"บิ๊กตู่" เร่งเมกะโปรเจ็กต์ภาคใต้ เชื่อมการค้า "อ่าวไทย-อันดามัน" (23 ส.ค. 59)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 23 สิงหาคม 2559
"บิ๊กตู่" เร่งเมกะโปรเจ็กต์ภาคใต้ เชื่อมการค้า "อ่าวไทย-อันดามัน"
ขณะที่ "รัฐบาลประยุทธ์" กำลังจุดพลุเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ด้วยการดึงทุน "จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้" ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมจะตั้งเป็นเขตส่งเสริมการพัฒนา
ในส่วนของ "พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้" กำลังเร่งศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ใหม่หลังมีโครงการระดับเมกะโปรเจ็กต์ หลายโครงการที่หลายรัฐบาลจัดคิวลงพื้นที่มีมูลค่าลงทุนกว่า 2.6 แสนล้านบาท ยังมีเสียงต้านจากคนในพื้นที่ และไม่ผ่านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)
ทั้งที่ผ่านการศึกษามานับ 10 ปี ไม่สอดรับกับศักยภาพของพื้นที่มีมูลค่าการค้าทะลุ 5 แสนล้านบาทต่อปี จากการเป็นฮับการขนส่งสินค้าทางทะเลไปยังประเทศเมียนมา อินเดีย และบังกลาเทศ
ล่าสุด "รัฐบาลบิ๊กตู่" สั่งให้ " สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร" นำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ชายทะเลภาคใต้กลับมาดูอีกครั้ง
ปัจจุบันกำลังลงพื้นที่ฟังเสียงสะท้อนของประชาชน ครอบคลุมฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน เน้นพื้นที่ี่มีการเชื่อมโยงของโครงข่ายคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์เชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Land Bridge) ครอบคลุม 6 จังหวัด ได้แก่ จ.ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช กระบี่ สงขลา และสตูล
เมื่อวันที่ 18-19 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นคิวของนครศรีธรรมราชที่ "สนข." ยังคงเดินหน้าเปิดเวทีรับฟังเสียงจากประชาชน แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเกิดเหตุระเบิดก็ตาม
เพื่อเร่งทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ให้เสร็จ ก.ย.นี้ ก่อนประมวลข้อมูล ข้อเท็จจริง เพื่อเป็นทางเลือกประกอบการตัดสินใจระดับนโยบายและความจำเป็นเร่งด่วนของโครงการขนาดใหญ่ จะมาส่งเสริมการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พลังงาน ท่องเที่ยว และคมนาคมขนส่งของประเทศ
จากข้อสรุปของที่ปรึกษาเสนอแนะแนวทางการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ให้เน้นท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรให้สอดรับกับเป้าหมายจีดีพีโต5%แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ใน 4 มิติ เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม-สังคม-เทคโนโลยี
โดยเสนอให้พัฒนาศักยภาพสิ่งที่มีอยู่เดิมให้มีมูลค่าสูงขึ้น เรียกว่า "ทางเลือก 2+ (สองบวก)" เป็นการพัฒนาตามศักยภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ของภาคใต้ ได้แก่ เกษตร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยังแนะให้ปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานของบางโครงการ เช่น กลุ่มโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี
ได้แก่ โครงการท่าเรือรองรับ Energy Bridge โครงการวางท่อส่งน้ำมัน และโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ที่ให้ชะลอโครงการ
รวมถึงท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล รองรับ Land Bridge เนื่องจากผลการวิเคราะห์ของโครงการไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน โดยให้มีปรับเปลี่ยนบทบาทของท่าเรือใหม่
ส่วนท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว จ.กระบี่ ที่จะรองรับการขนถ่ายถ่านหินสำหรับโรงไฟฟ้ากระบี่ ต้องใช้ระยะเวลาทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่นานพอสมควร แม้โครงการมีความจำเป็นในมิติด้านเศรษฐกิจ
แต่ไม่ผ่านมิติด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตอนุรักษ์ทางทะเล ต้องมีการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ล่าสุดโปรเจ็กต์ "ท่าเรือชุมพร" มีแนวโน้มที่จะถูกยกเลิก หลังคนในพื้นที่ไม่เปิดใจยอมรับ
ทั้งนี้ ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับระดับนโยบายเป็นหลัก จะคัดโปรเจ็กต์ไหนให้ได้ไปต่อหลังถูกแช่แข็งมาหลายปี