‘สุรชัย’ วิจารณ์คดีปู่คออี้ “สิทธิชุมชนมีอยู่ แต่ประชาชนยืนยันสิทธิไม่ได้” (16 ก.ย. 59)
ประชาไท 16 กันยายน 2559
‘สุรชัย’ วิจารณ์คดีปู่คออี้ “สิทธิชุมชนมีอยู่ แต่ประชาชนยืนยันสิทธิไม่ได้”
สุรชัย ตรงงาม จาก Enlaw ปาฐกถาเรื่องสถานการณ์สิ่งแวดล้อมหลังรัฐประหาร ชี้รัฐบาล คสช.ออกคำสั่งหลายร้อยฉบับลิดรอนสิทธิประชาชน ยกร่างกฎหมายลูกหลังรธน.ผ่านประชามติโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม พร้อมบทเฉพาะกาลที่คงกฎหมายละเมิดสิทธิให้อยู่ยาว
16 ก.ย.2559 เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมจัดเสวนา ‘เมื่อน้ำท่วมฟ้า ปลาจะกินดาว’ สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวปาฐกถาเรื่องประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเน้นเรื่องรัฐธรรมนูญและคำสั่งพิเศษที่ใช้ ม.44 เป็นการละเมิดสิทธิประชาชนในการเข้าถึงสิทธิในการจัดการทรัพยากรและมีชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดี
สุรชัย กล่าวว่า ถึงแม้หัวข้อการพูดวันนี้คือ ประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ แต่ในทางกฎหมายอาจจะไม่ใช่ทั้งหมดที่จะกล่าวได้ว่าประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติและมีสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี หากเราดูสถานการณ์เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมช่วงภายหลังการรัฐประหารปี 2557 มีสถานการณ์และการละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมจากนโยบายการพัฒนาจากภาครัฐ โดยรัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมาตรการที่แตกต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากมีการละเมิดสิทธิประชาชนหรือไม่มีประชาชนเข้ามามีส่วนในการจัดทรัพยากร เช่น การที่รัฐบาล คสช. ออกกฎหมายพิเศษโดยไม่ปรึกษากลุ่มใดและไม่รอใคร การผลักดันกฎหมายด้วย ม.44 ซึ่งออกคำสั่งพิเศษมาเป็นร้อยฉบับโดยกฎหมายเหล่านี้ไม่มีส่วนร่วมกับภาคประชาชนโดยเฉพาะด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นคำสั่ง 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ คำสั่งที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท คำสั่งที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งคำสั่งเหล่านี้เป็นปัญหาเพราะรัฐบาล คสช. นอกจากนี้ยังมีเรื่อง พ.ร.บ.แร่ที่ต้องกังวลอีกด้วยในขณะนี้
สถานการณ์สิ่งแวดล้อมหลังรัฐประหาร ละเมิดสิทธิประชาชน 'โดยชอบด้วยกฎหมาย'
สุรชัย กล่าวต่อว่า นอกจากการใช้กฎหมายพิเศษของรัฐบาล คสช. หน่วยงานราชการก็มีความตื่นตัวที่จะออกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิประชาชน ที่เห็นชัดคือ การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออก พ.ร.บ.ชุมนุม ส่วนขณะนี้ก็มีการผลักดัน พ.ร.บ.แร่ พ.ร.บ.โรงงาน ซึ่งมีกลุ่มชาวบ้านออกมาคัดค้านแล้วบางส่วน แต่กรณีที่เป็นปัญหามากๆ ในการดำเนินการของรัฐบาล คสช. คือ นอกจากการออกกฎเกณฑ์ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมของชุมชนภาคประชาสังคมแล้ว คำสั่งที่รัฐบาล คสช.