ราคาที่โลกต้องจ่ายสังเวย "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" ทรัพยากรมีค่าสูญสิ้นระหว่างทาง "รีไซเคิล" (20 ต.ค. 59)

Green News TV 20 ตุลาคม 2559
ราคาที่โลกต้องจ่ายสังเวย ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ ทรัพยากรมีค่าสูญสิ้นระหว่างทาง ‘รีไซเคิล’

 

… สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (Greennews)

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน บริษัทยักษ์สัญชาติเกาหลีอย่าง Samsung ได้ประกาศยุติการผลิตและจำหน่ายสมาร์ทโฟนรุ่น Galaxy Note 7 อย่างเป็นทางการ ภายหลังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเครื่องโทรศัพท์ลุกไหม้และระเบิดอย่างต่อเนื่องได้ นับตั้งแต่มีการวางขายครั้งแรกเมื่อเดือน ส.ค.2559

แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหามาแล้วครั้งหนึ่ง ด้วยการเรียกคืนเครื่องโทรศัพท์จากผู้ใช้งานเพื่อนำไปเปลี่ยนแบตเตอรี่ แต่สุดท้ายปัญหาเดิมก็ยังเกิดขึ้นและไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด

Samsung จึงตัดสินใจยุติการผลิตและเรียกคืนโทรศัพท์ที่จำหน่ายไปแล้วราวๆ 2.5 ล้านเครื่อง ตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือน กลับสู่บริษัท

“โทรศัพท์ทั้งหมดจะไม่ถูกนำไปซ่อมแซม หรือประกอบใหม่ หรือนำกลับมาวางขายใหม่อีกต่อไป แต่เราจะมีขั้นตอนในการกำจัดที่ปลอดภัย” โฆษกของ Samsung ระบุ

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าผลพวงที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของ Samsung นำมาซึ่งการสูญเสียทรัพยากรครั้งมโหฬารอย่างเปล่าประโยชน์

มากไปกว่านั้นก็คือ ภายในระยะเวลาอันสั้นโลกใบนี้จะมีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นถึง 2.5 ล้านชิ้น

ข้อมูลเมื่อปี 2556 จาก สถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (IEEE) ระบุว่า ในการผลิตโทรศัพท์มือถือแต่ละเครื่องจะมีการใช้แร่ทรัพยากรดิบเฉลี่ยถึง 75 กิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม สำหรับ Galaxy Note 7 ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาร์ทโฟนที่ใหญ่ที่สุดและอัดแน่นด้วยเทคโนโลยีมากที่สุดเท่าที่ Samsung เคยผลิตมานั้น ตัวเลขการใช้แร่ทรัพยากรดิบก็จะมีจำนวนสูงขึ้นไปอีก

ที่สำคัญก็คือ ทรัพยากรแร่ที่ถูกนำออกมาเพื่อผลิตเป็นสมาร์ทโฟนจะต้องสูญเสียไปตลอดกาล

Benjamin Sprecherนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งศึกษาเรื่องการสกัดแร่โลหะที่มีค่าจากการรีไซเคิล ยืนยันว่า ไม่สามารถรีไซเคิลสมาร์ทโฟนเพื่อนำทุกอย่างกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างแท้จริง เพราะทรัพยากรที่น่าสนใจเกือบทั้งหมดจะสูญเสียไปกับการผลิตออกมาเป็นสมาร์ทโฟน

สอดคล้องกับ Kyle Wiensผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์งัดแงะอุปกรณ์ไอทีชื่อดังอย่าง iFixit ที่ระบุว่า สิ่งที่จะสูญเสียไปในขั้นตอนการรีไซเคิลคือแร่ธาตุอย่างอินเดียมซึ่งถูกใช้ในหน้าจอทัชสกรีน หรือแร่หายากอย่างนีโอไดเมียมที่ถูกใช้เป็นแม่เหล็กในลำโพงและไมค์ รวมไปถึงแร่โคบอลต์ซึ่งถูกใช้ในแบตเตอรี่

“แร่เหล่านี้ล้วนมีมูลค่าสูงหากพูดในแง่ของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับในแง่คุณภาพชีวิตของผู้คนที่ต้องทำงานในเหมืองเพื่อสกัดมันออกมา และจะน่าเสียใจยิ่งกว่าหากแร่ที่ถูกนำออกมาเหล่านี้ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ใด แต่กลับตรงดิ่งไปสู่ขั้นตอนการรีไซเคิลเลย” Kyle ระบุ

