบุไว้ในข้อ 11 ว่า ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หน่วยงานของรัฐต้องประกาศให้ประชาชนทราบถึงวิธีการรับฟังความคิดเห็น ระยะเวลา สถานที่ ตลอดจนรายละเอียดอื่นที่เพียงพอแก่การที่ประชาชนจะเข้าใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้

สำหรับประกาศดังกล่าว ให้ปิดไว้โดยเปิดเผย ณ สถานที่ปิดประกาศของหน่วยงานของรัฐและสถานที่ที่จะดำเนินโครงการของรัฐนั้น เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนการเริ่มดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และให้ประกาศในระบบเครือข่ายสารสนเทศที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดให้มีขึ้นตามระเบียบนี้

นอกจากนี้ ในข้อ 13 ระบุไว้ว่า เมื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วปรากฏว่าการดำเนินโครงการของรัฐโครงการใดอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนมากกว่าข้อมูลที่เผยแพร่ให้กับประชาชน ถ้ายังมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป หน่วยงานรัฐต้องกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมก่อนเริ่มดำเนินการ และประกาศให้ประชาชนทราบ

อย่างไรก็ดี การประชุมตามข้อสั่งการของ ผวจ.เชียงราย ชาวบ้านทราบล่วงหน้าเพียง 2 วันเท่านั้น กล่าวคือ “บุญส่ง” ในฐานะพ่อเมืองเชียงราย ทำหนังสือถึงผู้ที่เกี่ยวข้องลงวันที่ 25 ต.ค.2559 เพื่อให้จัดเวทีประชาคมขึ้นในวันที่ 27 ต.ค.2559