เล่นทีเผลอ! รัฐลุยยึดป่าชุมชน 2,300 ไร่ สนองเขต ศก.พิเศษ-ประเคนนายทุน ? (26 ต.ค. 59)

Green News TV 26 ตุลาคม 2559
เล่นทีเผลอ! รัฐลุยยึดป่าชุมชน 2,300 ไร่ สนองเขต ศก.พิเศษ-ประเคนนายทุน ?

สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (Greennews)

ป่าชุมชนอายุกว่า 200 ปี ใน ต.บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งมีเนื้อที่ร่วมๆ 2,300 ไร่ กำลังเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่รัฐบาลจะพิจารณาใช้เป็นพื้นที่รองรับนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย

ความชัดเจนข้างต้นมีขึ้นภายหลัง บุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผวจ.เชียงราย ทำหนังสือลงวันที่ 25 ต.ค.2559 เรื่องการนำที่ดินของรัฐมาใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง

หนังสือฉบับดังกล่าว ระบุว่า ด้วยอำเภอเชียงของได้จัดส่งเอกสารของ ต.บุญเรือง และหมู่บ้าน จำนวน 4 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 1,5,8 และ 10 ในพื้นที่ ต.บุญเรือง ซึ่งเป็น “พื้นที่สาธารณประโยชน์” เนื้อที่ 2,322-0-66 ไร่ เพื่อสนับสนุนนโยบายการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย

“เพื่อให้การทีดินของรัฐมาใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามนโยบายของรัฐบาล จังหวัดได้มอบหมายให้อำเภอเชียงของจัดประชุมประชาคมหมู่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน เพื่อให้ความยินยอมให้ใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์” ตอนหนึ่งของหนังสือ ระบุ

สำหรับกำหนดการจัดประชุมประชาคม “เพื่อให้ความยินยอมให้ใช้ที่ดิน” มีขึ้นในวันที่ 27 ต.ค.2559 เพียงวันเดียว โดยแบ่งเป็น หมู่ 1 และ หมู่ 10 เวลา 10.00 น. ส่วน หมู่ 5 และหมู่ 8 เวลา 13.30 น.

นอกจากนี้ จ.เชียงราย ยังได้มอบหมายให้โยธาธิการและผังเมือง จ.เชียงราย ในฐานะเลขานุการคณะทำงานสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการจัดหาที่ดินของรัฐ “สำหรับเอกชนและหน่วยงานรัฐ” ใช้ประโยชน์ ลงพื้นที่ชี้แจงกับชาวบ้านด้วย

 

จัดเวทีประชาคม ไม่สน ‘กลุ่มต้าน’

สำหรับผืนป่าบุญเรือง กระทรวงมหาดไทย (มท.) ประกาศให้เป็นที่ดินเลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์ตั้งแต่ปี 2515 โดยเอกสารระบุเนื้อที่ 3,021 ไร่

ที่ผ่านมา มีความพยายามหลายครั้งในการแปรสภาพ-เพิกถอนสถานะผืนป่าชุ่มน้ำแห่งนี้ ให้กลายเป็น “ที่ราชพัสดุ” นั่นเพราะปัจจุบันที่ดินใน อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีราคาพุ่งสูงถึงไร่ละ 5-6 ล้านบาท แน่นอนว่าเมื่อที่ดินราคาแพงเอกชนก็ไม่พร้อมเข้ามาลงทุน

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่รัฐบาลดำเนินการไม่สำเร็จ เนื่องจากถูกชาวบ้าน “หมู่2″ ต่อต้านอย่างหนัก

นั่นเพราะ ชาวบ้านหมู่ 2 หลายช่วงอายุคนผูกติดชีวิตไว้กับผืนป่าบุญเรือง ร่วมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่อง

เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เนื้อที่ป่า “ส่วนใหญ่” อยู่ในพื้นที่หมู่ 2

ชาวบ้านหมู่ 2 จึงมีความชอบธรรมในแสดงออกอย่างหนึ่งอย่างใด

ความเข้มแข็งของชาวบ้าน ‘นักสู้’

จุดแข็งของชาวบุญเรืองหมู่ 2 ประการแรกคือมีคน “ทุกวัย-ทุกเจนเนอเรชั่น” เข้าร่วมการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ อายุ 60-80 ปี คนวัยกลางคน 40-50 ปี หนุ่มสาวนักศึกษา-วัยทำงาน 20-30 ปี และเด็กๆ ชั้นระดับประถมศึกษา

“คนหนุ่มสาว” ทำหน้าที่จัดกระบวนการสื่อสารผ่านทางสังคมออนไลน์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ทีมยุทธศาสตร์ และทีมปฏิบัติการ โดยทีมยุทธศาสตร์ทำหน้าที่ย่อยข้อมูลวิชาการให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ จากนั้นก็จะนำสารที่ย่อยแล้วมาสื่อสารกับ “ทีมปฏิบัติการ” เพื่อส่งต่อให้กับชาวบ้าน

ขณะที่ชาวบ้าน “กลุ่มผู้นำ” ซึ่งอยู่ในวัยกลางคน มีหน้าที่วิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ รวมถึงผลกระทบที่จะได้รับหากนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ส่วนชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่ง เดินเท้าเข้าป่าลึกเพื่อเก็บตัวอย่างพืชพรรณ-สมุนไพร-ของป่า จัดแจงเป็นข้อมูล ทั้งในมิติความสำคัญ แหล่งที่ปลูก การใช้ประโยชน์

ในส่วนของชาวบ้านที่เป็นครู-อาจารย์ ก็จะให้ความรู้นักเรียน-นักศึกษา ถึงผลกระทบของอุตสาหกรรมและราคาที่ชาวบุญเรืองต้องจ่ายหากเกิดนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น
        ข้อมูลทั้งหมดถูกรวบรวมและจัดระบบ-ระเบียบ เป็นฐานข้อมูลและองค์ความรู้ของ “ชุมชน”

ทำร้ายป่าชุมชน-ทำลายคนริมโขง

นอกเหนือจากความสมบูรณ์เพราะมีระบบนิเวศย่อยถึง 8 ประเภท มีต้นไม้เฉลี่ย 124 ต้น/ไร่ มีหนองน้ำสำคัญ 12 หนอง พรรณไม้กว่า 72 ชนิด สมุนไพรกว่า 27 ชนิด เห็ด 13 ชนิด และสัตว์ป่าอีกไม่ต่ำกว่า 33 ชนิด แล้ว

ป่าบุญเรืองยังมีส่วนสำคัญในการเชื่อมร้อยวิถีชีวิตชาวบ้านริมโขง

ด้วยลักษณะเฉพาะของผืนป่าแห่งนี้มี “แม่น้ำอิง” ขนาบล้อม ก่อกำเนิดเป็นความหลากหลาย ทั้งพืช สัตว์ และปลา ไม่ต่ำกว่า 271 ชนิด

แม่น้ำอิงที่ขอดเลาะชายป่าบุญเรืองนั้น สัมพันธ์กับระบบนิเวศแม่น้ำโขงแนบแน่นเป็นเนื้อเดียว นั่นเพราะแม่น้ำอิงเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง และปลาประมาณ 80% ที่อยู่ในแม่น้ำโขง จะว่ายตาม กระแสน้ำอุ่นเข้ามาวางไข่ในแม่น้ำอิงสม่ำเสมอ

ข้อกังวลของชาวบ้านคือ หากนิคมฯ ผุดขึ้นที่ป่าชุมชนบุญเรืองจริง คงไม่อาจหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนแหล่งน้ำได้

เมื่อแม่น้ำอิงถูกทำลาย พันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงก็สูญสิ้น

เมื่อพันธุ์ปลาสูญสิ้น วิถีชีวิตคนริมน้ำก็แหลกละเอียด

จีระศักดิ์ อินทะยศ กลุ่มรักษ์เชียงของ ฉายภาพปัญหาว่า ตามเอกสารสิทธิ์ของ มท. ซึ่งสำรวจเมื่อปี 2510 ได้ประกาศให้พื้นที่ป่าบุญเรือง 3,021 ไร่ เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์เลี้ยงสัตว์ แต่จากเทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศในปัจจุบันพบว่าพื้นที่แห่งนี้มีกว่า 3,700 ไร่ โดยที่ผ่านมามีความพยายามจะร้องขอให้ชาวบ้านยกผืนป่าทั้งหมดให้กับกรมธนารักษ์ เพื่อเปิดใช้เอกชนเช่าต่อตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ

จีระศักดิ์ เล่าว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นป่าชุ่มน้ำสมบูรณ์ที่ใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำอิง มีระบบนิเวศเชื่อมโยงกับแม่น้ำโขงคือปลาจากแม่น้ำอิงกว่า 80 ชนิด จะอพยพขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำโขง ที่ผ่านมาชาวบ้านใช้ประโยชน์และร่วมกันรักษากันมายาวนาน หากป่าผืนนี้ถูกทำลายไปจะกระทบต่อวิถีชาวบ้านจนเกิดความเดือดร้อนอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาผืนป่าแห่งนี้ทำหน้าที่คอยรับน้ำตามธรรมชาติในช่วงฤดูฝน ซึ่งหากมีโครงการหรือนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจะเป็นการตั้งขวางทางน้ำ มีการคำนวณว่าหากระดับน้ำสูง 1 เมตร ท่วมเต็มทั้งพื้นที่ จะมีปริมาณถึง 6 ล้านลูกบาศก์เมตร คำถามคือหากมีการสร้างโครงการกั้น น้ำเหล่านี้จะไหลไปไหน

“ชาวบ้านได้ร่วมกันสำรวจพื้นที่ พบว่ามีต้นไม้ใหญ่เฉลี่ยไร่ละ 121 ต้น ยืนยันว่าที่นี่คือป่าสมบูรณ์ ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรมหรือทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์”จีระศักดิ์ ยืนยัน

ชาวบ้านประกาศสู้-เดิมพันด้วยชีวิต

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2559 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบกำหนดแปลงที่ดินเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะ 2 (เฟส2) โดย จ.เชียงราย ถูกกำหนดเนื้อที่ใช้ประโยชน์ 2,052 ไร่ ในพื้นที่ ต.สถาน อ.เชียงของ และ ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน

แม้ว่าขณะนั้น ชาวบ้านหมู่ 2 ต.บุญเรือง ต่างรู้สึกดีใจ ที่สามารถยับยั้งนโยบายและช่วยกันปกป้องผืนป่าได้สำเร็จ ทว่าลึกๆ แล้วชาวบ้านก็ยังกังวลว่า รัฐบาลจะย้อนกลับมายึดคืนผืนป่าแห่งนี้อีกครั้ง

พิชเญศพงษ์ คุรุปรัชฌามรรค ชาวบ้านหมู่ 2 ต.บุญเรือง เคยตั้งคำถามไว้ว่า พระราชินีได้ประทานคำขวัญวันแม่ปี 2558 ว่า ดิน น้ำ ลม ฟ้า ป่า เขา คือทรัพย์สินแผ่นดินแม่ที่ต้องรักษาไว้ให้หลานเหลน เหตุใดรัฐบาลจึงต้องเอาป่าอุดมสมบูรณ์ 1,700 ไร่ ไปทำนิคมอุตสาหกรรม

ขณะที่ ทรงพล จันทเรือง ชาวบ้านหมู่ 2 ต.บุญเรือง เคยประกาศไว้ว่า จะไม่ยินยอมให้ใช้ผืนป่าแห่งนี้ไปสร้างนิคมอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน และคงต้องต่อสู้กันให้ถึงที่สุด สู้ด้วยชีวิต

ณ วันที่ “ป่าบุญเรือง” ถูกหยิบยกเข้าสู่กระบวนการพิจารณา … ระฆังยกสองก็ดังขึ้น