ปธ.อุตฯท่องเที่ยวกระบี่ ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน หวั่นทำลายการท่องเที่ยว (25 ส.ค. 59)

ประชาไท 25 สิงหาคม 2559
ปธ.อุตฯท่องเที่ยวกระบี่ ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน หวั่นทำลายการท่องเที่ยว


ภาพจาก เฟสบุ๊กโรงไฟฟ้ากระบี่

ประธานอุตฯ ท่องเที่ยวกระบี่ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน หวั่นทำลายการท่องเที่ยวและระบบนิเวศ ย้ำกระบี่สามารถใช้พลังงานทางเลือกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถามภาคใต้ใช้ไฟ 2 พันเมกะวัตต์ ทำไมรัฐต้องทำถึง 2 หมื่น นักวิชาการบอกทุกเมกะโปรเจกต์ภาคใต้ปกปิดข้อมูล ใช้ความรู้แบบไม่ตรงไปตรงมา

แผนพัฒนาภาคใต้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่หลายรัฐบาลพยายามผลักดัน ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ภาคใต้ครั้งใหญ่ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาการดำเนินชุดโครงการขนาดใหญ่ก่อให้เกิดกระแสคัดค้านในพื้นที่อย่างหนัก ทำให้ภาครัฐผลักดันโครงการแยกทีละแห่ง หนึ่งในโครงการดังกล่าวคือโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การคัดค้านน้อยลงแต่อย่างใด

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เป็นโครงการที่คัดค้านอย่างหนัก โดยเฉพาะจากคนในพื้นที่ เนื่องจากกระบี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า หากโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นจะสร้างผลเสียหายที่ไม่อาจเรียกคืนได้กับการท่องเที่ยวกระบี่

ภายในงานเวทีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพบประชาชน ภาคใต้ อมฤต ศิริพรจุฑากุล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ กล่าวกับประชาไทกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ว่า

“ถามว่านักท่องเที่ยวหลักของกระบี่ปัจจุบันมาจากไหน สแกนดิเนเวียกับยุโรป กลุ่มที่เข้ามาเป็นกลุ่มอายุตั้งแต่ 35 ขึ้น และเป็นกลุ่มครอบครัว เขาแคร์เรื่องพลังงาน เรื่องสภาพภูมิอากาศมาก แล้วกระบี่เราทำการท่องเที่ยวสีเขียว เมืองสีเขียว แต่อยู่ๆ โรงไฟฟ้าถ่านหินมา แล้วนโยบายที่เราคิดกันมาหลายปี มันเชื่อมโยงกันได้มั้ย เรามีความมั่นใจขนาดไหนว่าโรงไฟฟ้านี้เป็นโรงไฟฟ้าสีเขียว และที่สำคัญที่สุด มันไปอยู่ในพื้นที่เพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่อันดามัน ในพื้นที่แรมซาร์ ไซต์ อยู่ในพื้นที่ปะการัง ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ถ้ามันกระทบจะทำยังไง

“ผมว่ามันไม่เหมาะที่จะไปทำตรงนั้น คนที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในประเทศไทยคือภาคอุตสาหกรรมใช่มั้ย ภาคครัวเรือนกี่เปอร์เซ็นต์ ภาคท่องเที่ยว เราใช้พลังงาน แต่วันนี้ โดยเฉพาะกระบี่คนพูดเรื่องพลังงานทดแทน เรื่องสีเขียว พูดทำไม เพราะคนกระบี่ยืนยันว่าเราสามารถผลิตพลังงานทางเลือกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านมาเอกชนทุกภาคส่วนเซ็นต์ร่วมกัน 20 กว่าองค์กรว่าเราไม่เห็นด้วยกับถ่านหิน”

ประเด็นที่อยู่เบื้องหลังของความพยายามผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ อมฤตแสดงทัศนะว่า ไม่ใช่แค่ความต้องการสร้างโรงไฟฟ้า แต่มีความคิดเบื้องหลังที่ใหญ่กว่านั้นคือแผนพัฒนาภาคใต้ ที่ต้องการเปลี่ยนภาคใต้ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม

“ทุกวันนี้ความมั่นคงทางอาหารกับอุตสาหกรรม เราจะเอาอะไร รัฐบาลต้องเลือกให้ดี แล้วสิ่งที่รัฐบาลจะสร้างไม่ใช่เฉพาะโรงงานไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ มันมีข้อมูลชัดเจนว่าจะสร้าง 9 โรงในภาคใต้ บวกกับนิวเคลียร์ 2 โรง ขณะที่ภาคใต้ใช้แค่ 2 พันเมกะวัตต์ คุณสร้างทำไม 2 หมื่นเมกะวัตต์ เพื่ออะไร คนเขารู้ อย่าคิดว่าไม่รู้ แลนด์บริดจ์ก็ดี คลองไทรก็ดี ปากบาราก็ดี ถ้าเรามองตามแผนเขา เปลี่ยนภาคใต้เป็นอุตสาหกรรมทั้งหมด ถามว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ ความมั่นคงทางวิถีชีวิต วัฒนธรรม ทางอาหารเราไปไหน” อมฤตกล่าว

ด้านเลิศชาย ศิริชัย จากคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวถึงลักษณะโครงการขนาดใหญ่ทุกโครงการในภาคใต้ที่มีไม่ได้เปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงว่า มีลักษณะ 4 ประการ

“ผมยกตัวอย่างโครงการขนาดใหญ่ทุกโครงการในภาคใต้ที่ผมศึกษามา หนึ่ง-ล้วนแต่วางแผนการสร้างและดำเนินโครงการไว้เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่เข้ามาดำเนินการในพื้นที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ผมถามว่าแบบนี้ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่”

สอง-ผู้ดำเนินโครงการตระหนักดีว่าโครงการมีผลกระทบ ไม่มีใครไม่รู้ว่าโครงการตนเองมีผลกระทบ จึงเห็นว่าโครงการต่างๆ จะไม่เปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณะ แม้ลงมือดำเนินการไปแล้วก็ยังคงไม่ให้รายละเอียด หรือบอกข้อมูลไม่หมดหรือบอกแบบบิดเบือน

สาม-เสนอข้อมูลด้านเดียวโดยไม่บอกถึงผลกระทบ และไม่บอกว่าหากไม่ดำเนินโครงการจะเกิดผลอะไร โดยเฉพาะผลดีต่อคนเล็กคนน้อยและต่อระบบนิเวศ

ประการสุดท้าย มีการใช้ความรู้แบบไม่ตรงไปตรงมา แต่จงใจใช้ความรู้นั้นสร้างวาทกรรมและมายาคติ รวมถึงพยายามทำลายความรู้สาธารณะเดิมที่พอเป็นพลังถกเถียงอยู่บ้างและสร้างความรู้ใหม่ขึ้นแทนที่ เช่น ถ่านหินสะอาด เป็นต้น