ผ่าเทรนด์โลกลดอุณหภูมิร้อนด้วย‘ชุมชน’COP22พุ่งเป้า‘เอกชน-ปชช.’มากกว่า‘รัฐบาล’ (20 ต.ค. 59)

Green News TV 20 ตุลาคม 2559
ผ่าเทรนด์โลกลดอุณหภูมิร้อนด้วย‘ชุมชน’COP22พุ่งเป้า‘เอกชน-ปชช.’มากกว่า‘รัฐบาล’

… วีรทัศน์ อิงคภัทรางกูร

ผลจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (Conference of Parties : COP 21) ที่จัดขึ้นเมื่อปลายปี 2558 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นำมาซึ่งรูปธรรมของความพยายามลดสภาวะโลกร้อน และถูกพูดถึงมากที่สุดตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา

ตัวเลข 2 และ 1.5 องศาเซลเซียส คือเป้าหมายที่หลายภาคส่วนหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงอย่างกว้างขวาง เพื่อดำเนินการสกัดกั้นไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเกินกว่านั้น

อเล็กซองดรา บาร์นูซ์ เจ้าหน้าที่รับผิดชอบโครงการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัย สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เล่าว่า ภายหลังสิ้นสุดเวที COP21 แต่ละประเทศต้องกลับไปดำเนินการตามเป้าหมายการดำเนินงานในระดับประเทศอย่างมุ่งมั่น Intended Nationally Determined Contribution (INDC) ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป

ทว่า สิ่งที่กำลังจะเวียนกลับมาบรรจบอีกครั้งก็คือเวลาของการติดตามผลลัพธ์ ในเวที COP 22 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-18 พ.ย.นี้ ณ เมืองมาราเกช ประเทศโมร็อคโค

“ในหลายประเทศเริ่มพูดไปถึงขั้นที่มากกว่า คือการสร้างความร่วมมือไปยังภาคส่วนอื่นๆ นอกเหนือไปจากการดำเนินงานระดับรัฐบาล (NAZCA platform)” เธอให้ทิศทางการดำเนินการในอนาคต

เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ฉายภาพต่อไปว่า ในการประชุม COP22 สิ่งที่จะถูกพูดถึงมากขึ้นคือการกระจายความร่วมมือไปยังภาคเอกชน ประชาชน รวมถึงเยาวชน ในการสร้างความร่วมมือเพื่อดำเนินการตามเป้าหมายลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เจอโรม ปงส์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติโครงการความร่วมมือ สหภาพยุโรป (EU) บอกว่า นอกจากสหภาพยุโรปซึ่งมีสมาชิก 28 ประเทศ จะต้องดำเนินการตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 40% ภายในปี 2573 แล้ว สหภาพยุโรปยังได้สนับสนุนการดำเนินการในประเทศอื่นๆ อีกด้วย

หนึ่งในนั้นก็คือ “ประเทศไทย”

ในระดับประชาสังคม สหภาพยุโรปได้สนับสนุนการดำเนินงานของ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สำนักงานภาคเหนือ ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวของชุมชนให้มีความรู้ความสามารถในการจัดการปัญหา

เดโช ไชยทัพ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สำนักงานภาคเหนือ ระบุว่า มูลนิธิได้ยกระดับการขับเคลื่อนเพื่อปกป้องสิทธิในการจัดการทรัพยากร โดยวางแผนเชื่อมโยงการตอบโจทย์ปัญหาระดับสากล อย่างเช่นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะใช้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ได้ยกระดับสิทธิชุมชนให้มีผลทันทีโดยไม่ต้องรอกฎหมายบัญญัติ มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงาน

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีขนาดราว 1.7 ล้านไร่ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 123 กิโลเมตร คือหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญด้านทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำของประเทศไทย โดยแม่น้ำแม่แจ่มนับเป็นลำน้ำสาขาสำคัญของแม่น้ำปิง ซึ่งให้น้ำ 40% แก่แม่น้ำปิง และ 17% แก่แม่น้ำเจ้าพระยา

ขณะที่ประชากรในอำเภอมีจำนวนเกือบ 6 หมื่นคน กระจายตัวใน 7 ตำบล 104 หมู่บ้าน ทว่าในพื้นที่กลับมีที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเพียง 2.3 หมื่นไร่ หรือราว 1.4% เท่านั้น นอกเหนือจากนั้นคือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหรือพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้งหมด

