เครือข่ายประชาชนใต้ "วอล์ค เอาท์" เวที กสม.พบประชาชน หลัง ปธ.กสม. ห้ามอ่านแถลงการณ์ (26 ส.ค. 59)
Thai PBS 26 สิงหาคม 2559
เครือข่ายประชาชนใต้ "วอล์ค เอาท์" เวที กสม.พบประชาชน หลังปธ.กสม. ห้ามอ่านแถลงการณ์
เวที กสม.พบปะประชาชนภาคใต้คึกคัก ตัวแทนสตรีร้องขอสัดส่วนในคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ขณะที่เลขาธิการ กป.อพช.ภาคใต้ ชี้ไม่เห็นด้วยต่อโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดที่ปิดกั้นความคิดเห็นของคนในพื้นที่
วานนี้ (25 ส.ค.) ที่ห้องประชุมราชพฤกษ์ โรงแรมบุรีศรีภู บูติก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดเวทีพบปะประชาชนภาคใต้ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 - 25 ส.ค. โดยมีตัวแทนภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐเข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นในประเด็นสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ โดยมีตัวแทนของประชาชนจากทุกภาคส่วน รวมทั้งคนชายขอบ และคนกลุ่มน้อย อย่างชาวอุรักลาโว้ย และมันนิ (ซาไก) เข้าร่วมเวที
โดยมี นายเอกรัฐ หลีเส็น รองผู้ว่าฯ สงขลา เป็นประธานในการกล่าวเปิดเวที กสม.พบประชาชนภาคใต้ จากนั้น นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการพบปะประชาชนภาคใต้ ซึ่งนอกจากให้ประชาชนรู้จักบทบาท และหน้าที่ของ กสม.แล้ว ยังเดินทางมาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในภาคใต้ ในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ของประชาชน
จากนั้นมีตัวแทนของประชาชนจากหลายสาขาอาชีพ นำเสนอปัญหาของการไม่มีสิทธิตามที่ควรจะเป็น โดยตัวแทนสตรีจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำเสนอถึงความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทำให้เกิดแม่หม้าย และเด็กกำพร้า รวมถึงความรุนแรงในครอบครัว และการที่สตรียังถูกกดทับ ทั้งด้วยทางศาสนา วัฒนธรรมทางสังคม และอื่นๆ
โดยตัวแทนสตรีของจังหวัดชายแดนภาคได้ นำเสนอให้มีสัดส่วนของสตรีในการเป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เนื่องจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ไม่มีสัดส่วนของสตรี ทั้งที่สตรีเป็นผู้ถูกกระทำในหลายกรณี แต่กลับไม่สามารถมีปากมีเสียงในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น กลายเป็นเรื่องของบุรุษที่ทำหน้าที่ในการชี้ขาดต่อเรื่องต่างๆ ที่สตรีเป็นผู้เสียหาย และถูกกระทำ รวมทั้งการมีสัดส่วนของสตรีในสภาที่ปรึกษา โดยมีการอ้างว่า ในคณะกรรมการสภาที่ปรึกษา ไม่มีสัดส่วนของสตรี ทั้งที่ในประเทศไทยมีสตรีถึง 33 ล้านคน ที่มากกว่ากึ่งหนึ่งของพลเมือง
ด้านนายสมบูรณ์ คำแหง เลขาธิการ กป.อพช.ใต้ นำเสนอถึงแผนพัฒนาของรัฐบาลในโครงการเซ้าเทิร์นซีบอร์ด ที่ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิของประชาชนในส่วนที่ไม่เห็นด้วยต่อโครงการดังกล่าว โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ
นอกจากนั้น ตัวแทนกลุ่มต่างๆ ยังนำเสนอถึงปัญหาในโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่ไม่รับฟังความเห็นของคนในพื้นที่ เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ปัญหาของประมงพื้นบ้าน สิทธิในกระบวนการยุติธรรมและอื่นๆ โดยมีการแบ่งกลุ่มสัมมนาเพื่อแสดงความคิดเห็น และเสนอความต้องการต่อ กสม. โดยจะมีการประชุมกลุ่มย่อย และจะมีการสรุปผลการพบปะประชาชนภาคใต้ ในเวลา 14.00 น. ของวันที่ 25 ส.ค.
