กทม. ขอบริจาคภาชนะเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม คพ.เปิดสถิติขยะ – วันเดียว "ใช้โฟม 2.8 แสนใบ" (25 ต.ค. 59)
Green News TV 25 ตุลาคม 2559
กทม.ขอบริจาคภาชนะเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม คพ.เปิดสถิติขยะ – วันเดียวใช้โฟม 2.8 แสนใบ
ศูนย์ประสานงานอาสาสมัครทำดีเพื่อพ่อ คลอดมาตรการแก้ปัญหาขยะล้นสนามหลวง กทม.เปิดรับบริจาคภาชนะเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม-ใช้ซ้ำได้ ด้านกรมควบคุมมลพิษ ชี้ เจ้าหน้าที่อ่วม เหตุต้องแบกน้ำหนัก "อาหาร-น้ำ" ที่กินเหลือ
ที่ประชุมศูนย์ประสานงานอาสาสมัครทำดีเพื่อพ่อ (Volunteers for Dad) เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2559 ซึ่งมีตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้หารือและกำหนดมาตรการเพื่อแก้ปัญหาปริมาณขยะบริเวณท้องสนามหลวง ภายหลังพบว่ามีขยะตกค้างเฉลี่ยถึงวันละ 66 ล้านตัน
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เปิดเผยว่า ศูนย์ประสานงานฯ ได้เชิญหน่วยงานที่รับผิดชอบโรงครัวขนาดใหญ่ และผู้ผลิตภาชนะชีวภาพ มาหารือเพื่อกำหนดแนวทางลดปริมาณการใช้โฟม โดยเบื้องต้นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์หลายรายจะคิดราคาภาชนะชีวภาพในราคาพิเศษ และช่วยสนับสนุนภาชนะจำนวนหนึ่งให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบโรงครัว
“ขอความร่วมมือจิตอาสาที่จะนำอาหารมาแจกจ่ายให้ใช้ภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขอเชิญชวนให้ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือภาชนะพลาสติกที่สามารถใช้ซ้ำได้ เพื่อให้ประชาชนนำภาชนะเหล่านี้กลับมาหมุนเวียนในการรับอาหารและเครื่องดื่ม เชื่อว่าจะสามารถลดปริมาณขยะลงไปได้”พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว
สำหรับมาตรการกำจัดขยะ กทม.ได้ดำเนินการใน 6 เรื่อง ได้แก่ 1.กำหนดจุดรวบรวมขยะ 3 ประเภท (ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล และขยะทั่วไป) กำหนด 10 จุดหลักรอบสนามหลวง 2.จัดตั้งขยะแยกประเภทจำนวน 90 ถัง 3.สนับสนุนถุงใสใส่ขยะ สติ๊กเกอร์แยกขยะ 4.จัดรถเก็บขยะตามจุด 5.จัดหาผู้รับขยะเศษอาหารไปใช้ประโยชน์ 6.ขายขยะรีไซเคิล
นอกจากนี้ กทม.ยังได้ดำเนินการอีก 5 เรื่อง ได้แก่ 1.จัดรถสุขาจำนวน 49 คัน 2.จัดรถทำความสะอาดและรถน้ำจำนวน 30 คัน 3.การจัดการไขมันด้วยการเปิดบ่อพักน้ำดูดไขมันทุก 3 วัน 4.ให้บริการน้ำอุปโภคบริโภคด้วยการติดตั้งถังขนาดใหญ่ 48 ใบ พร้อมจุดเติมน้ำประปา 11 จุด 5.จัดจุดวางดอกไม้ 9 จุด โดยจะมีเจ้าหน้าที่จัดเก็บรวบรวมเพื่อนำไปตกแต่งถวายอาลัยที่หน้าพระบรมรูปและซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์จุดต่างๆ
ด้าน นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และว่าที่ปลัด ทส. กล่าวว่า จากจำนวนประชาชนที่เดินทางเข้ามายังบริเวณสนามหลวงจำนวนมาก ส่งผลให้มีปริมาณขยะเฉลี่ยวันละ 76 ตัน ในจำนวนนี้เป็นเศษอาหาร 32 ตัน โดยเฉพาะวันที่ 22 ต.ค.เพียงวันเดียวมียอดการใช้ภาชนะโฟมจากหน่วยงานที่มาลงทะเบียนจำนวน 2.8 แสนใบ ส่วนในช่วงวันหยุดยาว 22-24 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็พบว่าปริมาณอาหารกว่า 40% กลายเป็นขยะ
“เราพยายามรณรงค์หาทางทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้สึกว่ารับอาหารมาแล้วต้องรับประทานให้หมด เช่นเดียวกับน้ำดื่มบรรจุขวดที่ส่วนใหญ่พบว่ารับมาแล้วมักจะดื่มกันไม่หมด กลายเป็นภาระแก่เจ้าหน้าที่ที่นอกจากต้องมาเก็บขยะแล้ว ยังต้องแบกน้ำหนักของอาหารและน้ำที่เหลือเพิ่มขึ้นไปอีก” นายวิจารย์ กล่าว
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ศูนย์ประสานงานฯ ได้แบ่งการจัดการขยะเป็น 4 กระบวนการ คือ 1.การจัดเก็บรวบรวม โดยอาสาสมัครเก็บขยะที่มีอยู่ราว 600 คนต่อวัน 2.การคัดแยกขยะ โดยอบรมอาสาสมัครและให้ความรู้ประชาชน 3.การลดปริมาณขยะ โดยรณรงค์ขอความร่วมมือทุกฝ่ายให้ใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ 4.การไม่เพิ่มขยะ โดยส่งเสริมให้ประชาชนนำบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารหรือน้ำดื่มมาเอง
“นับเป็นโอกาสอันดีที่เราจะเริ่มต้นให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเรื่องการคัดแยกขยะ ส่วนการลดขยะเป้าหมายเราชัดเจนแล้วว่าจะทำให้กล่องโฟมหมดไปจากสนามหลวง ซึ่งทุกหน่วยงานพร้อมเริ่มแล้ว และต่อไปเราก็จะเชิญชวนให้ประชาชนพกกล่องพลาสติกหรือกระบอกน้ำมาเองเลย แล้วค่อยมาเติมอาหารกับน้ำดื่ม ซึ่งเราหวังว่านี่จะไม่ได้เป็นประโยชน์กับเฉพาะสนามหลวง แต่อาจเป็นโมเดลของการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศ” ผศ.ปริญญา กล่าว