ในส่วนของธาตุนีโอไดเมียม ถือเป็นหนึ่งในธาตุหายากที่ไม่สามารถหาได้ในธรรมชาติ จะพบได้ในสินแร่อื่นซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อสกัดออกมาแล้วก็ได้ปริมาณไม่มากนัก แต่กลับมีประโยชน์มากมายมหาศาล จึงทำให้ต้องมีการควบคุมการผลิตในหลายประเทศ

จากรายงานเกี่ยวกับความยั่งยืนประจำปี 2559 ของ Samsung ที่ถูกเผยแพร่เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ได้ชี้แจงข้อมูลผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อนของสมาร์ทโฟนรุ่น Galaxy S6 โดยระบุว่า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเกินกว่า 50% ของโทรศัพท์รุ่นดังกล่าวมาจากขั้นตอนก่อนการผลิต รองลงมาคือการขนส่ง 24% ส่วนในขั้นตอนการผลิตเพียง 7% เท่านั้น

แม้จะยังไม่มีรายงานของรุ่น Galaxy Note 7 แต่ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหลักก็น่าจะมาจากขั้นตอนก่อนการผลิตเช่นเดียวกัน ซึ่งก็คือขั้นตอนการขุดหาแร่วัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตนั่นเอง

การสูญเสียแร่ทรัพยากรเช่นนี้คือเหตุผลหลักที่สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่มักไม่ถูกนำเข้ากระบวนการรีไซเคิล และถึงแม้โทรศัพท์จะสิ้นสุดอายุขัยก็มักจะถูกนำไปซ่อมแซมหรือประกอบใหม่ ก่อนนำกลับไปขายให้บริษัทธุรกิจประกันภัยโทรศัพท์มือถือ หรือนำไปขายให้กับผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนา

ฉะนั้น การยืดอายุการใช้งานสมาร์ทโฟนเหล่านี้ย่อมดีกว่าการแยกชิ้นส่วนเพื่อเปลี่ยนมันไปสู่สิ่งอื่น

อย่างไรก็ตาม มองอีกมุมหนึ่งการเรียกคืนสมาร์ทโฟนในปริมาณมหาศาลครั้งนี้ อาจทำให้เกิดการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการรีไซเคิลเพิ่มขึ้น

“เป็นเวลานานแล้วที่สมาร์ทโฟนเก่าหมดอายุกระจัดกระจายอยู่ทุกหนทุกแห่ง จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการรวบรวมเครื่องถูกหรืออยู่ในระดับต่ำ และเป็นเรื่องยากที่จะได้ประโยชน์หรือความคุ้มค่าอื่นๆ จากการจัดการสมาร์ทโฟนในปริมาณที่มากๆ แต่ในกรณีนี้ที่ต้องรีไซเคิลโทรศัพท์รุ่นเดียวกันทั้งหมดอาจทำให้เราข้ามพ้นข้อจำกัดดังกล่าว” Alex King ผู้อำนวยการฝ่ายพลังงานแห่งสถาบันทรัพยากรวิกฤติ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยอาเมส ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวแสดงความคิดเห็น

แน่นอนว่าคงไม่มีบริษัทใดอยากเผชิญกับสิ่งที่ Samsung กำลังประสบอยู่ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า Samsung อาจสูญเสียรายได้มากถึง 1.7 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 6 แสนล้านบาทจากเหตุการณ์ครั้งนี้

มูลค่าความเสียหายยังไม่นับรวมถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องกำจัดขยะอันตรายจำนวนมาก ผลกระทบที่ประเมินไม่ได้อย่างความมั่นใจของผู้บริโภค หรือราคาหุ้นของ Samsung ที่ตกลงถึง 8% มากที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

“แม้นี่จะเป็นการสูญเสียทรัพยากรปริมาณมโหฬารแต่มันก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น สมาร์ทโฟน 2.5 ล้านเครื่อง ไม่ได้มากมายอะไรเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนทั้งหมดในตลาด ดังนั้นในแง่สิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากร มันจึงไม่ได้เป็นประเด็นขนาดนั้น” Benjamin แสดงทรรศนะ

แทนที่จะมองว่ามันเป็นภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมชนิดที่ยากจะแก้ไข เราอาจควรเรียกมันว่าภัยที่สามารถป้องกันได้ และบริษัทผลิตสมาร์ทโฟนทั้งหมดควรที่จะได้เรียนรู้จากมัน

แน่นอนว่า เราไม่ได้ปฏิเสธกระบวนการ ‘รีไซเคิล’ หากแต่พยายามชี้ประเด็นให้เห็นถึงสิ่งที่ต้องสูญเสียและสูญสิ้นไปตลอดกาล

นั่นคือราคาที่มนุษย์และโลกต้องจ่าย ในระหว่างที่ยังไม่มีทางออกที่ดีกว่านี้ให้กับขยะอิเล็กทรอนิกส์