โครงสร้างใหม่ก.อุตฯยังไม่ผ่าน "สมคิด" สั่งกลับไปหารือ ก.พ.ร. (3 ต.ค. 59)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 3 ตุลาคม 2559
โครงสร้างใหม่ก.อุตฯยังไม่ผ่าน "สมคิด" สั่งกลับไปหารือ ก.พ.ร.
ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2560-2579) กระทรวงอุตสาหกรรม จำเป็นต้องปรับปรับโครงสร้างองค์กร ภารกิจงานและบทบาทใหม่ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปสู่ Industry 4.0
โดย นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีนโยบายให้จัดทำ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา คือ การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรม สร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมทั้งแนวดิ่งและแนวราบ สร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วน, เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากและสังคมผู้ประกอบการ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ปฏิรูปนิเวศอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญารองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม รวมถึงการปฏิรูปองค์กรภาครัฐให้ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ด้วยการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อกระทรวงเป็น "กระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ" Ministry of Industry and Entrepreneur (MIE) และยุทธศาสตร์ที่ 3 เชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยกลับเศรษฐกิจโลก ่
ยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงประกอบไปด้วยเรื่องกฎหมาย ภาษีส่งเสริมการลงทุน การออกแบบการผลิต องค์กรเฉพาะทางเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ศูนย์บริการข้อมูล Rescue การมาตรฐาน การเพิ่มผลผลิต โดยกำหนด 5 เป้าหมายภายใน 20 ปี จะต้องมีผู้ประกอบการใหม่จำนวน 150,000 ราย มีสัดส่วนการลงทุนเติบโตปีละ 10% จากเดิมอยู่ที่ 2% ด้านผลิตภาพเติบโตปีละ 2% จากเดิมอยู่ที่ 0.7% ด้านการส่งออกเติบโตปีละ 8% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมเติบโตปีละ 4-5% ปัจจุบันโตอยู่ที่ 3% ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง และก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 อย่างแท้จริง
ผ่าตัดพลิกโฉมโครงสร้างใหม่
การปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลัก ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการปรับโครงสร้าง ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานได้เสนอแนวคิดใหม่แบบพลิกโฉมทีเดียว
โดยโครงสร้างใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรม มีสำนักงานรัฐมนตรีกำกับ จะปรับการทำงานให้มีความยืดหยุ่นสำหรับ 4 กลุ่มงานหลัก คือ 1.กลุ่มสำนักงานปลัดกระทรวง ทำหน้าที่บริหารงานสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ส่วนภูมิภาค สำนักงานอุตสาหกรรมภาค และบริหารส่วนกลางในภูมิภาค
2.กลุ่มการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (สอช.) ทำหน้าที่บริหาร โดยจะมีการจัดทำร่าง พ.ร.บ. พัฒนาอุตสาหกรรม และมีกองทุนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา มาทำหน้าที่พัฒนาผู้ประกอบการ S-Curve โดยมีสำนักการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติเป็นผู้บริหารจัดการกองทุน ขณะเดียวกันภายใต้ พ.ร.บ.ฯ จะมีสำนักงานการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรม และมาตรฐานแห่งชาติ (SPRING) เข้ามากำกับดูแลงาน 4 ส่วน
นอกจากนี้จะจัดทำร่าง พ.ร.บ. พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ โดยมีสำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติบริหาร และนำไปสู่การจัดตั้งสำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติขึ้นมาดำเนินงานต่อไป
3.กลุ่มการพัฒนา SME และผู้ประกอบการ มีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการบริหาร
4.กลุ่มการส่งเสริม และสนับสนุนการประกอบการ มีกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอุตสาหกรรมชีวภาพ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานการมาตรฐานแห่งชาติบริหาร และมีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมผลิตภัณฑ์แห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (เปลี่ยนมาดูผลิตภาพทั้งประเทศ) ซึ่งปัจจุบันผลิตภาพของประเทศอยู่ที่ 1.1% แบ่งเป็นผลิตภาพด้านอุตสาหกรรม 0.7% ซึ่งตามแผนต้องการให้ผลิตภาพของทั้งประเทศอยู่ที่ 2.5%
ทั้งนี้ ยังเตรียมโครงการ Flagships ต่าง ๆ เช่น Industrial Transformation Centre (Disign/Commercial Testing) และการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร (World Food Valley Thailand) สำหรับผู้ประกอบการทุกกลุ่มทุกอุตสาหกรรม S-Curve
กรมต่าง ๆ ในกระทรวงจะมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะเปลี่ยนเป็น สำนักงานคณะกรรมการอุตสาหกรรมชีวภาพ เพราะอ้อยสามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio) ได้ หรือแม้แต่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่ (กพร.) อาจต้องย้ายไปอยู่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ โครงสร้างใหม่ของกระทรวงจะเกิด พ.ร.บ.ใหม่ขึ้นอีก 4 ฉบับ คือ พ.ร.บ.พัฒนาอุตสาหกรรม, พ.ร.บ.พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ, พ.ร.บ.ส่งเสริมผลิตภัณฑ์แห่งชาติ, พ.ร.บ.การมาตรฐานแห่งชาติ ขึ้นมารองรับการเกิดสำนักงานการมาตรฐานแห่งชาติ ที่กำลังจะแยกออกมาจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)"
ชง "สมคิด" ดัน 4 พ.ร.บ.ใหม่
ในการประชุมคณะกรรมการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรม และมาตรฐานแห่งชาติ (Spring Board) ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 30 ก.ย.นี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอวาระ 7 เรื่อง เพื่อพิจารณา 1.ร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (2560-2579) เป็นกรอบการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเฉพาะด้านของประเทศ 2.เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรม เปลี่ยนเป็น กระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ 3.เสนอปรับโครงสร้างการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้มีความยืดหยุ่นในการทำงาน โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มสำนักงานปลัดกระทรวง กลุ่มการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย กลุ่มพัฒนา SME และผู้ประกอบการ กลุ่มส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบการ
4.เสนอให้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมผลิตภาพแห่งชาติ เสนอต่อ ครม. 5.เสนอให้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ เสนอต่อ ครม. 6.เสนอให้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.พัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ เสนอต่อ ครม.และ 7.เห็นชอบ โครงการ Flagships ต่าง ๆ เช่น Industrial Transformation Centre (Disign/Commercial Testing) และการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร (World Food Valley Thailand) ทั้งนี้ ผลการประชุมนายสมคิดได้เห็นชอบแนวคิดกาปรับโครงสร้างกระทรวงฯใหม่ แต่ให้กลับไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) อีกครั้ง