กรมโรงงาน สั่งปรับขั้นสูงสุด 2 แสนบาท ‘ราชบุรีเอทานอล’ (26 ต.ค. 59)

สำนักข่าวอิศรา 26 ตุลาคม 2559
กรมโรงงาน สั่งปรับขั้นสูงสุด 2 แสนบาท ‘ราชบุรีเอทานอล’

กรมโรงงานฯ ฟัน ‘ราชบุรีเอทานอล’ สั่งปรับขั้นสูงสุด 2 แสนบาท ด้านผู้ว่าฯ จ.สมุทรสงคราม เร่งรวบรวมข้อมูลความเสียหายทั้งหมด มีส่วนใดบ้างได้รับผลกระทบ  

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ ‘สำนักข่าวอิศรา’ ถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับโรงงานราชบุรีเอทานอล กรณีปล่อยน้ำกากส่ารั่วไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง จนเป็นเหตุให้ปลากระเบนราหูตายเป็นจำนวนมาก ว่า  ในเรื่องนี้ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการ โดยเข้าไปตรวจสอบโรงงานตั้งแต่วันเกิดเหตุ หลังพบบ่อกักเก็บน้ำเสียแตก จึงสั่งให้มีการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งทางโรงงานก็ได้ปรับปรุงแก้ไขเป็นที่เรียบร้อย

"ขณะนี้ทางกรมโรงงานฯ ได้ส่งเรื่องดำเนินคดีไปแล้ว โดยแนวทางต่อจากนี้คือ หากโรงงานยอมรับผิดก็จะมีการเปรียบเทียบปรับ ซึ่งกรณีนี้มีโทษปรับขั้นสูงสุด 200,000 บาท แต่หากทางโรงงานไม่ยอมรับผิด ทางอัยการก็จะส่งฟ้อง ซึ่งก็ต้องรอศาลพิจารณาตัดสินอีกครั้ง" 

เมื่อถามถึงการดำเนินคดีในส่วนของกรมโรงงานฯ นั้น นายมงคล กล่าวว่า เมื่อโรงงานทำผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มีการสั่งปรับปรุงแก้ไขและดำเนินการคดีไปตามกฎหมาย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความเสียหายทางแพ่ง เราจึงสั่งปรับได้เพียงอย่างเดียว

"ส่วนประเด็นเรื่องปลากระเบนตาย เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปร้องทุกข์ แจ้งความดำเนินคดีอีกเรื่องหนึ่ง” นายมงคล กล่าว และว่า สำหรับการดำเนินการกับโรงงานราชบุรีเอทานอลนั้น ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ ซึ่งต้องรอผลการพิจารณาต่อไป  

ขณะที่นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงกรณีของบริษัท ราชบุรีเอทานอล จำกัด ความคืบหน้ากำลังรวบรวมข้อมูล จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะไปร้องทุกข์กล่าวโทษภายในสัปดาห์นี้

"ทางเรากำลังทำรายละเอียด โดยจะส่งภายใน 1-2 วันนี้ ขณะนี้กำลังร่างหนังสือ รวมเอกสารข้อมูลวิเคราะห์ ขณะเดียวกันก็กำลังจัดทำหนังสือถึงหน่วยงานจังหวัดที่เสียหายว่า ได้รับความเสียหายอะไรบ้าง ทั้งในเรื่องของปลาธรรมชาติและปลาในกระชัง ต่อจากนั้นก็จะมีพนักงานสอบสวน เข้าไปสอบสวนว่า เกิดอะไรขึ้น ทั้งนี้ กรณีนี้เป็นเรื่องของหน่วยงานอื่นด้วย ไม่ใช่เฉพาะกรมควบคุมมลพิษ เพราะหลังจากนี้ทางกรมประมง จะเข้ามาดำเนินการได้ตามพ.ร.บ.การประมง กรมเจ้าท่า เรื่องข้อระวังในการเดินเรือในน่านน้ำไทย โดยโทษเบื้องต้นจะอยู่ที่ การปรับและจับจะจำคุก 

ด้านนายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวกับ ‘สำนักข่าวอิศรา’ ถึงความคืบหน้ากรณีปลากระเบนราหูตายจำนวนมาก ในแม่น้ำแม่กลอง ว่า ขณะนี้ทางจังหวัดได้แจ้งให้ส่วนที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลความเสียหายทั้งหมดว่ามีส่วนใดบ้างได้รับผลกระทบ โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับปลาให้กรมประมงเป็นเจ้าทุกข์เป็นเจ้าของเรื่อง กรณีความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมก็ให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นเจ้าของเรื่อง ส่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะดูแลตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เรื่องการปล่อยน้ำไม่ถูกต้อง ไม่ผ่านการบำบัดก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งก็ต้องรับผิดชอบกันไป 

“สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่นอกเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเราก็ทำหน้าที่เพียงรวบรวมข้อมูลส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ส่วนประชาชนจะมีส่วนร่วมจะดำเนินงานตามกฎหมายต่างๆ ก็ต้องประสานไปยังกรมประมง คพ. และกรมโรงงานฯ ตามแต่ประเด็นที่เกี่ยวข้อง"

ส่วนความร่วมมือระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางจังหวัดสมุทรสงครามได้ประสานกับทางจังหวัดราชบุรีอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องโรงงานอุตสาหกรรม การปล่อยน้ำลงแม่น้ำลำคลอง  

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวด้วยว่า แม้สถานการณ์ครั้งนี้จะหยุดลงแล้ว แต่ทางจังหวัดก็มีมาตรการเฝ้าระวัง กระตุ้นให้ทุกฝ่าย ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความละเอียดรอบคอบ สังเกตความผิดปกติของสีน้ำ เฝ้าระวังเรื่องมลพิษ นอกจากนี้ยังมีการวางแผน สถานที่รองรับ ช่วยเหลือปลาไปบริบาล หากเกิดปัญหาลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการแก้ไขอย่างทันท่วงที ส่วนกรณีความเสียหายต่อปลากระชังของชาวบ้านนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล  คาดว่าจะมีการประชุมเพื่อติดตามเรื่องนี้อีกครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน