"ผู้ป่วยมินามาตะ" เข้าพบตัวแทนรัฐบาล-หน่วยงานไทย เร่งลงนาม "อนุสัญญาสารปรอท" (14 ก.ย. 59)

Citizen Thai PBS 14 กันยายน 2559
"ผู้ป่วยมินามาตะ" เข้าพบตัวแทนรัฐบาล-หน่วยงานไทย เร่งลงนาม "อนุสัญญาสารปรอท"

บุษป์สุคนธ์ ปั้นช้าง, มูลนิธิบูรณะนิเวศ
รายงานและถ่ายภาพ

เผยแพร่ครั้งแรก: มูลนิธิบูรณะนิเวศ (earththailand.org)

"ผู้ป่วยมินามาตะ" พร้อมคณะนักวิชาการจากประเทศญี่ปุ่นและมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ได้เดินทางเข้าพบตัวแทนรัฐบาลและหน่วยงานราชการไทยที่เกี่ยวข้อง เพื่อเรียกร้องให้เร่งลงนามในอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท

14 ก.ย. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2559 หลังเสร็จสิ้นการสัมมนาวิชาการ "60 ปี โรคมินามาตะ: การเรียนรู้หายนะจากมลพิษอุตสาหกรรมเพื่อสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน" คณะผู้จัดงานซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการไทยและญี่ปุ่น องค์กรการวิจัยและองค์กรภาคประชาสังคม พร้อมด้วยชิโนบุ ซาคาโมโต ผู้ป่วยโรคมินามาตะตั้งแต่กำเนิด ได้เข้าพบและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรคมินามาตะต่อนายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ณ อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งสอบถามถึงความคืบหน้าในการเข้าร่วมอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอทของประเทศไทย หลังจากที่พลาดการลงนามไปเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2557 แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีโอกาสในการทำภาคยานุวัติ

ในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุสัญญาดังกล่าว อธิบดีกรม คพ. ได้เปิดเผยว่า สาเหตุของการพลาดการลงนามในอนุสัญญา ฯ ครั้งที่ผ่านมาเป็นเพราะทางกระทรวงต่างประเทศ (กต.) เห็นว่าประเทศไทยยังมีความพร้อมไม่เพียงพอเกี่ยวกับความเข้าใจและกฎหมายที่จะต้องนำมาใช้ควบคู่กับอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ จึงขอให้ชะลอการลงนามไว้ก่อน  แต่อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทางกระทรวงทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการลงนามในอนุสัญญาฯ ครั้งต่อไป  นอกจากนี้อธิบดีกรม คพ. ยังให้ความมั่นใจต่อทางคณะผู้เข้าพบว่า จะเร่งดำเนินการเกี่ยวกับการลงนามอนุสัญญาฯ ภายในปลายปี 2560 การควบคุมการใช้สารปรอทในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการนำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรอทเป็นส่วนประกอบ เท่าที่ขอบเขตความรับผิดชอบของ คพ. จะดำเนินการได้

ต่อมาในวันที่ 12 ก.ย. 2559 คณะผู้ป่วยโรคมินามาตะจากประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยคณะผู้แทนจากศูนย์ความร่วมมือเพื่อผู้ป่วยโรคมินามาตะ, ศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง จังหวัดคุมาโมโต ประเทศญี่ปุ่น และมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้เดินทางเข้าพบผู้แทนรัฐบาลไทย เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยขอให้รับรองและให้สัตยาบันอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอทโดยทันที เพื่อปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้ปลอดภัยจากมลพิษสารปรอท และไม่เกิดโศกนาฏกรรมโรคมินามาตะ ดังเช่นประเทศญี่ปุ่น

