อาเซียนรุกพลังงานสะอาด 10 รัฐมนตรีชูธงความมั่นคง (13 ต.ค. 59)

MGR Online 13 ตุลาคม 2559
อาเซียนรุกพลังงานสะอาด 10 รัฐมนตรีชูธงความมั่นคง

รัฐมนตรีพลังงาน 10 ประเทศอาเซียนตบเท้าเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 34 ณ กรุงเนปยีดอ ชูเป้าหมายขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนสู่ภูมิภาคพลังงานสะอาด พร้อมออกแถลงการณ์ความร่วมมือ 4 ฉบับ เดินหน้าสู่ความมั่นคง ไทยปลื้มคว้าสูงสุด 16 รางวัล จากทั้งหมด 47 รางวัล ASEAN Energy Awards 2016 
       
       พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 34 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงเนปยีดอ ประเทศเมียนมา ระหว่างวันที่ 21-22 กันยายน 2559 เป็นการประชุมภายใต้หัวข้อ Towards Greener Community with Cleaner Energy โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนสู่ภูมิภาคพลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในครั้งนี้ได้มีแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานจำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย แถลงการณ์ของรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน 10 ประเทศ ครั้งที่ 34 แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 13 แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานเอเชียตะวันออกครั้งที่ 10 และแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานและทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 6
       
       ในส่วนของถ้อยแถลงของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน 10 ประเทศ มีสาระสำคัญ คือ การมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเรื่องพลังงานทดแทน และเป้าหมายการลดความเข้มการใช้พลังงานของอาเซียน ตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation 2016-2025 : APAEC) ที่เน้นเรื่องการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน การเชื่อมโยงโครงข่าย รวมถึงการร่วมกันเรื่องการพัฒนาพลังงานสะอาดในภูมิภาค การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ และการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ตลอดจนการร่วมมือกันในการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานและตลาดพลังงานเพื่อประโยชน์ในการแบ่งปันทรัพยากรทดแทนและทรัพยากรภายในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและด้านเทคนิค เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในระบบพลังงาน เกิดการแบ่งปันได้จริงอย่างเต็มที่ 

 

        ด้านการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์หลักของอาเซียน คือ การตั้งเป้าหมายในการลดความเข้มของการใช้พลังงานในภูมิภาคลง 20% ภายในปี พ.ศ. 2563 และ 30% ในปีพ.ศ. 2573 ส่วนด้านพลังงานทดแทน ยุทธศาสตร์หลักของอาเซียนคือการเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนเป็น 23% ของพลังงานผสมผสานอาเซียนในปีพ.ศ. 2568 สำหรับด้านโครงสร้างพื้นฐานมีการขับเคลื่อนร่วมกันในการเชื่อมต่อท่อส่งก๊าซแบบทวิภาคีจำนวน 6 ประเทศ รวมความยาว 3,673 กิโลเมตร และการดำเนินการสถานีเปลี่ยนก๊าซธรรมชาติเหลวให้กลับเป็นก๊าซจำนวน 6 สถานี กำลังผลิต 22.5 เมตริกตันต่อปี นอกเหนือจากนี้ยังมีการขยายการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid : APG) กว่า 1,700 เมกะวัตต์ รวม 8 โครงการ
       
       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยได้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรจากประเทศคู่เจรจา ในเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานทดแทน นิวเคลียร์ พลังงานสะอาด เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และการสนับสนุนข้อวิเคราะห์แนวโน้มพลังงานทดแทนในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Renewable Energy Outlook) นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจะได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจในโครงการ LTM on Power Integration Project ในการศึกษาการซื้อขายไฟฟ้าข้ามแดนบนพื้นฐานความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียนให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าร่วมกันระหว่างประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย และมาเลเซีย โดยจะนำร่อง ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ ตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน ปี 2016-2025 ในระยะที่ 1 ระหว่างปี 2016-2020
       
       รวมถึงยังจะมีโอกาสร่วมหารือแบบทวิภาคี ในประเด็นด้านความร่วมมือด้านพลังงาน กับประเทศและหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กัมพูชา จีน สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก(Economic Research Institute for ASEAN and East Asia : ERIA) และทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานร่วมกัน สำหรับการประชุมครั้งต่อไป ที่ประชุมได้ตกลงให้มีการจัดการประชุม AMEM ครั้งที่ 35 ในช่วงปลายปี 2560 ที่ประเทศฟิลิปปินส์
       
       ภายหลังการประชุมฯ รัฐบาลเมียนมาได้เป็นเจ้าภาพ งานเลี้ยง AMEM Gala Dinner พร้อมจัดพิธีประกาศผลรางวัล ASEAN Energy Awards 2016 ซึ่งนับเป็นรางวัลเกียรติยศด้านพลังงานระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อเชิดชูเกียรติและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานในกลุ่มผู้ประกอบการของประเทศสมาชิก โดยปีนี้ตัวแทนผู้เข้าประกวดจากประเทศไทยสามารถคว้ารางวัลมาครองได้สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนถึง 16 รางวัล จากทั้งหมด 47 รางวัล
       
       นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลในประเภทบุคคลพลังงานดีเด่นให้กับผู้ที่มีบทบาทสำคัญด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน โดยบุคลากรจากประเทศไทยที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ได้แก่ นายชวลิต พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายสุริยันต์ อภิรักษ์สัตยากุล รองอธิบดี กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นางอัมราพร อัชวังกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
       
       "การพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทย ณ วันนี้ นับว่ามีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 ซึ่งกำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน เป็นร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี 2579 และแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558-2579 ที่ตั้งเป้าหมายในการลดสัดส่วนการใช้พลังงานต่อ GDP ของประเทศ (Energy Intensity) อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2579 เช่นเดียวกัน" 
       
       “การกำหนดแผนดังกล่าวเป็นส่วนกระตุ้นให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และหนึ่งในมาตรการต่างๆ ที่ออกมากระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเกิดการลดใช้พลังงานโดยวิธีการสมัครใจ คือ การจัดประกวดสุดยอดรางวัลด้านพลังงานไทยระดับสากล Thailand Energy Awards ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความคิดริเริ่มของผู้ประกอบการไทยทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานรูปแบบต่างๆ อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จต่อการเข้าร่วมการประกวด ASEAN Energy Awards มาอย่างต่อเนื่อง” พลเอกอนันตพร กล่าวทิ้งท้าย