เปิดหนังสือ รง.ราชบุรีเอทานอล ทำน้ำกากส่ารั่วลงแม่กลอง (12 ต.ค. 59)

สำนักข่าวอิศรา 12 ตุลาคม 2559
เปิดหนังสือ รง.ราชบุรีเอทานอล ทำน้ำกากส่ารั่วลงแม่กลอง

บริษัทราชบุรี เอทานอล จำกัด  ทำหนังสือถึงประธานกรรมการลุ่มน้ำแม่กลอง ทำกากส่า รั่วไหลลงลำน้ำแม่กลอง ยันมิได้มีเจตนาที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และมีความสำนึกรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งต้องขออภัยทางชุมชนในเหตุการณ์ดังกล่าว  

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม นายภราดร จินดาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทราชบุรี เอทานอล จำกัด เลขที่ 9 หมู่ 6  ตำบล เบิกไพร อำเภอ บ้านโป่ง จังหวัด ราชบุรี ได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการลุ่มน้ำแม่กลอง (ผ่านสำนักงานเลขานุการ) ชี้แจงกรณีน้ำกากส่าสุดท้ายที่ผ่านการบำบัดแล้วของโรงงานราชบุรีเอทานอลรั่วไหลลงลำน้ำ

เนื้อหาระบุ เนื่องจากในวันที่ 30 กันยายน 2559 เวลา 8.50 น.ได้มีน้ำกากส่าสุดท้ายที่ผ่านการบำบัดแล้วของโรงงานราชบุรีเอทานอล รั่วผ่านทางรางระบายน้ำฝนลงแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งทางโรงงานได้ดำเนินการแก้ไขเร่งด่วนด้วยการใช้ดินบดอัดอุดการรั่วซึมของบ่อกักเก็บ และใช้กระสอบทรายปิดกั้นท่อระบายน้ำฝน พร้อมทั้งเร่งสูบน้ำที่ค้างท่อใส่รถกลับไปที่บ่อกักเก็บ

สำหรับมาตรการในเชิงป้องกันเพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดซ้ำ ทางโรงงานฯได้เร่งดำเนินการให้มีการปรับปรุงประตูระบายน้ำเปิด-ปิดได้แบบถาวร ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2559โดยระหว่างการปรับปรุงก่อสร้างได้จัดเจ้าหน้าที่คอยระวังป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำไหลออกนอกพื้นที่

ทางโรงงานฯขอเรียนชี้แจงว่า มิได้มีเจตนาที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และมีความสำนึกรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งต้องขออภัยทางชุมชนในเหตุการณ์ดังกล่าว โดยจะดำเนินการแก้ไขต่างๆ จะทำอย่างเร่งด่วนตลอด 24 ชั่วโมง และจะเพิ่มมาตรการในการตรวจสอบประจำวันให้มากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีกต่อไป

ขณะที่สำนักประมง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ท้ายแม่น้ำแม่กลอง รายงานผลกรณีเหตุการณ์ปลากระเบนราหูตายในแม่น้ำแม่กลองระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 10 ตุลาคม รวมทั้งสิ้น 45 ตัว โดยพบปลากระเบนราหูตายมากที่สุดช่วงวันที่ 8-9 ตุลาคม 

นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวอิศราถึงกรณีที่มีโรงงานปล่อยกากน้ำตาลลงสู่คลองจะเป็นสาเหตุให้ปลากระเบนราหูตายได้หรือไม่นั้น ว่าจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง แต่ก็มีความเป็นไปได้หากกากน้ำตาลถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำจำนวนมาก ความเข้มข้นของสารมาก ก็จะทำให้ออกซิเจนในน้ำต่ำ จนกระเบนที่อยู่ในน้ำนั้นขาดออกซิเจนจนตาย

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวต่อว่า แต่จากการที่ติดตามข้อมูลกระเบนราหูเป็นสัตว์น้ำลึก คิดว่าไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากกากน้ำตาล โดยส่วนตัวคิดว่าการที่กระเบนราหูตายน่าจะเป็นเพราะสารพิษที่บางโรงงานแอบปล่อยลงแหล่งน้ำ และน่าจะต้องเป็นสารพิษที่มีความเข้มข้นจึงสามารถทำให้สัตว์ที่อยู่น้ำลึกได้รับผลกระทบได้ และหากดูจากข่าวจะพบว่าไตกับเหงือกของกระเบนถูกทำลายตรงนี้ค่อนข้างแน่ชัดว่าเกิดจากสารพิษ เป็นสารพิษประเภทมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง เช่น คลอรีน หรือไฮโดรคลอริก

"ยังไม่สามารถตัดปัญหากากน้ำตาลทิ้งได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปเอาตัวอย่างมาตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยควรตรวจทุกโรงงานในระแวกนั้นว่าที่ไหนมีการปล่อยสารพิษอะไรบ้าง โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมสามารถตรวจสอบได้ หากตั้งใจที่จะตรวจสอบอย่างแข็งขัน เชื่อว่าจะสามารถหาผู้ที่กระทำผิดและเป็นต้นเหตุการตายของกระเบนครั้งนี้ได้"