ถอดสมการข่าว EP.10 ค่าปรับ 4 แสน - ค่ากำจัดกากของเสียหลายล้าน ราคาความตายของน้ำและดิน (26 ต.ค. 59)

PPTV 26 ตุลาคม 2559
ถอดสมการข่าว EP.10 ค่าปรับ 4 แสน - ค่ากำจัดกากของเสียหลายล้าน ราคาความตายของน้ำและดิน

โดย สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ความตายของ “ราชาแม่กลอง” ปลากระเบนราหูน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประมาณ 50 ตัว ที่พบตั้งแต่วันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ถือเป็นความสะเทือนใจอย่างรุนแรงต่อสังคมชนิดหนึ่ง

ภาพปลากระเบนยักษ์ ลอยตายในแม่กลองทีละตัวสองตัว ปรากฏผ่านสื่อติดต่อกันหลายวัน ทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย ว่า ใคร คือ “ฆาตกร” ตัวจริง

แต่กระบวนการค้นหาความจริง ไม่ง่ายดังใจนึก ไม่รวดเร็วตามอารมณ์ของสังคมที่ต้องการเห็นฆาตกรที่ฆ่าราชาแห่งแม่กลองถูกเผยโฉมโดยเร็ว ... นั่นสะท้อนความเชื่อถือต่อหน่วยงานของรัฐ

จนกระทั่ง 21 ตุลาคม 2559 กรมควบคุมมลพิษ แถลงผลการพิสูจน์การตายของปลากระเบนราหูในแม่นน้ำแม่กลอง ... ตั้งสมมติฐานว่า “กากส่าน้ำตาล” ที่รั่วไหลมาจาก “โรงงานราชบุรีเอทานอล” อาจเป็นสาเหตุการตายของปลากระเบน จากความเข้มข้นของแอมโมเนียอิสระสูง โดยใช้ข้อมูลประกอบว่า มีความเป็นไปได้ ที่กากส่าจะคงอยู่ในแม่น้ำ 7 – 8 วัน ใช้เวลาเดินทางของน้ำจาก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ถึง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม 6 – 8 ชั่วโมง และเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งอาจทำให้ น้ำในแม่น้ำแม่กลอง ไประบายลงสู่ทะเล

นี่เป็นข้อกล่าวหาเดียว หรือ สมมติฐานเดียวที่พบในขณะนี้ ... แต่ยังไม่ถือเป็นข้อเท็จจริง

โดยเฉพาะเมื่อวานนี้ (26 ต.ค.59) กระทรวงอุตสาหกรรม สั่งปรับโรงงานราชบุรีเอทานอล ที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่กลอง เป็นเงิน 4 แสนบาท และให้ปิดปรับปรุงเป็นเวลา 30 วัน โดยใช้โทษปรับอัตราสูงสุดตาม พรบ.โรงงานอุตสาหกรรม แต่ก็ยังไม่ระบุว่า น้ำเสีย หรือ กากส่า จากโรงงานแห่งนี้ เป็นต้นเหตุการณ์ตายของปลากระเบนหรือไม่ โดยอ้างว่า สารพิษที่ตรวจพบในปลากระเบน คือ ไซยาไนด์ แต่ไม่ใช่สารที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำตาลหรือเอทานอล

แน่นอนว่า โทษปรับ 4 แสน .... ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างมากมาย เมื่อเทียบกับภาพสะเทือนใจ ที่เห็นปลากระเบนยักษ์ ที่เหลืออยู่ในธรรมชาติน้อยเต็มทีลอยตายเกลื่อนแม่น้ำ

4 แสนบาท .. เท่านั้นเองหรือ .... แต่นี่คือ โทษปรับสูงสุด

ผมลองสอบถามกับผู้เชี่ยวชาญการกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรม ได้ข้อมูลที่น่าสนใจทีเดียว เกี่ยวกับ “ราคา” การกำจัด

สมมติว่า ของเสียนี้คือ กากส่าน้ำตาล

ผู้เชี่ยวชาญ ตั้งสมมติฐานว่า กากส่าน้ำตาล โดยทั่วไป สามารถนำไปให้เกษตรกรใช้ทำปุ๋ยได้ แต่ยืนยันว่า ใช้ในปริมาณน้อย ดังนั้น ยังมีส่วนที่ต้องนำไปกำจัดตามกระบวน และถึงแม้จะเป็นสารอินทรีย์ แต่ในกระบวนการผลิต อาจมีน้ำมันปนเปื้อน และต้องนำมาวิเคราะห์เชิงวิชาการ ดังนั้นวิธีกำจัดที่ดีที่สุด คือต้องผ่านโงงานกำจัดของเสียอันตรายชนิด 101 ซึ่งมีค่ากำจัดอยู่ที่ ตันละ ประมาณ 5000 บาท โดยปกติ โรงงานหนึ่งอาจมีกากส่าประมาณ 100-150 ตัน ต่อวัน ... ค่ากำจัดต่อวัน คงบอกได้ยาก เพราะต้องหักลบว่าเหลือของเสียเท่าไหร่ ดังนั้นลองคำนวณดู

แต่ที่แน่ๆ คือ หากคิดจากค่าปรับ 4 แสนบาท ... ถูกมาก เมื่อเทียบกับค่ากำจัดตามกฎหมาย

ส่วนที่มีข้อโต้แย้งว่า กากส่าน้ำตาล สามารถนำไปแยกสาร และเผาเป็นพลังงานได้ ผู้เชี่ยวชาญมั่นใจว่า ยังไม่มีใครงทุน เพราะต้องสร้างโรงไฟฟ้ามารองรับด้วย

ยิ่งถ้าเป็นของเสียอันตรายชนิดอื่น ไม่ต้องพูดถึง ... ค่ากำจัด แพงกว่านี้ ... แต่การทิ้งของเสียอันตราย หากถูกจับได้ จะมีโทษจำคุกด้วย จาก พรบ.วัตถุอันตราย

ปัญหา คือ โทษปรับ 4 แสนบาท เป็นโทษสูงสุด แต่เป็นราคาที่ถูกกว่า “ค่ากำจัด” กากของเสีย ... จึงเป็นไปได้ว่า การลักลอบทิ้งกากของเสีย (หมายถึงเคสทั่วไป ทุกเคส) จึงอาจคุ้มค่ากว่า การส่งไปกำจัดตามกระบวนการ

“แก้กฎหมายก่อนดีกว่ามั้ย”

*** ปล.ในกรณีแบบนี้ ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องฟ้องเยงค่าเสียหายจากผู้ประกอบการที่ปล่อยของเสีย ทั้ง กรมประมง ในฐานะที่ปลาตาย (รวมทั้งปลาในกระชัง หอย กุ้ง) / กรมอุทยานแห่งชาติสัว์ป่าและพรรณพืช ในฐานที่ปลากระเบนเป็นสัตว์สงวน เช่นเดียวกับวาฬบรูด้า (ถ้าพิสูจน์ได้ว่าการตายของปลากระเบนมาจากน้ำเสียของโรงงานแห่งนี้จริง) / กรมเจ้าท่า / กรมทรัพยากรน้ำ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ประชาชนสามารถ แจ้งเอาผิดหน่วยงานรัฐได้ด้วย หากเห็นว่า ไม่ดำเนินการเอาผิด ในฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่