"เจ้าท่า" ร่อนหนังสือชี้แจง "ปากบารา" ยันไม่มีปิโตรเคมี ไม่ระเบิดเขา-เวนคืนที่ดิน (24 ส.ค. 59)
Green News TV 24 สิงหาคม 2559
‘เจ้าท่า’ ร่อนหนังสือชี้แจง ‘ปากบารา’ ยันไม่มีปิโตรเคมี ไม่ระเบิดเขา-เวนคืนที่ดิน
กรมเจ้าท่าร่อนจดหมายข่าว ชี้แจงโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ระบุใช้ขนคอนเทนเนอร์-ผลผลิตภาคใต้ ยันไม่เกี่ยวปิโตรเคมี ไม่ระเบิดภูเขา ไม่เวนคืนที่ดิน ชี้สร้างงาน-พัฒนาคนในท้องถิ่น
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ออกจดหมายข่าวฉบับที่ 96/2559 เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2559 เพื่อชี้แจงถึงกรณีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก จ.สตูล (ปากบารา) ที่ได้มีการว่าจ้างกลุ่มบริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการสำรวจออกแบบรายละเอียด และศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในปีงบประมาณ 2559
เนื้อหาในจดหมายข่าว ระบุว่า ท่าเรือดังกล่าวถูกออกแบบให้เป็นท่าเรือเพื่อการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้น ไม่ได้ออกแบบให้รองรับการขนถ่ายสินค้าเหลว เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี หรือน้ำมัน นอกจากนี้ยังเป็นท่าเรือที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าที่เป็นผลผลิตในภาคใต้ เช่น ยางพารา หรืออาหารทะเล ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ปากบาราเป็นตลาดกลางยางพาราได้ รวมถึงสินค้าจากภาคอื่นๆ ของประเทศไทย ที่จะมาใช้เพื่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้าไปยังประเทศในทวีปฝั่งตะวันตก
“สินค้าที่ผ่านท่าเรือน้ำลึกปากบาราเป็นสินค้าที่มีอยู่แล้วในประเทศ จึงไม่จำเป็นต้องมีนิคมอุตสาหกรรมหนักเพื่อรองรับกิจกรรมของท่าเรือ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพและวิถีชีวิตของชาวสตูล กรมเจ้าท่าจะประสานการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สนับสนุนการตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ที่ อ.ท่าแพ ที่สอดคล้องกับศักยภาพและวิถีชีวิต ตลอดจนรองรับฐานทรัพยากรท้องถิ่นด้านเกษตรและประมง โดยสินค้าจากนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลสามารถส่งออกที่ท่าเรือน้ำลึกปากบาราได้โดยสะดวก” เนื้อหาในจดหมายข่าว ระบุ
เนื้อหาในจดหมายข่าว ยังระบุอีกว่า โครงสร้างท่าเทียบเรือตั้งอยู่กลางทะเลห่างจากฝั่ง 4.2 กิโลเมตร โดยมีสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 4 ช่องจราจรเชื่อมท่าเรือกับฝั่ง จึงไม่มีการเวนคืนที่ดินของประชาชน สำหรับวัสดุหินและทรายที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้าง ต้องซื้อจากแหล่งวัสดุที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ไม่สามารถไประเบิดภูเขาสาธารณะ หรือขุดทรายจากชายหาดได้
ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าได้ทำการสำรวจแนวปะการังเมื่อเดือน ก.ค.2549 พบว่าปะการังตามแนวโขดหินด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเขาใหญ่ ห่างไกลจากจุดก่อสร้างท่าเรือ 1,200 เมตร ซึ่งในส่วนที่เป็นแนวก่อสร้างท่าเรือและร่องน้ำทางเดินเรือ ไม่พบว่ามีปะการังแต่อย่างใด โดยโครงการจะกำหนดให้มีการจัดสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล (ปะการังเทียม) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร อีกทั้งจะมีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเป็นระยะ เพื่อสนับสนุนการทำประมงอย่างยั่งยืน
“ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล จะก่อให้เกิดผลประโยชน์มากมายต่อชาวสตูล โดยจะทำให้เกิดการสร้างงานและจ้างแรงงานจำนวนมาก โดยกรมเจ้าท่ามีแผนสนับสนุนจัดการฝึกอบรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อปฏิบัติงานในท่าเทียบเรือ ได้แก่ การขับเครนยกตู้สินค้า ขับรถหัวลากตู้ การซ่อมเครื่องจักร และกำหนดเงื่อนไขให้ผู้บริหารท่าเรือรับแรงงานเหล่านี้เข้าทำงาน” เนื้อหาในจดหมายข่าว ระบุ
เนื้อหาในจดหมายข่าว ระบุด้วยว่า นอกจากงานในท่าเรือแล้วยังมีงานในธุรกิจต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นนอกท่าเรือ ซึ่งมีการจ้างงานอีกจำนวนมาก เช่น งานขนส่งตู้สินค้า ลานกองตู้ ล้างซ่อมตู้ ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น เมื่อมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบาราและธุรกิจต่อเนื่องแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ จ.สตูล ยังสามารถเก็บภาษีจากท่าเรือและธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่นและจังหวัดได้อีกด้วย