ออกมา รัฐบาลก็ไม่ต้องรับผิดชอบเพราะเป็นความชอบด้วยกฎหมาย นอกจากการออกกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการบริหาร ยังออกกฎที่ควบคุมการแสดงความเห็นอย่างคำสั่งที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ซึ่งมีขึ้นมาเพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารแทนกฎอัยการศึกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 คำสั่งนี้ทำให้เกิดการจับประชาชนและใช้อำนาจเข้าไปตักเตือนพูดคุย ทหารเข้ามาคุมมานั่งฟังเวลาชาวบ้านจัดกิจกรรม สิ่งนี้ทำให้สิทธิในการแสดงความเห็นของประชาชนหายไป ดังนั้น การจะเรียกร้องสิทธิอื่นๆ ก็ยิ่งยากที่จะทำได้
"ผมอยากจะเสนอว่าตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ชุมชนก็มีการเริ่มใช้สิทธิชุมชนในการขับเคลื่อนเพื่อจะปกป้องชุมชนและทรัพยากรของตัวเองอย่างต่อเนื่อง พูดง่ายๆ ว่าสิทธิชุมชนมันมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ลองผิดลองถูกทั้งในพื้นที่และในกระบวนการยุติธรรมทางศาล ปัจจุบันตัวรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่พูดถึงเรื่องสิทธิชุมชนได้ถูกยกเลิกไป แต่การต่อสู้ของชุมชนมันได้สร้างความต่อเนื่องทางด้านสิทธิบางเรื่อง เช่น ศาลปกครองสูงสุดพิพากษารับรองสิทธิชุมชนแม้ว่าจะถูกยกเลิกเพิกถอนไป ศาลปกครองก็ตัดสินให้ยังมีผลใช้บังคับอยู่ โดยไปอ้างอิงกับ มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หรือคำพิพากษาฎีกาของคลิตี้ศาลก็ตีความเช่นเดียวกับศาลปกครองสูงสุดว่า ชุมชนคลิตี้ล่างเป็นชุมชนดั้งเดิมมีสิทธิได้ประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรและมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นการรับรองใช้สิทธิอย่างต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญ 2540 ปี 2550 เรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557" สุรชัย กล่าว
คดีปู่คออี้สะท้อนมุมมองศาล ‘สิทธิชุมชนมีอยู่จริง แต่ประชาชนยืนยันในสิทธิไม่ได้’
สุรชัย กล่าวว่า สิทธิชุมชนที่ชุมชนลุกขึ้นมาขับเคลื่อนไม่ได้มีนัยยะในทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังมีนัยยะในทางวัฒนธรรมที่ชุมชนรู้สึกว่ามันเป็นอำนาจของตนในการที่จะสื่อสารต่อคนภายนอกหรือพูดต่อสาธารณะชนว่า อันนี้เป็นสิทธิที่เขาอยากจะกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองซึ่งในขบวนการขับเคลื่อนที่ผ่านมาศาลเองก็ได้รับรองในสิทธิในส่วนนี้ แต่อย่างไรก็ดี มันยังมีข้อจำกัดในการใช้สิทธิอยู่บ้าง ยกตัวอย่างกรณีล่าสุด คือคดีของปู่คออี้ที่ถูกเจ้าหน้าที่เผาบ้านข้อหาบุกรุกป่าในพื้นที่แก่งกระจาน ผู้ฟ้องคือชาวบ้านและปู่คออี้ โดยอ้างว่าตนเองมีสิทธิที่จะอยู่อาศัย เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิมาไล่รื้อหรือเผาทำลาย จึงมีการฟ้องเรียกค่าเสียหายและร้องสิทธิกลับไปอยู่ในที่ทำกิน แต่คำพิพากษาศาลปกครองกลางซึ่งหากใครได้อ่านจริงๆ แล้วจะเห็นว่ามีข้อถกเถียงได้มากมาย และพอสรุปได้ว่าคำพิพากษาไม่ได้ปฏิเสธเรื่องสิทธิชุมชน ศาลยืนยันในสิทธิชุมชน แต่ศาลไม่เชื่อว่าพื้นที่ที่เรียกร้องนั้นเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มันเหมือนสิทธิชุมชนมันมี แต่ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้หรือเปล่า
