คพ. ตั้งสมมติฐาน "กากส่า" จากโรงงานเอทานอล ราชบุรี ต้นเหตุกระเบนราหูแม่กลอง ตาย 50 ตัว (21 ต.ค. 59)

PPTV 21 ตุลาคม 2559
คพ. ตั้งสมมติฐาน "กากส่า" จากโรงงานเอทานอล ราชบุรี ต้นเหตุกระเบนราหูแม่กลอง ตาย 50 ตัว

กรมควบคุมมลพิษ แถลงผลพิสูจน์การตายของปลากระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลอง ตั้งสมมติฐาน เกิดจากระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียอิสระสูง ซึ่งเป็นผลจากการรั่วไหลของน้ำกากส่า จาก "โรงงานราชบุรี เอทานอล" สำหรับ ค่าที่ตรวจพบเกินกว่าความปลอดภัยของสัตว์น้ำประมาณ 18 เท่า ส่งผลให้ปลาตายเฉียบพลัน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ จะดำเนินการกล่าวโทษโรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษต่อพนักงานสอบสวน

วันนี้ ( 21 ต.ค. 59 ) นายวิจารย์  สิมาฉายา  อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ปลากระเบนราหูและสัตว์น้ำอื่นๆ ตายเป็นจำนวนมากในแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี และจังหวัดสมุทรสงคราม โดยเฉพาะซากปลากระเบนราหูที่เป็นสัตว์น้ำประจำถิ่นตายเป็นจำนวนมาก ในระหว่างวันที่ 1-7 ต.ค. 59 ในเขต อ.บางคนที และอ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษ ได้วิเคราะห์ผลคุณภาพน้ำที่เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงาน รวมทั้งทำการทดลองเพื่อทดสอบระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียในน้ำว่า จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการตายของปลากระเบนราหูหรือไม่ เพื่อเชื่อมโยงการปนเปื้อนของน้ำกากส่าที่มีการระบายทิ้งจากโรงงานเอทานอลราชบุรีที่ภาคประชาชนในพื้นที่ยังกังขา ซึ่งจากผลคุณภาพน้ำทำให้สันนิษฐานได้ว่า น้ำกากส่าที่รั่วยังคงสะสมในแม่น้ำแม่กลอง

จากที่ทราบกันว่า บริษัท ราชบุรีเอทานอล จำกัด ได้มีหนังสือชี้แจงถึงประธานกรรมการกลุ่มลุ่มน้ำแม่กลองกรณีน้ำกากส่าในบ่อ สุดท้ายที่ผ่านการบำบัดแล้วของโรงงานรั่วไหลลงแม่น้ำแม่กลอง เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 59 เวลา 08.50 น. โดยหน่วยงานต่างๆ ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำและวิเคราะห์ผลพบว่า ค่าออกซิเจนละลายน้ำ(DO) ในแม่น้ำแม่กลองตอนล่าง ช่วงระหว่างวันที่ 4-10 ต.ค. 59 ประมาณ 1.0-2.8 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งค่าออกซิเจนละลายน้ำดังกล่าวต่ำกว่าช่วงเดือนเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2558) และพบว่าค่าบีโอดี(BOD)ในแม่น้ำแม่กลองในพื้นที่เขตจังหวัดสุมทรสงคราม (บริเวณตั้งแต่ อ.บางคนทีลงมาจนถึงปากแม่น้ำ)เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 59 มีค่าสูงระหว่าง 11-28 มิลลิกรัมต่อลิตร

ดังนั้น จากผลคุณภาพน้ำดังกล่าวจึงตั้งข้อสันนิษฐานว่ากากส่าที่รั่วจาก บริษัท ราชบุรีเอทานอล จำกัด เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 ยังคงสะสมในแม่น้ำแม่กลองช่วงเขตจังหวัดสุมทรสงคราม อย่างน้อยจนถึง วันที่ 7 ตุลาคม 2559 โดยมีข้อมูลประกอบการสันนิษฐานเพิ่มเติมคือ ข้อมูลการเดินทางของน้ำในแม่น้ำแม่กลอง ของศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคตะวันตก พบว่า เวลาเดินทางของมวลน้ำจาก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มายัง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ เมื่อเจอกันอิทธิพลน้ำขึ้นในวันดังกล่าว จึงเป็นไปได้ว่ามวลน้ำดังกล่าวไม่สามารถระบายออกสู่ทะเล ทำให้น้ำกากส่าบางส่วนจะตกลงสู่ท้องน้ำ เนื่องจากน้ำกากส่ามีความถ่วงจำเพาะมากกว่าน้ำ ประกอบกับความเห็น รศ.สพญ.ดร.นันทริกา  ชันชื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ว่า ปลากระเบนได้รับสารเคมีที่เป็นพิษต่อระบบไต และระบบเหงือก และยังพบว่าความสามารถในการควบคุมความสมดุลในร่างกายเสียไป

กรมควบคุมมลพิษ จึงได้ตั้งสมมุติฐานการตายของปลากระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลองว่าเกิดจากระดับ ความเข้มข้นของแอมโมเนียอิสระสูง ซึ่งเป็นผลจากการรั่วไหลของน้ำกากส่า ทำให้เป็นพิษต่อปลากระเบนราหูและสัตว์น้ำอื่นๆ เนื่องจากปลาไม่สามารถขับแอมโมเนียออกจากร่างกายได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีออกซิเจนละลายน้ำต่ำ หรือสภาวะไร้อากาศใต้ท้องน้ำ และกรมควบคุมมลพิษได้ทำการทดลองเพื่อยืนยันสมมุติฐานดังกล่าวด้วยการจำลอง สภาพแหล่งน้ำธรรมชาติ แล้วเติมน้ำกากส่าในอัตราส่วน 1:130 แล้วทำการวัดแอมโมเนียอิสระอย่างต่อเนื่องทุก 15 นาที ซึ่งผลการทดลองพบว่า ค่าแอมโมเนียอิสระ มีค่าเริ่มต้น 0.10 มิลลิกรัมต่อลิตร และเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 มิลลิกรัมต่อลิตร เมื่อเวลาผ่านไป 46 ชั่วโมง ซึ่งค่าดังกล่าวเกินกว่าค่าความปลอดภัยต่อสัตว์น้ำ ประมาณ 18 เท่า ที่มีผลทำให้ปลาตายเฉียบพลัน สำหรับการดำเนินการในขั้นตอนต่อไปกรมควบคุมมลพิษจะดำเนินการกล่าวโทษโรงงาน ที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินการตากฎหมายที่ เกี่ยวข้องต่อไป

ด้าน รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผย ผลตรวจสอดคล้องกับที่พบสารไซยาไนด์ ในซากปลากระเบน เพราะมาจากแอมโมเนียอิสระ