กรมควบคุมมลพิษแนะย้อมผ้าดำเทน้ำเสีย "อย่ารดพืชสวนครัว" เด็ดขาด (23 ต.ค. 59)
ประชาไท 23 ตุลาคม 2559
กรมควบคุมมลพิษแนะย้อมผ้าดำเทน้ำเสียอย่ารดพืชสวนครัวเด็ดขาด
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แนะประชาชนที่ต้องการกำจัดน้ำเสียจากการย้อมผ้าดำ ให้เทน้ำเสียผ่านอิฐแดง หรือปล่อยน้ำระเหยแล้วทิ้งตะกอนเป็นขยะอันตราย เตือนถ้าจะรดน้ำต้นไม้ อย่ารดพืชผักที่นำไปรับประทานเด็ดขาด ด้าน กทม.ขอความร่วมมือ ไม่ทิ้งสีย้อมผ้าลงแหล่งน้ำ-ท่อระบายน้ำ
23 ต.ค. 2559 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่าการจัดการน้ำเสียอย่างง่ายจากการย้อมผ้า เนื่องจากขณะนี้ประชาชนจำนวนมากมีความต้องการเสื้อผ้าสีดำเพื่อสวมใส่แสดงความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงได้นำเสื้อผ้ามาย้อมให้เป็นสีดำ ซึ่งการย้อมดังกล่าวมีการใช้สีย้อมรีแอคทีฟ (Reactive dyes) ทำให้เกิดน้ำเสียหลังการย้อมผ้า เพราะสีย้อมบางชนิดมีส่วนผสมของโลหะหนัก เช่น ทองแดง ตะกั่ว โครเมียม เป็นต้น
กรมควบคุมมลพิษจึงขอแนะนำทางเลือกในการจัดการน้ำเสียอย่างง่ายจากการย้อมผ้า ดังนี้ 1. เทน้ำเสียจากการย้อมผ้าผ่านอิฐแดง เพื่อช่วยดูดซับโลหะหนักในน้ำเสีย 2. ปล่อยน้ำทิ้งให้ระเหยแห้งแล้วนำตะกอนไปฝังดิน หรือนำไปทิ้งในถังรับขยะอันตราย 3. เติมโซดาไฟ เติมสารส้มเพื่อให้สีตกตะกอน ใส่น้ำส้มสายชูเล็กน้อยก่อน แล้วนำน้ำใสไปรดต้นไม้ที่เป็นไม้ประดับหรือสนามหญ้า ส่วนตะกอนที่เหลือนำไปฝังดิน หรืออีกวิธีหนึ่งคือ ตั้งทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำไปรดต้นไม้ แต่ควบคุมให้อยู่ในปริมาณน้อย อย่านำไปรดต้นไม้หรือพืชผักที่นำไปรับประทานเด็ดขาด
กทม.ขอความร่วมมือ ไม่ทิ้งสีย้อมผ้าลงแหล่งน้ำ-ท่อระบายน้ำ
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวว่า ในช่วงการถวายความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีประชาชนบางส่วนยังขาดแคลนเสื้อผ้าสีดำ ประกอบกับหาซื้อยากและมีราคาสูง จึงมีการนำเสื้อผ้าไปย้อมสีดำเพื่อสวมใส่ แต่สีย้อมผ้ามีโลหะหนักเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง หากไม่มีการกำจัดอย่างถูกวิธี ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนได้ ซี่งสำนักการระบายน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมการจัดการน้ำเสีย โดยประสานความร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมูลนิธิตาวิเศษ ร่วมมือกันเพื่อให้ความรู้และจัดการบำบัดน้ำเสียจากการย้อมผ้าไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับน้ำทิ้งในการย้อมผ้าจะมีโลหะหนักเป็นส่วนประกอบ หากปล่อยลงดินจะทำให้เกิดการสะสมในดินซึ่ง จะกระทบต่อพืช หากทิ้งลงแหล่งน้ำธรรมชาติ จะเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ พืชน้ำ และลักษณะทางกายภาพของน้ำ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อระบบบำบัดน้ำเสียของกทม. เนื่องจากระบบบำบัดน้ำเสียออกแบบมาเพื่อรองรับการบำบัดทางชีวภาพ แต่ไม่สามารถบำบัดสารประกอบของสีย้อมผ้าได้ หากมีน้ำทิ้งจากการย้อมผ้าเข้าระบบบำบัดจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการบำบัดน้ำเสียของกทม.
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนไม่ทิ้งน้ำจากการย้อมผ้าลงดิน คลอง แหล่งน้ำธรรมชาติ และท่อระบายน้ำโดยตรง ขอให้เก็บน้ำที่เกิดจากการย้อมผ้าใส่ภาชนะไว้ และแจ้งสำนักงานเขตหรือสำนักการระบายน้ำเพื่อจัดรถมารับน้ำเสียจากการย้อมผ้ารวบรวมไปบำบัดอย่างถูกวิธี
นายสมพงษ์ กล่าวด้วยว่า หากสะดวกที่จะนำส่งน้ำเสียดังกล่าวด้วยตนเอง ให้ส่งไปที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี บริเวณถนนพระราม 3 เขตยานนาวา โทร. 0 2295 1148 - 52 ต่อ 1202 หรือ โรงควบคุมคุณภาพน้ำห้วยขวาง ซอยประชาสงเคราะห์ 36 โทร. 08 9156 3062 จากนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะประสาน บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือ GENCO ให้นำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป ขณะเดียวกัน กทม.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เตรียมจัดรถเคลื่อนที่ไปให้บริการบำบัดน้ำจากการย้อมผ้า ที่บริเวณท้องสนามหลวง นอกจากนี้ สำนักงานเขตจะมีการสำรวจจุดให้บริการย้อมผ้าในแต่ละพื้นที่ของกรุงเทพฯ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับเตรียมการให้บริการจัดเก็บน้ำทิ้งจากการย้อมผ้าในบริเวณต่างๆ ต่อไป