ก.พลังงานตอกย้ำ “เชฟรอน” ต้องจ่ายภาษีฯ โยน “คลัง” เคลียร์ค่าโง่เอง (27 ต.ค. 59)
MGR Online 27 ตุลาคม 2559
ก.พลังงานตอกย้ำ “เชฟรอน” ต้องจ่ายภาษีฯ โยน “คลัง” เคลียร์ค่าโง่เอง
กระทรวงพลังงานตอกย้ำชัดเจนกรณีการใช้ดีเซลบนแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมต้องจ่ายภาษีฯ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมก็ไม่มียกเว้น เร่งประสานแก้ไขหวั่นไม่มีดีเซลป้อนแท่น “เชฟรอน” หลังกฏหมายตีความต่างกัน ชี้ปัญหาที่เกิดขึ้น “คลัง” ต้องเคลียร์เองหวังเรื่องจบได้ที่ “ครม.” มีมติ ขณะที่ “เชฟรอน” ย้ำทำตามกฎหมายและขอให้รัฐชัดเจน
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีปัญหาภาษีอากรสำหรับการส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันไปใช้ในเขตพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมของ บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ว่า ขณะนี้ทางเชฟรอน สำรวจและผลิต จำกัด ได้โทร.หารือถึงปัญหาการตีความทางกฎหมายที่ต่างกัน ทำให้บริษัทเชฟรอน (ไทย) ไม่กล้าส่งน้ำมันไปยังแท่นขุดเจาะกลางอ่าวไทย เมื่อจะซื้อค่ายอื่นๆ ก็ไม่กล้าเพราะไม่แน่ใจการตีความทางกฎหมาย ดังนั้นจะประสานเรื่องนี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขเพื่อไม่ให้กระทบต่อการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ตามมาตรา 70 การใช้น้ำมันดีเซลบนแท่นขุดเจาะไม่ได้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเพราะถือว่าเป็นการค้าภายในประเทศ โดย เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ โครงก่อสร้าง ยานพาหนะ ส่วนประกอบ อุปกรณ์ และวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ในการประกอบกิจการ ปิโตรเลียมเข้ามาในราชอาณาจักรได้ โดยให้ได้รับยกเว้นการเสียอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร แต่ของดังกล่าวต้องเป็นของที่คณะกรรมการมีคำสั่งเห็นชอบว่าจำเป็นในการประกอบกิจการปิโตรเลียม)
ต่อมากรมศุลกากรได้ตีความกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสากลในเรื่องของการยึดอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล ซึ่งกรมศุลกากรตีความตามกฤษฎีกาว่าอยู่นอกอาณาเขตตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 และได้ให้บริษัทปฏิบัติพิธีการศุลกากรส่งออก ส่งผลให้บริษัทได้รับยกเว้นหรือคืนภาษีสรรพสามิต และไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน การตีความต่างกันทำให้กรมฯ จึงได้หารือกับกรมศุลกากรเพื่อให้การปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน จึงสรุปกันว่าต้องจ่ายภาษีฯ เพราะ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมระบุไว้ชัดแล้ว
“การยกเว้นภาษีฯ เมื่อปี 2554 นั้นทำให้เชฟรอนไปขอคืนภาษีประมาณ 3,000 ล้านบาท เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังจะต้องไปเคลียร์กันเอง แต่ในแง่ของกระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงและกรมศุลกากรได้ตกลงแล้วในทางปฏิบัติว่าการใช้น้ำมันดีเซลบนแท่นขุดเจาะต้องเสียภาษีฯ และเรื่องนี้กรมศุลฯ คงจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เป็นมติทางกฎหมายที่ชัดเจน ซึ่งปัจจุบันเชฟรอนสำรวจและผลิตใช้ดีเซลเฉลี่ยวันละ 7 แสนลิตร โดยซื้อจากโรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟเนอร์รี่ (SPRC)” นายวีระศักดิ์กล่าว