เปิดตัว "ปลาจะกินดาว" งานข่าวสิ่งแวดล้อม ถกหลายมุมมองคนกับป่า-ศักดินานิยม (14 ก.ย. 59)

Thai PBS 14 กันยายน 2559
เปิดตัว "ปลาจะกินดาว" งานข่าวสิ่งแวดล้อม ถกหลายมุมมองคนกับป่า-ศักดินานิยม

ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาสถานการณ์สิ่งแวดล้อมปีที่ 14 เผยสถานการณ์ป่าไม้พื้นที่ป่าลด โดยเฉพาะภาคอีสานเหลือป่าร้อยละ 14.94 ภาคประชาสังคมระบุ กฎหมายป่าไม้ทำให้เกิดการเหยียดเชื้อชาติในสังคม ผู้ถูกดำเนินคดีบุกรุกป่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์-คนจน

วันนี้ (14 ก.ย.2559) ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนา "เมื่อน้ำท่วมฟ้า ปลาจะกินดาว" พร้อมเปิดตัวหนังสือ สารคดีวีดิทัศน์และนิทรรศการภาพถ่ายสิ่งแวดล้อมปีที่ 14 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้นำภาคีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมหลายองค์กรร่วมปาฐกถาพิเศษ "สถานการณ์สิ่งแวดล้อมและความท้าทายในอนาคต"

นายพิเชษฐ์ ชูรักษ์ ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม กล่าวเปิดงานเสวนาว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ได้มีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายและงานเสวนาขึ้น โดยนำประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมาจัดเสวนาที่ใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อสื่อสารกับคนเมืองและสื่อสารกับตัวแทนของผู้ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องสิ่งแวดล้อม

ในวงเสวนา นายสากล ฐินะกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ทุกวันนี้การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมีปัญหามากขึ้น ขณะที่เดียวกันประชาชนก็เริ่มเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งนักข่าวจะเป็นตัวกลางในการนำเสนอความเดือดร้อนของประชาชนจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหา รวมถึงหาแนวทางป้องกันได้อย่างมีคุณภาพ

ผู้ตรวจราชการ ทส.กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกระแสสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นทั่วโลก เพราะฉะนั้นต้องทำให้เกิดการร่วมมือและพัฒนารูปแบบการดำเนินงานในการร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งทางกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนโครงการนี้และจะร่วมดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด

นอกจากนี้ยังมีภาคีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมหลายองค์กรเข้าร่วมปาฐกถาพิเศษ "สถานการณ์สิ่งแวดล้อมและความท้าทายในอนาคต"

นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงการทำงานของมูลนิธิฯ ที่เข้าไปร่วมกับชุมชน มีการเก็บข้อมูลของผืนป่าตะวันตก ซึ่งเป็นผืนป่าที่มีความสำคัญต่อประเทศ และพบว่า มีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในผืนป่าตะวันตกว่า 30 ชนเผ่า รวม 129 ชุมชน ซึ่งมูลนิธิฯ พยายามทำให้ชุมชนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาผืนป่าตะวันตก แต่ในช่วงที่ผ่านมาเกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่บ่อยครั้ง จึงเห็นว่ารัฐบาลทุกสมัยยังสอบไม่ผ่านในเรื่องการมีส่วนร่วมดูแลทรัพยากรป่าไม้ ที่แม้จะมีกฎหมายเอื้อประโยชน์ แต่ก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของกระบวนการ

 

ขณะที่รูปแบบของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าของคนในแต่ละชุมชนจะไม่เหมือนกัน โดยชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์จะใช้ประโยชน์จากป่าไม้ภายในชุมชน จึงทำให้พื้นที่ป่ารอบชุมชนยังคงสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เพราะมีการจัดการพื้นที่ค่อนข้างเข้มแข็ง แต่หากเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ รูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรรมจะทำให้ป่าเหลือเป็นหย่อมๆ จึงทำให้เห็นความแตกต่างของการจัดการชุมชนและการจัดการพื้นที่ป่าไม้

สำหรับสถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทย จากข้อมูลป่าไม้ปี 2558 พบว่ามีพื้นที่ป่าลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 0.02 หรือ 44,418.74 ไร่ ขณะที่สถานการณ์ป่าไม้ของแต่ละภาคในปัจจุบันพบว่า ภาคเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 64.48 ของพื้นที่ภาค รองลงมาคือภาคตะวันตก ร้อยละ 59.09, ภาคใต้ ร้อยละ 23.99, ภาคตะวันออก ร้อยละ 21.77, ภาคกลาง ร้อยละ 21.06 และภาคที่มีพื้นที่ป่าน้อยที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 14.94 ของพื้นที่ภาค

ด้านนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวถึงแนวคิดกระแสหลักในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือการปกป้องถิ่นที่อยู่ที่มองคนอยู่กับป่าหรือใช้พื้นที่ป่าว่าเป็นผู้บุกรุก ซึ่งคนเมืองส่วนใหญ่โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มักจะมองผู้ที่อาศัยอยู่บนดอยเป็นผู้บุกรุก และเป็นผู้ที่ทำให้น้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งความคิดแบบนี้ถูกฝังลึกในสังคมไทย สะท้อนให้เห็นว่าคนเมืองหรือคนชนชั้นกลางส่วนใหญ่เป็นศักดินานิยมที่มีชีวิตติดอยู่กับชนชั้นนำ ขณะที่ในเชิงสถิติตัวเลขของคนบุกรุกป่าส่วนใหญ่จะเป็นคนจน รวมถึงการถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีด้วย

"เคยสงสัยหรือไม่ว่า สถิติของคนที่บุกรุกป่าจะเป็นคนจนเสียส่วนใหญ่ แล้วทำไมการจับกุม การดำเนินคดีเกี่ยวกับการบุกรุป่าก็มีแต่คนจน จับคนรวยไม่ได้สักที"

"นิยามป่าตามมาตรา 4 (1) กฎหมายป่าไม้ พ.ศ.2484 ที่ว่า "ที่ดินที่ยังไม่ได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน" เป็นบทบัญญัติสั้นๆ ที่ครอบจักรวาล แต่กฎหมายฉบับนี้ทำให้คนเป็นศัตรูกัน โดยเฉพาะศัตรูทางชนชั้น" นายเลิศศักดิ์ กล่าว

ขณะเดียวกันกฎหมายนี้ก็ถูกจริตคนเมืองและนักอนุรักษ์ ที่มองว่าป่าต้องปราศจากมนุษย์เท่านั้นจึงจะเป็นป่า หรือบางครั้งสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ดูแลป่าภายใต้กฎหมายป่าไม้ จัดการคนที่อยู่กับป่าด้วยทัศนคติที่เหยียดหยามอย่างรุนแรง ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติรูปแบบหนึ่ง ซึ่งกึ่งศตวรรษของประวัติศาสตร์การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทย ตั้งแต่การก่อตั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ขึ้นเป็นแห่งแรก ได้ทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทย โดยเฉพาะพวกชนชั้นกลางกลายเป็นพวกศักดินานิยมและเหยียดเชื้อชาติ

ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กล่าวทิ้งท้ายว่า เป็นเรื่องที่ตลกที่วงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทย โดยเฉพาะข้าราชการกรมป่าไม้มีคุณสมบัติเหล่านี้ติดตัวอยู่ อย่างกรณีเขื่อนแม่วงก์ ที่นักอนุรักษ์ไม่ต้องการให้ใช้มาตรา 44 ในการผลักดันสร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่ไม่เคยสนใจใยดีสังคมส่วนอื่น ก็จะทำให้เรื่องศักดินานิยมและเหยียดเชื้อชาติเป็นคุณสมบัติติดตัวนักอนุรักษ์ไปตลอด เพราะการอนุรักษ์ที่แท้จริงคือการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อถกเถียงและหาทางออกในเรื่องของความมั่นคงและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การสนับสนุนให้ใช้อำนาจพิเศษเข้ามาจัดการ

 


ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร