เล็งฟ้อง “โรงงานเอทานอลราชบุรี” สัปดาห์นี้ ต้นเหตุ “สุสานปลากระเบน” แม่น้ำแม่กลอง (23 ต.ค. 59)

MGR Online 23 ตุลาคม 2559
เล็งฟ้อง “โรงงานเอทานอลราชบุรี” สัปดาห์นี้ ต้นเหตุ “สุสานปลากระเบน” แม่น้ำแม่กลอง


ภาพจากเฟซบุ๊ก "Nantarika Chansue" เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2559

กรมควบคุมมลพิษ เตรียมร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีต่อโรงงานราชบุรีเอทานอลสัปดาห์นี้ หลังชาวบ้านระบุน้ำกากส่าที่รั่วไหล เป็นต้นตอที่ทำให้ปลากระเบนเสียชีวิตจำนวนมาก ระบุ ผลพิสูจน์คุณภาพน้ำ พบค่าออกซิเจนละลายน้ำต่ำ และค่าบีโอดีสูง อีกทั้งค่าแอมโมเนียอิสระพุ่งสูงขึ้นถึง 18 เท่า ทำให้สัตว์น้ำตายเฉียบพลัน
       
       นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ปลากระเบนราหูและสัตว์น้ำอื่น ๆ ตายเป็นจำนวนมากในแม่น้ำแม่กลอง จ.ราชบุรี และ จ.สมุทรสงคราม โดยเฉพาะซากปลากระเบนราหูที่เป็นสัตว์น้ำประจำถิ่นตายเป็นจำนวนมาก ในระหว่างวันที่ 1 - 7 ต.ค. ในเขต อ.บางคนที และ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษ ได้วิเคราะห์ผลคุณภาพน้ำที่เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงาน รวมทั้งทำการทดลองเพื่อทดสอบระดับความเข้มข้นของแอมโนเนียในน้ำ ว่า จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการตายของปลากระเบนราหูหรือไม่ เพื่อเชื่อมโยงการปนเปื้อนของน้ำกากส่าที่มีการระบายทิ้งจากโรงงาน บริษัท ราชบุรีเอทานอล จำกัด ต.เบิกไพร อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ที่ภาคประชาชนในพื้นที่ยังกังขา ซึ่งจากผลคุณภาพน้ำทำให้สันนิษฐานได้ว่า น้ำกากส่าที่รั่วยังคงสะสมในแม่น้ำแม่กลอง
       
       ทั้งนี้ จากที่ทราบกันว่า บริษัท ราชบุรีเอทานอล ได้มีหนังสือชี้แจงถึงประธานกรรมการลุ่มน้ำแม่กลอง กรณีน้ำกากส่าในบ่อสุดท้ายที่ผ่านการบำบัดแล้วของโรงงานรั่วไหลลงในแม่น้ำแม่กลอง เมื่อวันที่ 30 ก.ย. เวลา 08.50 น. โดยหน่วยงานต่าง ๆ ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำและวิเคราะห์ผล พบว่า ค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) ในแม่น้ำแม่กลองตอนล่าง ช่วงระหว่างวันที่ 4 - 10 ต.ค. ประมาณ 1.0 - 2.8 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งค่าออกซิเจนละลายน้ำดังกล่าวต่ำกว่าช่วงเดือนเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2558) และพบว่า ค่าออกซิเจนที่จุลินทรีย์ต้องการใช้ในการย่อยสลายอินทรีย์สารที่มีอยู่ในน้ำ หรือ บีโอดี (BOD) ในแม่น้ำแม่กลองในพื้นที่เขตจังหวัดสมุทรสงคราม บริเวณตั้งแต่ อ.บางคนที ลงมาจนถึงปากแม่น้ำ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. มีค่าสูงระหว่าง 11 - 28 มิลลิกรัมต่อลิตร
       
       ดังนั้น จากผลคุณภาพน้ำดังกล่าวจึงตั้งข้อสันนิษฐานว่าน้ำกากส่าที่รั่วจากบริษัท ราชบุรีเอทานอล เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ยังคงสะสมในแม่น้ำแม่กลองช่วงเขตจังหวัดสมุทรสงคราม อย่างน้อยจนถึงวันที่ 7 ต.ค. โดยมีข้อมูลประกอบการสันนิษฐานเพิ่มเติมคือ ข้อมูลการเดินทางของน้ำในแม่น้ำแม่กลอง ของศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคตะวันตก พบว่า เวลาเดินทางของมวลน้ำจาก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มายัง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ใช้เวลาประมาณ 6 - 8 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ เมื่อเจอกันอิทธิพลน้ำขึ้นในวันดังกล่าว จึงเป็นไปได้ว่ามวลน้ำดังกล่าวไม่สามารถระบายออกสู่ทะเล ทำให้น้ำกากส่าบางส่วนจะตกลงสู่ท้องน้ำ เนื่องจากน้ำกากส่ามีความถ่วงจำเพาะมากกว่าน้ำ
       
       ประกอบกับความเห็นของ รศ.สพญ.ดร. นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ว่า ปลากระเบนได้รับสารเคมีที่เป็นพิษต่อระบบไตและระบบเหงือก และยังพบว่าความสามารถในการควบคุมความสมดุลในร่างกายเสียไป กรมควบคุมมลพิษ จึงได้ตั้งสมมติฐานการตายของปลากระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลอง ว่า เกิดจากระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียอิสระสูง ซึ่งเป็นผลจากการรั่วไหลของน้ำกากส่า ทำให้เป็นพิษต่อปลากระเบนราหูและสัตว์น้ำอื่น ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีออกซิเจนละลายน้ำต่ำ หรือสภาวะไร้อากาศใต้ท้องน้ำ
       
       นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษได้ทำการทดลองเพื่อยืนยันสมมติฐานดังกล่าวด้วยการจำลองสภาพแหล่งน้ำธรรมชาติ แล้วเติมน้ำกากส่าในอัตราส่วน 1:130 แล้ว ทำการวัดแอมโมเนียอิสระอย่างต่อเนื่องทุก 15 นาที ซึ่งผลการทดลองพบว่า ค่าแอมโมเนียอิสระ มีค่าเริ่มต้น 0.10 มิลลิกรัมต่อลิตร และเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 มิลลิกรัมต่อลิตร เมื่อเวลาผ่านไป 46 ชั่วโมง ซึ่งค่าดังกล่าวเกินกว่าค่าความปลอดภัยต่อสัตว์น้ำ ประมาณ 18 เท่า ที่มีผลทำให้ปลาตายเฉียบพลัน สำหรับการดำเนินการในขั้นตอนต่อไปกรมควบคุมมลพิษจะดำเนินการกล่าวโทษโรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
       
       ทั้งนี้ ตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมสามารถฟ้องร้องทางแพ่งเรียกค่าเสียหายได้ 3 ด้าน คือ ค่าเสียหายบุคคล คือ ผู้เสียหายจากการเลี้ยงปลากระชังที่ปลาตาย ค่าเสียหายชดใช้ในส่วนราชการที่ต้องลงพื้นที่ทำงานติดตามแก้ปัญหา และค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมประมงจะรวบรวมเรียกค่าเสียหาย หากเจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษยอมชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดจะไม่จำเป็นต้องฟ้องศาล แต่ในเบื้องต้นกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้แจ้งความดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติโรงงาน ในข้อหาการปล่อยน้ำเสียไม่เป็นไปตามมาตรฐานแล้ว ซึ่งจะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยใช้ประกอบกับกฎหมายตามพระราชบัญญัติการประมง และพระราชบัญญัติการเดินเรือน่านน้ำไทย สามารถดำเนินคดีได้ สำหรับสัปดาห์หน้ากรมควบคุมมลพิษจะไปร้องทุกข์กล่าวโทษให้พนักงานสอบสวนดำเนินการหาข้อเท็จจริงต่อไป
       
       ด้าน รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบปลากระเบนที่ตายได้รับสารเคมีเป็นพิษต่อระบบไตและระบบเหงือก และยังพบว่าความสามารถในการควบคุมความสมดุลของร่างกายเสียไปด้วย ซึ่งสารเคมีที่ตรวจสอบพบมีสารไซยาไนด์ในตัวปลา โดยสาเหตุการตายเกิดจากเลือดคลั่งในอวัยวะต่าง ๆ ทั้งถุงลม ไต และตับ ทำให้ปลาที่ตายเป็นปลาตัวใหญ่ เพราะไซยาไนด์เป็นพิษทางอ้อมและทำปฏิกริยากับเอนไซด์ในตับ หากปลาตัวไหนมีตับเยอะจะมีพิษมาก ทั้งนี้ จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ตรวจพบแอมโมเนียอิสระมีค่าสูงมากสามารถทำให้ปลาตายได้ แม้จะไม่มีสารไซยาไนด์