กองทุน EIA ผ่านงบ "เหมืองทองอัครา" สางปมสิ่งแวดล้อม-สุขภาพชุมชน (15 ก.ย. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์15 กันยายน 2559
กองทุน EIA ผ่านงบเหมืองทองอัครา สางปมสิ่งแวดล้อม-สุขภาพชุมชน

กพร.เผยกองทุน EIA ไฟเขียวเงินสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ รอบ "เหมืองแร่ทองคำชาตรี" รัศมี 20 กม.

นายชาติ หงษ์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (กองทุน EIA) ในส่วนของเหมืองแร่ทองคำชาตรี ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้อนุมัติในหลักการเพื่อให้นำเงินในส่วนของกองทุนประกันความเสี่ยงไปใช้ ดำเนินการสำรวจผลกระทบใน 2 เรื่องหลัก คือ 1.ด้านสิ่งแวดล้อม และ 2.ด้านสุขภาพ ซึ่งขณะนี้กองทุนมีเงินคงเหลือประมาณ 87 ล้านบาท 

โดยด้านสิ่งแวดล้อม ต้องเก็บข้อมูลอย่างละเอียดเบื้องต้นว่ามีสารอะไรปะปนบริเวณรอบพื้นที่เหมือง ทั้งในดิน น้ำ อากาศ ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าต้องใช้เงินประมาณ 6 ล้านบาท ส่วนด้านสุขภาพ ต้องเก็บข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวกับผู้ป่วย ทั้งจำนวน ประเภท อาการป่วย ผลการตรวจ ผลการรักษา อาทิ ชุมชนที่อยู่ห่างจากเหมือง 10 กม. ชาวบ้านป่วยกี่ราย ชุมชนที่อยู่ห่างจากเหมือง 20 กม. ป่วยจำนวนกี่ราย และนำมารวบรวมไว้ในระบบ เบื้องต้นประเมินว่า ต้องใช้เงินประมาณ 2 แสนบาท

ส่วนความคืบหน้าของเหมืองอัคราฯ ขณะนี้ทาง กพร.ยังคงยึดคำสั่งจากมติคณะรัฐมนตรี ที่สั่งให้หยุดดำเนินการส่วนของโรงถลุงโลหะกรรม ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2559 ภายใต้นโยบายสาธารณะเชิงป้องกัน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างเหมืองกับชุมชน ขณะที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ยังคงต้องหาข้อมูลเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันอยู่ จนกว่าข้อมูลจะชี้ชัดปัญหาที่เกิดทั้งหมดว่ามาจากสาเหตุใด 

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซสฯ กล่าวในฐานะคณะกรรมการกองทุน EIA และกรรมการตรวจสอบด้านสุขภาพว่า ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบด้านสุขภาพของเหมืองทองคำอัคราฯ ได้เสนอโครงการเพื่อจัดทำกิจกรรมและรวบรวมข้อมูลทางด้านสุขภาพและอื่น ๆ เสนอต่อคณะกรรมการกองทุน EIA เพื่อขอนำเงินในส่วนของกองทุนประกันความเสี่ยงไปใช้ประโยชน์แล้ว

จากนี้จะต้องทำรายละเอียดของโครงการและผ่านการพิจารณาจากกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุขก่อน ซึ่งอาจจะใช้เวลา 3-5 เดือน หากทบทวนข้อมูลและพิจารณาโครงการแล้วว่านำเงินกองทุนไปใช้ประโยชน์ได้จริง จึงจะอนุมัติออกไปใช้ได้

ทั้งนี้ ในส่วนของเงินกองทุนแบ่งเป็น 2 กองทุน ประกอบด้วย 1.กองทุนประกันความเสี่ยง เก็บปีละ 10 ล้านบาท จำนวน 15 ปี ตลอดการทำเหมือง ขณะนี้มีเงินกองทุน 90 ล้านบาท ใช้ไปแล้วส่วนหนึ่ง ขณะนี้คงเหลือ 87 ล้านบาท 2.กองทุนพัฒนาท้องถิ่น 45 ล้านบาท จากสัดส่วนปริมาณโลหะทองคำที่ผลิตได้ในอัคราฯ 3 บาทต่อกรัม หรือไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทต่อปี