จึงเกิดปรากฎการณ์ที่ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมซึ่งอยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน กลายสภาพเป็นผู้บุกรุก-ผิดกฎหมาย และเมื่อคนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างไม่สมดุล สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือผลกระทบลูกโซ่ ตั้งแต่ปัญหาหนี้สินของชาวบ้าน การขาดทางเลือกการดำรงชีพ การบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ไปจนถึงการขยายตัวของพืชเศรษฐกิจ

เมื่อผนวกกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้แม่แจ่มกลายเป็นพื้นที่ลำดับต้นๆ ของ จ.เชียงใหม่ ที่มีปัญหาความรุนแรงของไฟป่าและหมอกควันมากที่สุด

ข้อค้นพบหนึ่งภายหลังวิเคราะห์แลกเปลี่ยนกันหลายภาคส่วนก็คือ ปัญหาหมอกควันไฟป่าเกี่ยวข้องกับเหตุปัจจัยเรื่องการใช้ที่ดินและรูปแบบของระบบการผลิต ที่สัมพันธ์กับปัญหาปากท้องของประชาชน

ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงมิใช่การแก้เฉพาะหน้าในช่วงวิกฤติ แต่ต้องเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงระบบที่คำนึงถึงเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป

จ.เชียงใหม่ เลือกใช้ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ร่วมมือกับทุกภาคส่วนทำข้อมูลสำรวจพิกัดจำแนกขอบเขตการใช้ประโยชน์ของที่ดินทำกินออกจากพื้นที่ป่า และสร้างกติกาการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกัน รวมทั้งจัดทำ “ข้อเสนอสัญญาประชารัฐแม่แจ่ม เพื่อการพัฒนาอำเภอแม่แจ่มอย่างยั่งยืน” ซึ่งมีเจตนารมณ์แก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า การบุกรุกแผ้วถางเขตป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำกิน ฟื้นฟูสภาพคนและป่าต้นน้ำ ตลอดจนลดการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว

ผลลัพธ์ที่ได้ออกมา คือค่าสะสมจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ใน อ.แม่แจ่ม ปี 2559 เหลือจำนวนเพียง 30 จุด หรือลดลง 92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอยู่ถึง 384 จุด

ชานนท์ คำทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ ระบุว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการตั้งแต่บัดนี้ และเป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐไม่สามารถดำเนินการได้เองโดยลำพัง จำเป็นต้องอาศัยความมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

อีกตัวอย่างหนึ่งคือในส่วนของ ต.ทาเหนือ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกสัมปทานป่าไม้ตั้งแต่ปี 2444 โดยบริษัทผลิตไม้ซุง หลังจากนั้น 56 ปี คือในปี 2500 มีการพัฒนาระบบคมนาคมโดยเฉพาะรางรถไฟ จึงมีการตัดไม้ทำหมอนรถไฟและฟืนรถไฟจำนวนมาก

สิ่งที่ตามมาคือความเสื่อมโทรมของทรัพยากรขั้นรุนแรง ความแห้งแล้งของลำน้ำธรรมชาติ ส่งผลกระทบชาวบ้านเป็นวงกว้าง

นั่นทำให้ชุมชนต้องลุกขึ้นมาจัดการปัญหาด้วยการกำหนดกติกาของตัวเอง ก่อกำเนิดเป็น “ข้อบัญญัติท้องถิ่น” ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก่อนจะนำไปสู่การตราข้อบัญญัติ อบต.ทาเหนือ ว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2554

ข้อบัญญัติดังกล่าว ได้นำไปสู่การยกระดับการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) นักวิชาการ หรือองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ตื่นตัวและร่วมกันแก้ไขปัญหาทรัพยากรในระดับท้องถิ่น ที่เชื่อมโยงกับนโยบายในระดับจังหวัด และเชื่อมโยงกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผลจากการแก้ไขปัญหาร่วมกันคือ ต.ทาเหนือ ได้เปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากรูปแบบรายแปลงไปสู่การสร้างกองทุน เพื่อทำหน้าที่เป็นเงินทุนในการพัฒนาระบบการผลิต และป้องกันการซื้อขายเปลี่ยนมือ

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงทำให้เกิดแผนการใช้ประโยชน์ของที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

ทั้งหมดเป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ

มากไปกว่านั้นก็คือ เราทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งในการลดระดับความรุนแรงของปัญหานี้ลงได้