ศาลสั่ง "พีทีที โกลบอล" จ่ายค่าชดเชยชาวบ้าน ปล่อยน้ำมันดิบรั่วลงทะเลปี 57 (25 ส.ค. 59)

MGR Online 25 สิงหาคม 2559
ศาลสั่ง "พีทีที โกลบอล" จ่ายค่าชดเชยชาวบ้าน ปล่อยน้ำมันดิบรั่วลงทะเลปี 57

MGR Online - ศาลแพ่งสั่งบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จ่ายค่าชดเชยชาวบ้าน พ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบการ 203 ราย รายละ 3-5 หมื่นบาท กรณีปล่อยท่อส่งน้ำมันดิบรั่วลงทะเล ใกล้เกาะเม็ด จ.ระยอง ปี 57
       
       วันนี้ (25 ส.ค.) ที่ห้องพิจารณา 501 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมส่วนแพ่ง หมายเลขดำ ที่ สวพ.2-8/2557 ที่นางสรชา วิเชียรแลง กับพวกรวม 223 ราย ผู้ประกอบการร้านค้าแผงลอย ชาวประมงพื้นบ้าน ผู้ประกอบกิจการเรือเร็ว โรงแรม และอื่นๆ จ.ระยอง ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC บริษัทลูกของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และนายบวรวงศ์สินอุดม ประธานกรรมการบริหารบริษัท พีทีทีฯ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-2 เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหายจำนวน 1 พันล้านบาทเศษ ต่อมาศาลจำหน่ายคดีโจทก์ที่ 223 ที่เรียกค่าเสียหายถึง 1,000 ล้านบาทเศษออกจากสารบบ เนื่องจากเข้าสู่แผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมไปก่อนหน้านี้ คงเหลือโจทก์ 222 คน เรียกค่าเสียหายรายละระหว่าง 300,000 บาท ถึง 450,000 บาท พร้อมกับให้จำเลยร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมกับค่าเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเงิน
       
       กรณีเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2556 จำเลยซึ่งประกอบอาชีพธุรกิจน้ำมันได้ถ่ายน้ำมันดิบออกจากเรือบรรทุกน้ำมันที่จอดลอยลำบริเวณหน้าอ่าวมะพร้าว ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง ลงท่อขนาด 16 นิ้ว เพื่อส่งไปยังโรงกลั่นน้ำมัน ระหว่างนั้นท่อน้ำมันขนส่งเกิดชำรุด ทำให้น้ำมันดิบปริมาณ 54,000 ลิตรรั่วไหลจากท่อส่งลอยตัวในน้ำทะเลครอบคลุมพื้นที่ ม.1-2 ต.เพ, ต.ปากน้ำ เกาะเสม็ด อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า ชายหาดบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด หาดบ้านเพ จ.ระยอง เป็นเหตุให้สัตว์น้ำ พืชทะเลตาย ปะการังเสียหาย น้ำทะเลมีสารปรอท แคดเมียม และอื่นๆ ปนเปื้อน ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้ามาเที่ยวนานนับปี ทำให้โจทก์ที่เป็นพ่อค้าแม่ค้า และผู้ประกอบการได้รับความเสียหายมาก พวกโจทก์จึงขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย 

        ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ตรวจสอบท่อน้ำมันตามมาตรฐานสากล หรือโอซีไอเอ็มเอฟ ที่ต้องตรวจสอบทุก 6 เดือน แต่จำเลยกลับไม่ยอมตรวจนานปีเศษ จนแกนโลหะที่พันเส้นใยชั้นในสุดของท่อขาดความยืดหยุ่นและไม่สามารถทนต่อแรงกดได้ จึงเกิดคมโลหะไปบาดท่อส่งจนรั่วทำให้น้ำมันดิบรั่วไหล และไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะยกเว้นความรับผิดได้ ขณะที่จำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ส่วน ที่จำเลยต่อสู้ว่าพวกโจทก์ไม่แสดงรายการรายรับ รายจ่ายต่างๆ นั้น ศาลจึงกำหนดค่าเสียหายตามความเป็นจริง ทั้งนี้มีโจทก์ 19 รายที่ไม่นำพยานเข้าสืบให้ศาลเห็นถึงความเสียหายอย่างไร จึงพิพากษายกฟ้องในส่วนนี้
       
       พิพากษาว่า จำเลยที่ 1, 2 มีความรับผิดตามกฎหมายแพ่งฐานละเมิดมาตรา 420, 437 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 มาตรา 96 ให้ชดใช้เงินแก่โจทก์ผู้เสียหายรวม 203 คน ที่มีพยานหลักฐานชัดเจนว่าได้รับความเสียหายจริงจากการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง การให้ บริการ และจำหน่ายสินค้าริมหาด รายละ 30,000 บาท ส่วนกลุ่มผู้ทำประมงและเรือท่องเที่ยวรายละ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันละเมิด และให้จำเลยทั้งสองดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศรวม 4 โครงการ ในรูปแบบตั้งคณะทำงานร่วม กำหนดค่าดำเนินการไว้ 5.26 ล้านบาท และให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน ระบบนิเวศ บริเวณที่เกิดเหตุ 1 ชุด เป็นเวลา 2 ปี พร้อมกับรายงานศาล และกรมควบคุมมลพิษทราบทุก 6 เดือน โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ค่าทนายความ ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์