"ผมคิดว่าคำพิพากษานี้สะท้อนปัญหาบางเรื่องในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม คือ สิทธิชุมชนมีอยู่จริง แต่เราสามารถยืนยันในสิทธิได้จริงหรือเปล่า ศาลปกครองตั้งประเด็นที่น่าสนใจที่ผมไม่เห็นด้วย การเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างที่บุกรุกป่าสามารถทำได้ ซึ่งคำพิพากษานี้จะเป็นแนวทางในอนาคตทำให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีนี้ดำเนินการได้ใช่รึเปล่า เรื่องนี้ควรจะต้องมีการถกเถียงต่อไป ผมอยากสรุปง่ายๆ จากคำพิพากษานี้ว่า ศาลเหมือนสรุปว่าเผาบ้านไม่เป็นไร แต่ต้องชดใช้เงินคืน จ่ายค่าเสียหาย ศาลปกครองให้เหตุผลว่าการเผาบ้านของเจ้าหน้าที่เป็นการป้องกันไม่ให้มีคนมาบุกรุกพื้นที่ต่อไป แต่การกระทำของเจ้าหน้าทำให้เกิดความเสียหายจึงต้องมีการชดใช้คืน" สุรชัยกล่าว
แม้มีสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญหลังประชามติ แต่กฎหมายลูกขัดขวาง
"เดิมตอนรัฐธรรมนูญปี 40 จะมีปัญหาว่าเวลาเขียนรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิชุมชนไม่มีกฎหมายลูกออกมรองรับ ผมคิดว่าในยุคนี้จะไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ในยุคนี้จะรีบออกกฎหมายมารองรับ โดยที่กฎหมายที่ออกมาประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการคิดเห็นแล้วว่ากฎหมายที่ออกมานั้นมีรายละเอียดส่งเสริมหรือขัดขวาง พูดง่ายๆ มันอาจดูดีในรัฐธรรมนูญแต่กฎหมายลูกขัดขวางและเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิของประชาชน" สุรชัยกล่าว
สุรชัย กล่าวว่า เรื่องสิทธิชุมชนที่เราพยายามขับเคลื่อนมาตั้งแต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารก็ตาม สิทธิชุมชนก็ยังมีการขับเคลื่อนไปภายใต้ข้อจำกัดตามแต่ละยุคสมัย ในปัจจุบันก็ยังมีข้อจำกัดมาก แต่ถ้าเราพูดต่อว่าหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามตินี้ สิทธิชุมชนยังมีผลบังคบใช้อยู่ไหม จริงๆแล้วถ้าไปอ่านเรื่องสิทธิชุมชนที่เคยมีการรับรองในรัฐธรรมนูญ ปี 40, 50 ก็ยังมีผลอยู่บ้าง แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่หายไป จากสิทธิชุมชนใน ม.67 ในรัฐธรรมนูญปี 50 กลายเป็นหน้าที่ของรัฐใน ม.58 ฉบับร่างรัฐธรรมนูญประชามติ และความน่ากังวลอีกคือในบทเฉพาะกาล ม.278 ให้ คณะะรัฐมนตรี(ครม.) และให้หน่วยงานรัฐร่างกฎหมายที่จำเป็นตาม ม.58 ให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้สภานิติบัญญัติพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 60 วัน นับแต่วันร่าง กฎหมายที่ออกมารวดเร็วจนไม่เห็นว่าประชาชนจะสามารถมีส่วนร่วมได้
"บทเฉพาะกาล และ ม.265 ให้คสช.อยู่ในตำแหน่งต่อไปและมีอำนาจพิเศษตาม ม.44 จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ และ ม.279 ประกาศคำสั่งการกระทำของคสช.ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญและที่ใช้ต่อไปในระหว่างรอรัฐบาลใหม่ให้มีผลใช้บังคับและชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญต่อไป การยกเลิก แก้ไข ต้องทำเป็นพระราชบัญญัติหรือ มติ ครม.แล้วแต่กรณี ซึ่งทั้งหมดนี้หมายความว่าประกาศคำสั่งของ คสช.ใดๆ ที่มีการละเมิดสิทธิของประชาชน ประชาชนจะตรวจสอบไม่ได้และจะมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีการยกเลิกแก้ไข" สุรชัยกล่าว