รถไฟฟ้าทางคู่ช่วงนครราชสีมา-มาบตาพุด / แก่งคอย-บางซื่อ ลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านยกระดับโลจิสติกส์ไทย (24 ต.ค. 59)
ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 24 ตุลาคม 2559
รถไฟฟ้าทางคู่ช่วงนครราชสีมา-มาบตาพุด / แก่งคอย-บางซื่อ ลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านยกระดับโลจิสติกส์ไทย
รถไฟฟ้าทางคู่ช่วงนครราชสีมา-มาบตาพุด / แก่งคอย-บางซื่อ ลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านยกระดับโลจิสติกส์ไทย
โครงการพัฒนารถไฟเส้นทางนี้อยู่ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเร่งดำเนินการตามที่ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือต่อกันเพื่อพัฒนารถไฟทางขนาดทางมาตรฐาน(Standard Gauge) 1.435 เมตรสำหรับการขนส่งสินค้าและบริการผู้โดยสารระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยแนวเส้นทางผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) เข้าสู่ไทยที่จังหวัดหนองคาย
แนวรถไฟฟ้าทางคู่ขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร ช่วงนครราชสีมา-มาบพุด / แก่งคอย-บางซื่อ
โดยในเขตพื้นที่ประเทศไทยนั้นสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการเส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-แหลมฉบัง-มาบตาพุดด้วยระบบรถไฟฟ้าความเร็วปานกลาง ก่อนที่จะยกระดับไปสู่ระบบรถไฟความเร็วสูงในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้ระยะแรกจะเร่งดำเนินการช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมาและแก่งคอย-มาบตาพุด ก่อนจะขยายแนวเส้นทางจากนครราชสีมา-หนองคายในระยะต่อไป โดยช่วงจากบางซื่อ-แก่งคอย มีระยะทาง 133 กิโลเมตร แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กิโลเมตร และช่วงแก่งคอย-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 518 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง
แนวเส้นทางจะก่อสร้างทางคู่ขนาดมาตรฐานขึ้นมาใหม่ขนานไปกับแนวเส้นทางรถไฟขนาด 1 เมตรในปัจจุบัน รวมทั้งมีทางเชื่อมต่อ(Chord Line) เข้าใช้ทางร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-ระยองอีกด้วย โดยรูปแบบโครงสร้างทางรถไฟมีทั้งรูปแบบทางวิ่งระดับพื้น ทางวิ่งยกระดับช่วงสั้น และรูปแบบอุโมงค์
Advertisement
โดยรถไฟโดยสารนั้นจะเดินรถขนานกับทางรถไฟขนาด 1 เมตร จากหนองคายไปยังสถานีนครราชสีมาเข้าสู่กรุงเทพฯผ่านสถานีปากช่อง สระบุรี อยุธยา ดอนเมือง ไปสิ้นสุดที่สถานีบางซื่อ ส่วนผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไปยังภาคตะวันออกก็จะเดินรถแยกออกมาจากแก่งคอย ขนานไปกับทางรถไฟขนาด 1 เมตรไปยังสถานีปลายทางฉะเชิงเทรา เพื่อเปลี่ยนไปใช้บริการโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ระยอง เดินทางต่อไปยังชลบุรีและระยอง
ส่วนรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าจะเดินทางจากหนองคายผ่านนครราชสีมา แก่งคอย ฉะเชิงเทรา แล้วเชื่อมเส้นทางเข้ากับรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยองโดยใช้ทางร่วมกันเพื่อไปยังท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด ระหว่างทางจะมีลานกองเก็บตู้สินค้า หรือคอนเทนเนอร์ยาร์ด(Container Yard) อยู่ที่อำเภอองครักษ์ และจัดให้มีทางหลีกเป็นช่วงๆประมาณ 12 ช่วงเนื่องจากให้รองรับรถไฟความเร็วที่ต่างกันของรถไฟโดยสารและรถไฟขนส่งสินค้านั่นเอง
สำหรับจุดให้บริการสถานีฉะเชิงเทรานั้นจะมีการเชื่อมต่อที่ระดับพื้นดินจึงไม่จำเป็นต้องก่อสร้างสถานีพร้อมกัน ผู้ใช้บริการไฮสปีดเทรนสามารถเข้าชั้นจำหน่ายตั๋วได้สะดวก มีพื้นที่อเนกประสงค์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เมื่อโครงการเปิดให้บริการในระดับภูมิภาคจะช่วยลดน้ำมันเชื้อเพลิงลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม สะดวก รวดเร็วปลอดภัยตรงเวลาลดความแออัดในเมืองหลวง ประหยัดต้นทุนการผลิต กระจายความเจริญเชื่อมโยงที่อยู่อาศัยย่านธุรกิจ แหล่งงาน แหล่งวัตถุดิบ เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการขยายตัวของท่าเรือขนส่งสินค้า
ในส่วนระดับท้องถิ่นนั้นจะเกิดการพัฒนาที่ดินรอบๆสถานี การค้าการลงทุน เสริมสร้างกิจกรรมให้ผู้คนทุกระดับชั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้ ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว รองรับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารมากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น โดยตามผลการศึกษาเมื่อเปิดให้บริการกรุงเทพ-หนองคายจะมีปริมาณผู้โดยสารมากกว่า 2.5 หมื่นคน/วัน และขนส่งสินค้าได้ประมาณ 4 หมื่นตัน/วัน
ทั้งนี้ตามผลการศึกษาคาดว่าจะใช้งบลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท ขณะนี้ผ่านการเจรจาร่วมทั้ง 2 ประเทศมาแล้วถึง 14 ครั้งเบื้องต้นนั้นฝ่ายไทย-จีนจะเริ่มตอกเข็มก่อสร้างเป็นการนำร่องก่อน 3.5 กิโลเมตร ช่วงพื้นที่อำเภอกลางดง-ปากช่องช่วงปลายปีนี้ก่อนที่จะเร่งดำเนินการในช่วงอื่นๆต่อเนื่องกันไปให้ครบทุกช่วง โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างประมาณ 3 ปี ดังนั้นหากสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในต้นปีนี้ก็จะได้ใช้บริการประมาณปี 2562 กับรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งเพื่อมิติใหม่ ของการคมนาคมไทยกับโครงการรถไฟทางมาตรฐานเส้นทางช่วงนครราชสีมา-มาบตาพุด/แก่งคอย-บางซื่อ
ส่วนเมื่อเปิดให้บริการแล้วจะมีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการมากน้อยเพียงใดนั้นคงต้องมีลุ้นกันต่อไป
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,203 วันที่ 23 – 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559