แต่ก่อนจะมีการสรุปปิดเวทีทางภาคประชาชนที่มีเวทีทั้งหมดได้ขอแถลงข่าวกับผู้สื่อข่าว แต่นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่ยอมให้แถลงข่าว และแสดงอาการไม่พอใจที่ภาคประชาชนจะแถลงข่าว ประชาชนที่มมาร่วมเวทีจึงเดินออกจากห้องประชุม และมาจัดแถลงข่าวที่บันไดหน้าโรงแรม
“รู้สึกแปลกใจที่ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยนแห่งชาติ ห้ามไม่ให้ภาคประชาชนจัดแถลงข่าวเพื่ออ่านแถลงการณ์ ทั้งที่แถลงการณ์ที่จะอ่านไม่ได้พาดพิงถึงคณะกรรมการสิทธิฯ แม้แต่นิดเดียว ทำให้รู้สึกว่าเสียเวลาที่ต้องเดินทางมาร่วมงานกับคณะกรรมการสิทธิถึง 3 วัน หากคณะกรรมสิทธิ ทัศนคติต่อภาคประชาชนเช่นนี้ คิดว่าเปล่าประโยชน์ที่จะมีคณะกรรมการสิทธิ เพราะหากทำหน้าที่ได้เพียงห้ามปิดกั้นสิทธิของประชาชน รัฐบาลทำได้ดีกว่าคณะกรรมการสิทธิ ปล่อยให้รัฐบาลทำงานแทนคณะกรรมการสิทธิไปดีกว่า” นายสมบูรณ์กล่าว
นายสมบูรณ์กล่าวด้วยว่า แถลงการณ์ที่ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยนแห่งชาติ ไม่ให้อ่านในเวทีพบปะประชาชนภาคใต้ จำเป็นต้องวอร์คเอาท์มาอ่านข้างหน้าโรงแรมนั้น มีเนื้อหาดังนี้ ลองพิจารณาการดูว่าคณะกรรมการสิทธิ กลัวอะไรจึงไม่กล้าให้แถลงข่าว
แถลงการณ์ เรื่อง หยุดการดำเนินนโยบาย โครงการหรือกิจการที่ละเมิดสิทธิชุมชนในภาคใต้ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน ได้มีการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต สังคม วิถีวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันนำไปสู่การละเมิดสิทธิชุมชนตามมา
รัฐบาลได้ประกาศเดินหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
1.นโยบายการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสองฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ ที่จะต้องสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล และท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 บ้านสวนกง จ.สงขลา รวมถึงการเกิดขึ้นของโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันอีกมากมาย เช่น การก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างท่าเรือสองฝั่ง การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม การสร้างเขื่อน และการเปิดพื้นที่การลงทุนแบบใหม่ที่เรียกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดสงขลา
2.โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโรงไฟฟ้าเทพา ที่มีการเร่งรัดดำเนินโครงการอย่างมีนัยยะในช่วงปีที่ผ่านมา
3.โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่เกิดขึ้นอย่างกระจัดกระจายทั่วทุกจังหวัดในภาคใต้ ซึ่งพยายามหลบเลี่ยงข้อระเบียบ หรือขั้นตอนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่ความขัดแย้งในหลายพื้นที่
ตรวจยึดพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชุมชนอย่างไม่แยกแยะ
4.นโยบายการทวงคืนผืนป่าที่ได้มีการตรวจยึดพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชุมชนอย่างไม่แยกแยะ อันส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิตของเกษตรกรชาวไร่ ชาวสวนยาง ในหลายพื้นที่
5.การละเลยไม่คุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ภาคใต้ ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล กลุ่มมันนิ (ซาไก) จนนำไปสู่ปัญหาอื่นๆเช่น การถูกรุกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การสูญเสียที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวเล หรือการรับรองสิทธิพลเมืองของกลุ่มมันนิ
สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังไม่มีแนวทางหรือทางออกในการแก้ไขปัญหา
6.สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังไม่มีแนวทางหรือทางออกในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ และยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นรายวัน ทั้งที่โดยหลักการแล้ว การดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการต่างๆ เหล่านี้จะต้องอาศัยความละเอียดอ่อนที่รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องพึงระวังถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย หรือข้อระเบียบต่าง ๆ ในการกลั่นกรองก่อนการดำเนินโครงการอย่างรอบด้าน มิเช่นนั้นแล้ว ก็จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต
เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ มีความเห็นว่า นโยบายและหลายโครงการที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ไม่เหมาะสมที่จะได้รับการตัดสินใจผลักดันเดินหน้าในรัฐบาลเฉพาะกิจ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการออกแบบหรือสร้างกติกาทางสังคมแบบใหม่ ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐบาลเองที่ต้องการปฏิรูปประเทศนี้ให้ดีกว่าเดิม
ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดบรรยากาศของความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมในภาคใต้ อันเกิดขึ้นจากความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างผู้ดำเนินนโยบายกับชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งกำลังนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในชุมชนด้วยกันเอง อันเป็นความขัดแย้งอีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังขยายวงเพิ่มมากขึ้น ในหลายพื้นที่ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันการละเมิดสิทธิชุมชนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้จึงเสนอให้รัฐบาลยุติ หรือทบทวนการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการดังที่ได้กล่าวแล้วเบื้องต้น และให้หันมาสร้างบรรยากาศของประเทศไปสู่ความสมานฉันท์ปรองดอง และสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ด้วยความเคารพ เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ เนื้อในแถลงการณ์ที่จะแถลงข่าวมีเท่านี้เอง ถามว่าประธานคณะกรรมสิทธิกลัวอะไร