โดยช่วงเช้าผู้แทนสำนักงานปลัดสำนักนายรัฐมนตรีเป็นรับหนังสือในนามรัฐบาลไทย พร้อมทั้งรับฟังข้อมูลและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โดยหนึ่งในตัวแทนรัฐบาลไทยได้ให้ข้อมูลว่า ทั้ง กต. ทส. และกระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนสภาฝ่ายความมั่นคง เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ จึงไม่ใช่ความรับผิดชอบของเพียงของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด  แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว เนื่องจากเมืองไทยเป็นแหล่งรวมโรค อุตสาหกรรมที่มีส่วนทำให้เกิดโรคล้วนแต่รวมอยู่ที่เมืองไทย ซึ่งที่ผ่านมา ปัญหาเกิดจากการที่บังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มแข็ง  และการขาดสำนึกของผู้ประกอบการ สิ่งที่นำเสนอนี้จึงเป็นเรื่องที่ดี ทางรัฐบาลจะนำไปพิจารณาเท่าที่ประเทศไทยมีกำลังอยู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนส่วนรวม ซึ่งไม่เพียงเฉพาะเมืองไทยแต่ยังเป็นผลดีต่อคนทั่วโลก เท่าที่ประเทศไทยจะมีกำลังอยู่

หลังจากนั้น ในช่วงบ่ายทางคณะฯ ได้เดินทางไปยื่นต่อ นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคมินามาตะและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับมาตรการควบคุมดูแลการใช้สารปรอทในเครื่องมือการแพทย์ และการคุ้มครองด้านสุขภาพของผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากมลพิษอุตสาหกรรม  โดยตัวแทนจากทั้งสองหน่วยงานได้กล่าวกล่าวขอบคุณและระบุว่าจะนำเรื่องนี้เสนอไปยัง รมว.กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยเชื่อว่าประเทศไทยน่าจะลงนามอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ได้ก่อนประเทศพม่า และลาว พร้อมทั้งกล่าวว่าในโอกาสต่อไปคงจะได้ประสานความร่วมมือกับคณะทำงานเกี่ยวกับโรคมินามาตะจากประเทศญี่ปุ่น

ก่อนจะเดินทางกลับที่พัก ทางคณะฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ณ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. ซึ่งเป็นผู้ออกมาพบและรับหนังสือ ได้กล่าวให้ความเห็นในตอนหนึ่งว่า

"ในส่วนของการลงนามในอนุสัญญา ฯ ฉบับนี้ คงเป็นไปได้ไม่ยาก เพราะเมื่อมีการลงสัตยาบัน กฎหมายลูกต่าง ๆ ก็จะตามมาเอง แต่ในส่วนการปฏิบัติตามกฎหมายน่าจะเป็นเรื่องยากของประเทศไทย แต่อย่างไรก็ดี คิดว่าไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ เพราะตอนนี้เรากำลังเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย คิดว่าต้องดีกว่าเดิม"

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการเดินหน้าทำความเข้าใจโดยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคมินามาตะ และการยื่นข้อเรียกร้องให้ประเทศไทยรีบเร่งในการลงนามสัตยาบันอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอทฉบับนี้ของประเทศไทย จะคืบหน้าไปเช่นไร คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป


ชิโนบุ ซาคาโมโต ผู้ป่วยโรคมินามาตะตั้งแต่กำเนิด

 

"อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท"

"อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท" เป็นกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองสุขภาพคนและสิ่งแวดล้อมจากพิษภัยของ สารปรอท โดยประเทศสมาชิกของสหประชาชาติมีมติรับรองร่างอนุสัญญาฯ ในการประชุมครั้งที่ 5 ของคณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อเจรจาจัดทำร่างฯ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 และเปิดให้ประเทศสมาชิกลงนามรับรองเป็นครั้งแรกในการประชุมของคณะกรรมการฯ ที่เมืองคุมาโมโต ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556

วัตถุประสงค์สำคัญของอนุสัญญาคือ “เพื่อปกป้องสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดการปลดปล่อยสารปรอทและสารประกอบของปรอท” โดยกรอบเวลาที่ให้ประเทศภาคีของอนุสัญญาฯ จะต้องเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรอท คือ ภายในปี 2020 (พ.ศ. 2563) รวมถึงให้รัฐบาลต่างๆ จะต้องสั่งปิดเหมืองปรอทให้หมดสิ้นภายใน 15 ปีปัจจุบัน มีประเทศที่ลงนามรับรองอนุสัญญาฯ รวม 128 ประเทศ และประเทศที่ให้สัตยาบันแล้วมี 29 ประเทศ

ประเทศ ส่วนใหญ่ในอาเซียนลงนามในอนุสัญญาฯ แล้ว ได้แก่ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย  ประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยก็ลงนาม เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และ 27 ประเทศในสหภาพยุโรป